มุมมองตลาดปัจจุบัน
ก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจของหลายประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น ในขณะที่ปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนผ่อนคลายมากขึ้นหลังทั้งสองฝ่ายลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรก และปัญหา Brexit มีความชัดเจนหลัง สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป
ทั้งนี้การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงแรกส่งผลกระทบในวงจำกัดต่อเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเป็นหลัก โดยจีนสามารถควบคุมปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกประเทศจีนกลับแพร่ขยายอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หลายประเทศประกาศปิดประเทศชั่วคราว เพื่อสกัดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจของหลายประเทศรวมถึงประเทศที่มีความเกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจหยุดชะงักในหลาย ๆ ด้าน ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ในขณะที่รัฐบาลและธนาคารกลางของหลายประเทศพยายามลดผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยการใช้ทั้งมาตรการทางการเงินและการคลัง อาทิเช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศลดดอกเบี้ยลงรวม 1.5% ในการประชุมฉุกเฉิน 2 ครั้ง ภายใน 2 สัปดาห์ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบจำนวนมาก รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เป็นต้น
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขยายตัวไปในหลายภูมิภาค กอปรกับการที่กลุ่มโอเปกและรัสเซียเริ่มสงครามราคาน้ำมันหลังจากที่รัสเซียปฏิเสธที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงอย่างรุนแรง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกกลับพุ่งขึ้นในช่วงกลางเดือนมีนาคม
และราคาทองคำดิ่งลงหลังจากที่ราคาพุ่งขึ้นทะลุ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ สะท้อนว่านักลงทุนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและหันมาถือเงินสดมากขึ้น รวมถึงนักลงทุนอาจจำเป็นต้องขายการลงทุนในตราสารหนี้และทองคำเพื่อนำมาชดเชยการขาดทุนในหุ้น
ทั้งนี้ หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยชั่วคราว แต่ความไม่แน่นอนว่าปัจจัยชั่วคราวจะยาวนานเพียงใดส่งผลให้ตลาดยังคงมีความผันผวนสูง อย่างไรก็ดี การที่มีข่าวการค้นพบวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณที่ดีว่าปัญหาไม่น่าจะยืดเยื้อมากนัก
ดังนั้น การที่ตลาดหุ้นและตราสารหนี้ปรับตัวลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ตลาดหุ้นมีความน่าสนใจมากขึ้นและมีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวมากขึ้น โดยหากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง ราคาหุ้นและตราสารหนี้จะกลับมาสะท้อนปัจจัยพื้นฐาน ท่ามกลางนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ บลจ. กรุงศรีฯ คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกจะหดตัว ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาส 2/63
ในส่วนของตราสารหนี้ ผู้จัดการกองทุนยังคงมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อการลงทุนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว เนื่องจากภาวะดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำทั่วโลก และทิศทางการดำเนินนโนบายของธนาคารกลางที่ยังคงเอื้อต่อการลงทุน
ในภาพรวม ทีมผู้จัดการกองทุนยังคงให้น้ำหนักการลงทุนส่วนใหญ่ในสินทรัพย์เสี่ยง ที่มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีมากขึ้น ในขณะที่ระดับผลตอบแทนของตราสารหนี้ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และยังคงแนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทย เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงเติบโตต่ำ โดยยังคงแนะนำให้สับเปลี่ยนการลงทุนไปยังหุ้นต่างประเทศ ทั้งในส่วนตลาดพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความผันผวนในตลาดอาจยังคงมีอยู่ จึงแนะนำให้จัดสรรน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยสร้างสมดุลให้กับพอร์ตการลงทุนของนักลงทุน
Krungsri Asset Management
ดูรายละเอียดพอร์ต Krungsri Smart Allocation Strategy ได้ที่ https://www.finnomena.com/ksam/port-ksam/