วันที่ 27 พฤษภาคม 2560 เป็นจุดสำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่เป็นการยืนยันว่าหุ่นยนต์กำลังเริ่มฉลาดกว่ามนุษย์แล้ว มนุษย์ชื่อ Ke Jie แพ้การแข่งขันหมากล้อมด้วยสกอร์ 0:3 ให้กับ AlphaGo ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ AI ของ บริษัท DeepMind บริษัทในเครือ Alphabet หรือที่เรารู้จักกันดีว่า Google
ในการแข่งขันครั้งนั้น Ke Jie ถึงกับหลั่งน้ำตาในการพ่ายแพ้ คงเป็นเพราะก่อนหน้านี้เขามีตำแหน่งเป็นถึงแชมเปี้ยนโลกในเกมนี้ และยังทำใจไม่ได้กับการพ่ายแพ้ให้กับหุ่นยนต์
“มันสมบูรณ์แบบเกินไป หมดหวัง ผมไม่มีโอกาสที่จะชนะมันเลย”
นี่คือคำพูดของ Ke Jie ที่กล่าวหลังจบเกม
สิ่งนี้อาจเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ว่า สมองคอมพิวเตอร์กำลังไปไกลเกินกว่าสมองมนุษย์แล้ว
แล้วจะถึงวันสิ้นโลกเร็วๆนี้แล้วหรือเปล่า?
อาจจะไม่ถึงขั้นนั้น เพราะตอนนี้หุ่นยนต์จะฉลาดกว่ามนุษย์ได้แค่ในเรื่องเฉพาะทาง โดยต้องมีเงื่อนไขดังนี้
- มีข้อมูลดิบในการวิเคราะห์ที่มากพอ: น่าสนใจว่า AlphaGo หุ่นยนต์ไม่ได้ฝึกเล่นกับมนุษย์เท่านั้น หุ่นยนต์ฝึกเล่นกับตัวเอง และพัฒนาตัวเองได้ด้วย เกมหมากล้อมสามารถเล่นซ้ำเป็นล้านๆครั้งได้ ทำให้หุ่นยนต์สามารถเรียนรู้ได้จากข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้น แต่ในเหตุการณ์อื่นอาจจะไม่ได้มีข้อมูลมากพอมาให้หุ่นยนต์วิเคราะห์ได้ขนาดนั้น
- ข้อมูลต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน: เกมหมากล้อมมีกติกาที่ชัดเจน เป็นการสลับกันเดินหมากในตารางแผ่นเดียว ซึ่งเป็นข้อมูลที่สามารถนำวิเคราะห์ได้เป็นแบบแผน แต่ในชีวิตจริงข้อมูลที่ได้มาอาจจะไม่ได้เป็นแบบแผนตายตัว และไม่ได้มีกติกาที่แน่นอนแบบเกมหมากล้อม
- เป้าหมายต้องมีมิติเดียว: เป้าหมายของเกมนี้ คือการชนะ ไม่ว่าจะชนะด้วยแต้มเยอะ หรือ น้อย ก็ชนะเหมือนกัน ดังนั้นเราจะเห็นการเล่นของ AlphaGo ว่าจะเป็นห่วงเรื่องทำให้มีโอกาสชนะมากที่สุด มากกว่าการทำแต้มให้มากที่สุด แต่ในชีวิตจริงเป้าหมายอาจจะไม่ได้มีเป้าหมายเดียวเหมือนในเกม แต่ยังมีเป้าหมายอื่นอีกหลายมิติ
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้หุ่นยนต์เริ่มเข้ามาบทบาทในการทดแทนมนุษย์ได้ในเรื่องเฉพาะทาง
แม้แต่งานที่ต้องการมนุษย์ที่ฉลาดมากๆ เช่นอาชีพ “หมอ”
ใครๆก็ทราบว่าคนเรียนหมอจะต้องเป็นคนเรียนเก่งตั้งแต่เด็ก ต้องท่องจำสิ่งต่างๆมากมาย และฝึกฝนรักษาคนไข้อีกหลายปี
แต่ตอนนี้หุ่นยนต์สามารถเข้ามาทำแทนหมอในบางงานแล้ว เช่น
หุ่นยนต์สามารถวินิจฉัยโรคได้ ถ้ามีข้อมูลจำนวนมากป้อนเข้าไปให้หุ่นยนต์เรียนรู้ว่าลักษณะผิวหนังหรืออวัยวะแบบนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค
ถึงตอนนั้นหุ่นยนต์จะช่วยแบ่งเบาภาระหมอไปได้มาก และจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่ขาดโอกาสการเข้าถึงหมอได้ และต้นทุนการรักษาโดยรวมก็อาจจะถูกลง เพราะกว่าที่จะฝึกหมอขึ้นมาได้ 1 คน ต้องมีต้นทุนจำนวนมาก ต่างจากหุ่นยนต์ที่สามารถ COPY และ PASTE ได้ทันที
ข้อดีของหุ่นยนต์อีกข้อหนึ่งก็คือ หุ่นยนต์ไม่ต้องพักเที่ยงทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ทำงานซ้ำๆได้ 24 ชม. และไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
ถ้าค่าจ้างหุ่นยนต์ถูกกว่าค่าแรงมนุษย์ โดยที่หุ่นยนต์ให้ผลผลิตมากกว่า จะมีคำถามที่น่าสนใจคือแล้วใครจะจ้างมนุษย์ทำงานหล่ะ?
น่าสนใจว่าในการแข่งขันเกมหมากล้อมนี้ ถ้าให้เจ้าของ Google มาเล่นแทน AlphaGo ก็คงจะแพ้ Ke Jie
แต่ Google ได้ให้หุ่นยนต์เรียนรู้ด้วยตัวเองและเอาชนะ Ke Jie ด้วยตัวหุ่นยนต์เอง
นี่หมายความว่าต่อไปจะเป็นยุคของการแข่งขันการครอบครองหุ่นยนต์ที่ฉลาดกว่ามนุษย์เหมือนที่ Google ทำ และอีกหลายบริษัทชั้นนำของโลก เช่น Facebook Apple ก็กำลังมุ่งมาทางนี้เช่นกัน
100 ปีต่อจากนี้ เทคโนโลยีของหุ่นยนต์น่าจะทิ้งห่างเทคโนโลยีของมนุษย์ก่อนหน้านี้ทั้งหมด
ถ้าย้อนกลับไป..
เมื่อ 4,500 ล้านปีที่แล้ว โลกเพิ่งเกิดขึ้น ไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนโลกนี้ ดังนั้นคงจะไม่มีใครฉลาดที่สุดบนโลกยุคนั้น
เมื่อ 580 ล้านปีที่แล้ว แมงกะพรุนเป็นสัตว์ตัวแรกที่มีเส้นประสาท ดังนั้นแมงกะพรุนน่าจะฉลาดที่สุดในโลกยุคนั้น
เมื่อ 50,000 ปีที่แล้ว มนุษย์สปีชี่ส์ Homo sapiens sapiens ได้ถือกำเนิดขึ้น และมนุษย์ก็ฉลาดที่สุดในโลกตั้งแต่นั้นมา
ถ้าตอนนี้ถามว่าใครฉลาดสุดในโลกใบนี้?
หลายคนคงตอบว่ายังเป็นมนุษย์อยู่
แต่สำหรับคุณ Ke Jie แล้ว เขาอาจจะลังเลที่จะตอบว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่ฉลาดสุดในโลกตอนนี้..
อีก 100 ปีต่อจากนี้ ใครจะไปรู้ว่า เราอาจจะเป็นแมงกะพรุนในสายตาของหุ่นยนต์ก็เป็นได้..
ที่มาบทความ : http://longtunman.com/963