มุมมองตลาดปัจจุบัน
ตลาดการลงทุนทั่วโลกในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวผันผวนรุนแรง โดยในช่วงต้นเดือนตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงแรง และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลดลง หลังตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐออกมาอ่อนแอกว่าที่คาด ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ดี ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐส่วนใหญ่ยังคงแข็งแกร่งและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังคงออกมาดี รวมถึงเฟดส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้นถึงการลดดอกเบี้ยในการประชุมในเดือนกันยายน ตลาดหุ้นทั่วโลกจึงกลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับตลาดหุ้นไทยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมายังคงปรับตัวขึ้นมากกว่าตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลก โดยในช่วงต้นเดือนตลาดร่วงลงจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐ และปัญหาการเมืองภายในประเทศ อย่างไรก็ดี หลังตลาดหุ้นสหรัฐฟื้นตัว และการเมืองภายในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้นหลังการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ปรับตัวลดลง จากความคาดหวังของนักลงทุนต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด โดยการลงทุนในตราสารหนี้โดยรวมยังคงให้ผลตอบแทนเป็นบวกในเดือนที่ผ่านมา
ความชัดเจนเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยของเฟดน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เนื่องจากในระยะยาวหุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังคงมีแนวโน้มเติบโตดี และจะได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี ตลาดอาจมีความกังวลเกี่ยวกับราคาหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับตัวขึ้นมามาก และความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟดในบางช่วงที่อาจสูงเกินไป (เช่น คาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยแรง) จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนในบางช่วง ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้นจากแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อีกทั้งค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าจากการที่เฟดลดดอกเบี้ย ตลาดหุ้นไทยจึงน่าจะดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติได้มากขึ้น ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้ยังคงมีแนวโน้มที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่อง
พอร์ตการลงทุน
ที่มา: เอกสารอัปเดตมุมมอง Krungsri The Masterpiece วันที่: 2 กันยายน 2024
ที่มา: เอกสารอัปเดตมุมมอง Krungsri The Masterpiece วันที่: 5 กันยายน 2024
กองทุนแนะนำสำหรับการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์/ภูมิภาค
กองทุนตราสารหนี้ในประเทศ
- กองทุนกลุ่มตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาวได้รับปัจจัยบวกจากการปรับตัวลดลงของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนนี้ อีกทั้งนักลงทุนยังคาดว่า Fed อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้มากถึง 5 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุนคาดว่าตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกจะมีความผันผวนสูงในระยะข้างหน้า เนื่องจากความคาดหวังของตลาดอาจสะท้อนในระดับราคามากเกินไปในบางช่วงสำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังไม่ส่งสัญญาณถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ผู้จัดการกองทุนยังคงมองว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยรอเพียงจังหวะที่เหมาะสมในการเข้าสู่วัฎจักรอัตราดอกเบี้ยขาลงในระยะถัดไป ผู้จัดการกองทุนได้ทยอยปรับขึ้นอายุคงเหลือเฉลี่ยของกองทุนในช่วงที่ผ่านมา และจะปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อหาโอกาสจากความผันผวนของตลาดอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีคุณภาพสูงยังคงสามารถช่วยลดความผันผวนของตลาดได้ โดยคาดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนกลุ่มนี้มีความน่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาวที่ไม่ต้องการสภาพคล่องในระยะสั้น เช่น กองทุน KFAFIX (ขั้นต่ำ 1 ปีขึ้นไป) โดยปัจจุบัน กรอบ Duration เฉลี่ยของกองทุน KFAFIX = 2.3 – 3.0 ปี
กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ
- กองทุนหลักได้ปรับลดอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในพอร์ตลงโดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลาง และเพิ่มสถานะชอร์ตบนตราสารหนี้ญี่ปุ่น ขณะที่ตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกันของภาครัฐ (Agency MBS) ซึ่งมีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วในระดับสูงนั้นเป็นกลุ่มตราสารหนี้ที่กองทุนให้ความสนใจ อย่างไรก็ตาม ตราสารหนี้กลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงจากการถูกไถ่ถอนตราสารคืนก่อนกำหนด (prepayment risk) หากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ในสภาวะที่ตลาดมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย กองทุนจะยังคงได้รับประโยชน์ในระดับหนึ่งจากอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้สหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง
กองทุนตราสารทุนในประเทศ
- กองทุนที่เน้นการเฟ้นหาหุ้นที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละภาวะตลาด (KFDNM-D หรือ KFDYNAMIC) มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดีในระยะกลางถึงยาวตามผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่กองทุนคัดเลือกลงทุน
กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ Developed Market Equity
- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญกับแรงขายอย่างรุนแรงในช่วงเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังจากตัวเลขการจ้างงานออกมาน้อยกว่าที่คาดไว้ นอกจากนี้ ระดับราคา (valuation) ของหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นไปสูง ส่งผลให้นักลงทุนมีการเทขายทำกำไรอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2-3 ครั้งในปีนี้ โดยอาจเริ่มได้ในเดือนกันยายน ขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะยังคงสร้างความผันผวนให้กับตลาดต่อไป
- การเติบโตของเทคโนโลยี AI และความต้องการ AI จะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตที่สำคัญของผลประกอบการหุ้นในพอร์ตการลงทุน นอกจากนี้ การเข้าสู่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลงทั่วโลกยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลงในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังที่มากเกินไปของนักลงทุน รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย อาจส่งผลเชิงลบต่อราคาหุ้นได้
กองทุนที่ลงทุนทั่วโลก
- กองทุนมีการลงทุนในหุ้นทั่วโลกผ่าน ETF ที่อ้างอิงดัชนี MSCI All Country World ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา การเติบโตที่แข็งแกร่งของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินงานของกองทุนปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ในระยะถัดไป การเติบโตของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของผลประกอบการหุ้นในพอร์ตการลงทุน อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังที่มากเกินไปของนักลงทุน รวมไปถึงความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อราคาหุ้นได้
กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศตลาดกำลังพัฒนา
- ตลาดหุ้นอินเดียยังคงแข็งแกร่ง หลังจากตลาดคลายความกังวลเรื่องการจัดตั้งพรรครัฐบาลของ Modi โดยคาดว่านโยบายปฏิรูปของ Modi จะยังคงดำเนินต่อไปได้ อย่างไรก็ดี อินเดียได้มีการประกาศเพิ่มภาษี Capital Gain Tax ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดได้ในระยะยาว อีกทั้งระดับราคา (valuation) ของตลาดหุ้นอินเดียค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเอเชียอื่นๆ
ที่มา: เอกสารอัปเดตมุมมอง Krungsri The Masterpiece วันที่: 2 กันยายน 2024
คำเตือน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน อาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน อาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น กองทุนอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade) หรือไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) ผู้ลงทุนจึงอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการไม่ได้รับชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ย เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูลแต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด โทร 0 2657 5757 | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299