มุมมองตลาดปัจจุบัน
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มมีทิศทางดีขึ้น โดยจำนวนผู้ติดเชื้อในหลายประเทศเริ่มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ส่งผลให้หลายประเทศเตรียมแผนที่จะเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะหดตัว 3.0% ก่อนที่จะกลับมาขยายตัว 5.8% ในปีหน้า โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัว 5.9% ในปีนี้ และกลับมาขยายตัว 4.7% ในปีหน้า เศรษฐกิจยุโรปจะหดตัว 7.5% ในปี 2563 และกลับมาโต 4.7% ในปี 2564 ส่วนเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะโต 1.2% ในปีนี้ และโต 9.2% ในปีหน้า
ในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ยังคงมีมาตรการออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการการเงินและการคลัง โดยไอเอ็มเอฟประเมินว่ามาตรการของประเทศต่าง ๆ จะส่งผลให้หนี้ภาครัฐของแต่ละประเทศเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายประเมินว่ามาตรการต่าง ๆ ที่หลายประเทศมียังคงไม่เพียงพอ เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้ตกงานเป็นจำนวนมาก และธุรกิจต่าง ๆ อาจประสบปัญหาสภาพคล่อง จึงคาดว่ารัฐบาลของประเทศต่าง ๆ จะมีมาตรการต่าง ๆ อีกมาก เพื่อให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ในส่วนของตลาดตราสารทุน ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวดีขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ มีมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ความคาดหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มกลับมาเดินหน้าอีกครั้งหลังประเทศต่าง ๆ เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ และความคาดหวังต่อการค้นพบวัคซีนและยารักษาไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ถึงแม้หลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และยังคงมีความเสี่ยงหลายประการในอนาคต แต่นักลงทุนเชื่อว่าจุดเลวร้ายที่สุดของวิกฤตไวรัสโควิด-19 ได้ผ่านไปแล้ว และตลาดได้ตอบรับมุมมองเชิงลบไปแล้ว ส่งผลให้นักลงทุนกลับมาลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น เป็นผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นมากกว่า 10% ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว โดยหากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง ราคาหุ้นและตราสารหนี้จะกลับมาสะท้อนปัจจัยพื้นฐาน ท่ามกลางนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษ ทั้งนี้ บลจ. กรุงศรีฯ คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกจะหดตัวรุนแรง และยังคงหดตัวในไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้
ในส่วนของตราสารหนี้ ผู้จัดการกองทุนยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว เนื่องจากภาวะดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำทั่วโลก และทิศทางการดำเนินนโนบายของธนาคารกลางที่ยังคงเอื้อต่อการลงทุน โดยในช่วงที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากพุ่งขึ้นแรงในช่วงก่อนหน้านี้
ในภาพรวม ทีมผู้จัดการกองทุนยังคงให้น้ำหนักการลงทุนส่วนใหญ่ในสินทรัพย์เสี่ยง ที่มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีมากขึ้น ในขณะที่โอกาสในการรับผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี คาดว่าความผันผวนในตลาดอาจยังคงมีอยู่อีกอย่างน้อย 2 – 3 เดือน
พอร์ตการลงทุน
กองทุนแนะนำสำหรับการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์/ภูมิภาค
กองทุนตราสารหนี้ในประเทศ
KFAFIX-A:
- ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาการลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาวได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคระบาด COVID-19 ทำให้นักลงทุนมุ่งเน้นถือครองเงินสดและตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูงเป็นหลัก จึงส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดรองสำหรับตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือปานกลางถึงยาวลดลง นอกจากนั้นธนาคารกลางทั่วโลก ได้เร่งดำเนินการการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างมากในช่วงระยะเวลาอันสั้น ทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 0-0.25% ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในเดือนมีนาคมเช่นกัน อย่างไรก็ดี ความผันผวนดังกล่าวมีแนวโน้มบรรเทาลง โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการพิเศษเพื่อช่วยสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ ทั้งในส่วนของตราสารภาครัและเอกชน ตลอดจนสภาพคล่องของ กองทุนรวมตราสารหนี้ นอกจากนั้น ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยได้ปรับตัวสูงขึ้นพอสมควร จึงคาดว่าตลาดตราสารหนี้จะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น บลจ. ยังคงแนะนำให้จัดสรรเงินลงทุนในกองทุนประเภทนี้ สำหรับเงินลงทุนระยะยาวที่ไม่ต้องการสภาพคล่องในระยะสั้น
- กองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว: เพื่อโอกาสในการรับผลตอบแทนที่ดีขึ้นจากการลงทุนในตราสารหนี้ จึงควรลงทุนในกองทุนที่มีการบริหารเชิงรุก (Active Management) โดยการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับภาวะตลาดในแต่ละช่วง โดยแนะนำกองทุน KFAFIX-A ซึ่งมีนโยบายการลงทุนที่มีความยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้น สำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ระดับสูง
กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ
KF-SINCOME/ KF-CSINCOM:
- กองทุนเชื่อว่าการสนับสนุนจากธนาคารกลางในเรื่องดอกเบี้ยนโยบายจะลดลง แต่จะมีการผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ เพิ่มขึ้น อันจะเป็นผลดีต่อตราสารหนี้ภาคเอกชน กองทุนเห็นโอกาสในการลงทุนจากราคาหลักทรัพย์ที่ผิดปกติในตลาดช่วงที่ผ่านมา ทั้งจาก Credit Spread และ จาก Yield ของพันธบัตรภาครัฐที่มีความผันผวนสูง ผลจากโอกาสต่าง ๆ ที่กองทุนเห็น อาจส่งผลดีต่อกองทุนในระยะต่อไป
- ขยายโอกาสการลงทุนด้วยการเพิ่มความยืดหยุ่นในการกระจายการลงทุนในตราสารหนี้หลากหลายประเภทที่มีศักยภาพทั่วโลก มุ่งเน้นรายได้ที่สม่ำเสมอจากการลงทุนเป็นตัวขับเคลื่อนผลตอบแทน ทั้งนี้กองทุน KF-SINCOME เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มองหาแหล่งสร้างผลตอบแทนในรูปแบบรายได้ประจำ และ KF-CSINCOM เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการสะสมความเติบโตของผลตอบแทนไว้ในกองทุน
กองทุนตราสารทุนในประเทศ
KFENS50-A:
กองทุนเน้นการลงทุนในตราสารทุนของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี SET 50
กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ
Developed market equity
KFGBRAND-A:
- ความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้กองทุนรวมปรับตัวลดลง แต่ยังคงปรับน้อยลงกว่าตลาดหุ้นโลก ถือเป็นโอกาสที่ดีในการซื้อ เนื่องจากความผันผวนในตลาดหุ้นทำให้นักงทุนต้องการถือครองสินทรัพย์ที่ปลอดภัย รวมทั้งหุ้นที่มีคุณภาพสูง ดังนั้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มสินคิอุปโภคบริโภคทั่วโลก ที่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งเติบโตสม่ำเสมอในระยะยาว ทนทานในทุกวัฏจักรเศรษฐกิจ ดูมีความน่าสนใจในตลาดที่ผันผวนแบบนี้
- กองทุนหลักเน้นลงทุนในบริษัทชั้นนำระดับโลก โดยมุ่งเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพสูง มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง มีแหล่งรายได้กระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการที่ผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้น ตามเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
KF-HUSINDX:
- การระบาดของ COVID-19 ในสหรัฐฯ รุนแรงขึ้น โดยทาง FED ได้มีการลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 % และประกาศทำ “Unlimited QE” หรือการเข้าซื้อสินทรัพย์แบบไม่จำกัด เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ โดยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัว และการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ตลาดสหรัฐฯ จึงยังคงมีความผันผวน และต้องจับตาอัตราการติดเชื้อที่ยังเพิ่มขึ้น
- กองทุนหลักเน้นลงทุนใน iShares Core S&P500 ETF ซึ่งจะมีผลการดำเนินงานที่ใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของดัชนี
KF-EUROPE/ KF-HEUROPE:
- ตลาดยุโรปยังคงได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยอัตราการแพร่ระบาดยังคงเร่งตัวขึ้น และมีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ หลายประเทศในยุโรปประกาศมาตรการ Lockdown โดยที่ผ่านมา ทางธนาคารกลางยุโรปได้เริ่มมาตรการการซื้อสินทรัพย์ QE อีกครั้ง และสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ
- กองทุนหลักเน้นลงทุนในหุ้นของยุโรปที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง โดยนักลงทุนอาจพิจารณาลงทุนใน KF-HEUROPE เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
Emerging market equity
KFACHINA-A:
- การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศจีน มีทิศทางที่ทรงตัว โดยประเทศจีนมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นน้อยลง และส่วนมากมาจากผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ตลาดคาดหวังว่าจะเริ่มเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากจีนมากขึ้น ทั้งการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และการกระตุ้นจากภาครัฐ โดยที่ผ่านมาจีนมีการลดดอกเบี้ยนโยบายลง
- กองทุนหลักเน้นลงทุนในหุ้นจีน A-Shares ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคและภาคบริการที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและการปฏิรูปเศรษฐกิจในระยะยาว
Multi-Asset
KFAINCOM-A:
- ในช่วงที่ภาวะตลาดทุนมีแนวโน้มผันผวนจากการการระบาดของ COVID-19 การลงทุนแบบ Multi-Asset Income Fund กระจายการลงทุนในหลายหลายสินทรัพย์ ทั้งตราสารทุน ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ทางเลือก จะช่วยลดความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดปรับตัวลงละผันผวน ขณะที่ยังคงได้รับผลตอบแทนในระดับที่น่าสนใจ
- กองทุนหลักเน้นการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ โดยผู้จัดการกองทุนหลักจะมีการปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ กองทุนหลักเน้นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก เหมาะสำหรับ นักลงทุนที่ไม่ประสงค์จะกระจายการลงทุนด้วยตนเอง
Krungsri Asset Management
สำหรับลูกค้าที่ลงทุนใน Krungsri The Masterpiece สามารถดูพอร์ตการลงทุนได้ตามช่องทางนี้
ผ่านมือถือ/Tablet >> แอปฯ FINNOMENA
ผ่านคอมพิวเตอร์ >> เว็บไซต์ FINNOMENAสำหรับลูกค้าที่สนใจลงทุนใน Krungsri The Masterpiece คลิกที่นี่เพื่อสร้างแผนการลงทุน
หมายเหตุ:
- กองทุน KFGBRAND, KF-EUROPE, KFACHINA-A ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
- กองทุน KF-SINCOME, KF-CSINCOM, KFAINCOM, KF-HUSINDX, และ KF-HEUROPE ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน
คำเตือน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน อาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน อาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น กองทุนอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade) หรือไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) ผู้ลงทุนจึงอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการไม่ได้รับชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ย เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูลแต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด โทร 0 2657 5757