มุมมองตลาดปัจจุบัน

ตลาดการลงทุนทั่วโลกในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนรอดูผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในขณะที่ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐที่ชะลอตัวลง ภาคการผลิตทั่วโลกที่ยังคงอ่อนแอ และความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน เป็นปัจจัยหลักที่กดดันตลาด  อย่างไรก็ดี หลังเฟดประกาศลดดอกเบี้ย 0.50% และส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ พร้อมทั้งระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง โดยการลดดอกเบี้ยแรงเป็นการป้องกันผลกระทบจากความเสี่ยงด้านลบ นักลงทุนจึงมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าตลาดแรงงานสหรัฐเพียงแค่ชะลอตัวลง และแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะยาวยังคงดีอยู่ ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น  นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่หลังวิกฤตโควิด ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงปรับตัวขึ้นแรง  อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายรายประเมินว่า มาตรการของจีนยังไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม

สำหรับตลาดหุ้นไทยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมายังคงปรับตัวขึ้นมากกว่าตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า นำโดยกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ หลังมีความชัดเจนเกี่ยวกับกองทุนวายุภักษ์ ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นที่คาดว่ากองทุนวายุภักษ์จะเข้าลงทุน นอกจากนี้ ความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลใหม่ ความคืบหน้าของมาตรการโอนเงิน และเฟดประกาศลดดอกเบี้ยแรง ส่งผลให้นักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยมากขึ้น และเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง (ราคาตราสารหนี้ปรับตัวสูงขึ้น)  โดยได้แรงหนุนจากการลดดอกเบี้ยของเฟดที่มีแนวโน้มประกาศลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง

วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงของเฟดและประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วโลก ยกเว้นญี่ปุ่น น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เนื่องจากในระยะยาวหุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังคงมีแนวโน้มเติบโตดี และจะได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยของเฟด  อย่างไรก็ดี ตลาดอาจมีความกังวลเกี่ยวกับราคาหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับตัวขึ้นมามาก ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับโลกตะวันตก และปัญหาความวุ่นวายในตะวันออกกลางที่มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะขยายตัวเป็นวงกว้าง จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนในบางช่วง ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้นจากแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อีกทั้งค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าจากการที่เฟดลดดอกเบี้ย ตลาดหุ้นไทยจึงน่าจะดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติได้มากขึ้น  อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นของตลาดหุ้นไทยอาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากได้ตอบรับปัจจัยบวกไปมากแล้ว ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้ยังคงมีแนวโน้มที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่อง

พอร์ตการลงทุน

Krungsri The Masterpiece ปรับพอร์ตประจำเดือนกรกฎาคม 2024

ที่มา: เอกสารอัปเดตมุมมอง Krungsri The Masterpiece วันที่: 30 กันยายน 2024

Krungsri The Masterpiece อัปเดตมุมมองประจำเดือนสิงหาคม 2024 : เกิดแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่ม Tech

ที่มา: เอกสารอัปเดตมุมมอง Krungsri The Masterpiece วันที่: 30 กันยายน 2024

กองทุนแนะนำสำหรับการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์/ภูมิภาค

กองทุนตราสารหนี้ในประเทศ

KFAFIX-A:

  • กองทุนกลุ่มตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาวได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากการปรับตัวลดลงของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา เนื่องด้วยคาดการณ์การเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี ความคาดหวังของตลาดที่คาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ 3 – 4 ครั้งในปีนี้ อาจทำให้ตลาดกลับมาผันผวนในช่วงระยะสั้นได้ สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ถึงแม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังไม่ส่งสัญญาณถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ทว่าตลาดได้ประเมินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไปอย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้เรียบร้อยแล้วเช่นกัน โดยผู้จัดการกองทุนได้ทยอยรับรู้ผลกำไรจากราคาตราสารหนี้ที่ปรับขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแล้วส่วนหนึ่ง และเตรียมความพร้อมสำหรับความผันผวนสูงในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ ผู้จัดการกองทุนจะปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อหาโอกาสจากความผันผวนของตลาดอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนในระดับสูงจะยังคงสามารถช่วยลดความผันผวนของตลาดลงได้ โดยคาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนกลุ่มนี้มีความน่าสนใจสำหรับเงินลงทุนระยะยาวที่ไม่ต้องการสภาพคล่องในระยะสั้น อาทิเช่น กองทุน KFAFIX (ขั้นต่ำ 1 ปีขึ้นไป) โดยปัจจุบันกรอบ Duration เฉลี่ยของกองทุน KFAFIX = 2.1 – 2.7 ปี

กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ

 KF-CSINCOM:

  • แม้ว่าตลาดคาดการณ์ว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับต่ำ แต่กองทุนหลักมีมุมมองว่าผลกระทบจากนโยบายการเงินของสหรัฐฯ อาจจะส่งผลกระทบจริงต่อตลาดช้ากว่าที่คาด ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อีกระยะหนึ่ง ดังนั้น กองทุนหลักจึงมีมุมมองเชิงบวกต่อพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ นอกจากนี้กองทุนยังคงให้ความสนใจในหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ค้ำประกันของภาครัฐ (Agency MBS) ที่มีอัตราการจ่ายดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง แม้ว่าอาจจะมีความเสี่ยงจากการถูกไถ่ถอนตราสารหนี้คืนก่อนกำหนด

กองทุนตราสารทุนในประเทศ

KFDYNAMIC:

  • กองทุนที่เน้นการเฟ้นหาหุ้นที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละภาวะตลาด (KFDNM-D หรือ KFDYNAMIC) มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดีในระยะกลางถึงยาวตามผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่กองทุนคัดเลือกลงทุน

กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ Developed Market Equity

KFUSINDX:

  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวอย่างผันผวนเนื่องด้วยความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ภายหลังตัวเลขการจ้างงานออกมาน้อยกว่าที่คาดไว้ โดยในช่วงที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มเติบโตสูงอย่างกลุ่มเทคโนโลยีเผชิญกับแรงเทขาย ขณะที่นักลงทุนสับเปลี่ยนการลงทุนไปในกลุ่มธุรกิจเชิงรับแทน ทั้งนี้ ตลาดมีมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีทิศทางชะลอตัวลงจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้มากขึ้น ทั้งนี้ ในปัจจุบันตลาดมีมุมมองว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ 3 – 4 ครั้ง ครั้งละร้อยละ 25 ซึ่งจะเริ่มต้นปรับลดในเดือนกันยายน

KFHTECH:

  • การเติบโตของเทคโนโลยี AI รวมทั้งความต้องการ AI จะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตที่สำคัญของผลประกอบการของหุ้นในพอร์ตการลงทุน นอกจากนี้การเข้าสู่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลงทั่วโลก ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีมีต้นทุนทางการเงินลดลงในระยะถัดไป อย่างไรก็ตามความคาดหวังที่มากเกินไปของนักลงทุน รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย และตัวเลขเศรษฐกิจที่อาจไม่เป็นไปตามที่คาด อาจส่งผลเชิงลบต่อราคาหุ้นได้

กองทุนที่ลงทุนทั่วโลก

KFWINDX-A:

  • กองทุนมีการลงทุนในหุ้นทั่วโลกผ่าน ETF ที่อ้างอิงดัชนี MSCI All Country World ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการเติบโตที่แข็งแกร่งของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินงานของกองทุนปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ในระยะถัดไปการเติบโตของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญของผลประกอบการของหุ้นในพอร์ตการลงทุน อย่างไรก็ตามความคาดหวังที่มากเกินไปของนักลงทุน ประกอบกับความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมไปถึงตัวเลขเศรษฐกิจที่อาจไม่เป็นไปตามคาด อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อราคาหุ้นได้

กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศตลาดกำลังพัฒนา

KFINDIA-A:

  • ตลาดหุ้นอินเดียยังคงแข็งแกร่งหลังจากตลาดคลายความกังวลเรื่องการจัดตั้งพรรครัฐบาลของ Modi โดยคาดว่านโยบายปฏิรูปของ Modi จะยังคงดำเนินต่อไปได้ อย่างไรก็ดีอินเดียได้มีการประกาศเพิ่มภาษี capital gain tax ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดได้ในระยะยาว อีกทั้งระดับราคา (valuation) ของตลาดหุ้นอินเดียค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเอเชียอื่นๆ

Krungsri The Masterpiece อัปเดตมุมมองประจำเดือนกันยายน 2024

Krungsri The Masterpiece อัปเดตมุมมองประจำเดือนกันยายน 2024

ที่มา: เอกสารอัปเดตมุมมอง Krungsri The Masterpiece วันที่: 30 กันยายน 2024

คำเตือน  ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน อาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน  ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้   กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน อาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น   กองทุนอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้  (non-investment grade) หรือไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) ผู้ลงทุนจึงอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการไม่ได้รับชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ย  เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูลแต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด โทร  0 2657 5757 | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299

TSF2024