มุมมองตลาดปัจจุบัน
ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ค่อนข้างผันผวน เนื่องจากตลาดมีการปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยของเฟดหลายครั้ง โดยอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดส่งผลให้ตลาดคาดว่าเฟดจะเริ่มประกาศลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายน แต่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง และความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านที่ระบุว่ายังไม่เห็นความคืบหน้าของการชะลอลงของเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยอาจทรงตัวอยู่ที่ระดับสูงยาวนานกว่าที่ประเมินไว้ ส่งผลให้ตลาดปรับคาดการณ์ว่าเฟดอาจเริ่มประกาศลดดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม หรืออาจไม่มีการลดดอกเบี้ยในปีนี้ อย่างไรก็ดี ในภาพรวม ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกปิดปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยได้แรงหนุนจากผลประกอบการของบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐที่ส่วนใหญ่ออกมาแข็งแกร่งกว่าที่คาด
สำหรับตลาดหุ้นไทยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ผันผวนไปตามทิศทางของตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาค แต่ในภาพรวมปรับตัวลดลง ถึงแม้ตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกออกมาดีกว่าที่คาด และยอดส่งออกเดือนเมษายนออกมาสูงกว่าที่คาดก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่า เป็นผลให้มีเงินลงทุนไหลออก
ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ปรับตัวผันผวนตามการปรับมุมมองเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐ โดยการลงทุนในตราสารหนี้โดยรวมให้ผลตอบแทนเป็นบวกในเดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ตลาดยังคงจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินว่าเฟดจะเริ่มประกาศลดดอกเบี้ยเมื่อใด ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯที่ยังคงมีแนวโน้มแข็งแกร่งกว่าที่ประเมินไว้ ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้นจากแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ดังนั้น ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้จึงมีแนวโน้มที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดี
พอร์ตการลงทุน
ที่มา: เอกสารอัปเดตมุมมอง Krungsri The Masterpiece วันที่ 30 มิถุนายน 2024
ที่มา: เอกสารอัปเดตมุมมอง Krungsri The Masterpiece วันที่ 4 มิถุนายน 2024
กองทุนแนะนำสำหรับการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์/ภูมิภาค
กองทุนตราสารหนี้ในประเทศ
- กองทุนกลุ่มตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาวมีแนวโน้มปรับตัวผันผวนมากขึ้น ตามความคาดหวังของตลาดที่ปรับตัวลดลงต่อโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย เนื่องด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่อาจไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามคาด ทั้งจากปัญหาเชิงโครงสร้างและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐที่ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยคาดว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยได้อยู่ในระดับสูงสุดแล้ว และรอเพียงจังหวะที่เหมาะสมที่จะเข้าสู่วัฎจักรอัตราดอกเบี้ยขาลงในระยะถัดไป นอกจากนี้มุมมองคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในปีนี้ของสหรัฐฯ อาจถูกเลื่อนออกไป ทั้งนี้ ผู้จัดการกองทุนจะทยอยปรับพอร์ตเพื่อหาโอกาสจากความผันผวนของตลาดอย่างสม่ำเสมอ โดยในระยะกลางถึงยาวจะเป็นไปในทิศทางการปรับเพิ่มอายุคงเหลือเฉลี่ยของกองทุน ซึ่งกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนในระดับสูงจะยังคงสามารถช่วยลดความผันผวนของตลาดลงได้ โดยคาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนกลุ่มนี้มีความน่าสนใจสำหรับเงินลงทุนระยะยาวที่ไม่ต้องการสภาพคล่องในระยะสั้น อาทิเช่น กองทุน KFAFIX (ขั้นต่ำ 1 ปีขึ้นไป) โดยปัจจุบันกรอบ Duration เฉลี่ยของกองทุน KFAFIX = 1.8 – 2.5 ปี
กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ
- กองทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นถึงระยะกลางของสหรัฐฯ มากขึ้น ส่งผลให้อายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในพอร์ตของกองทุนลดลง ขณะเดียวกันกองทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ของอังกฤษ เนื่องจากคาดว่าเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง อาจทำให้ธนาคารกลางมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
กองทุนตราสารทุนในประเทศ
- กองทุนที่เน้นการเฟ้นหาหุ้นที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละภาวะตลาด (KFDNM-D หรือ KFDYNAMIC) มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดีในระยะกลางถึงยาวตามผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่กองทุนคัดเลือกลงทุน
กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ Developed Market Equity
- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเติบโตสูงและหุ้นเทคโนโลยีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ส่งสัญญาณว่าการปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้อาจเป็นไปได้ช้ากว่าที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดีความเสี่ยงจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางทยอยหมดลง ส่งผลให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง รวมถึงในหุ้นสหรัฐฯ และหุ้นกลุ่มเติบโตสูง
- หุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังมีแนวโน้มได้รับแรงสนับสนุนจาก Theme AI ประกอบกับการเติบโตของผลกำไรสุทธิ รวมถึงแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในปีนี้ อย่างไรก็ตามระดับราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจส่งผลให้กลุ่มเทคโนโลยีเผชิญกับแรงขายทำกำไรเป็นระยะๆ
กองทุนที่ลงทุนทั่วโลก
- กองทุนมีการลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพสูง โดยมีรายได้ และกำไรเติบโตได้สม่ำเสมอรวมถึงมีลักษณะเป็นหุ้นเชิงรับที่มีคุณภาพ (Defensive Quality) ซึ่งยังเป็นการลงทุนที่เหมาะกับช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว
กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศตลาดกำลังพัฒนา
- ตลาดหุ้นอินเดียมีความผันผวนมากขึ้น โดยนักลงทุนเริ่มมีการขายทำกำไร เนื่องจากตลาดหุ้นอินเดียปรับตัวขึ้นมาได้ดีในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ผลการเลือกตั้งในอินเดียซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน คาดว่า Modi จะยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อได้ ทำให้การดำเนินนโยบายการปฎิรูปต่างๆ ยังคงไปได้ต่อ อย่างไรก็ดีอาจต้องระวังเรื่องการประเมินมูลค่าที่ปรับขึ้นไปค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต
- ตลาดหุ้นจีนมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น โดยตัวเลขเศรษฐกิจส่งสัญญาณว่าจีนเริ่มทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งมีแรงสนับสนุนมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางจีน นอกจากนี้ในการประชุม politburo นักลงทุนยังคาดหวังที่จะเห็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ออกมา โดยคาดว่าจะยังคงเป็นนโยบายที่ช่วยในภาคอสังหาฯ และนโยบายที่เพิ่มความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ดียังต้องระวังเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่อาจกลับมาตึงเครียด
ที่มา: เอกสารอัปเดตมุมมอง Krungsri The Masterpiece วันที่ 30 มิถุนายน 2024
คำเตือน: ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน อาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน อาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น กองทุนอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade) หรือไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) ผู้ลงทุนจึงอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการไม่ได้รับชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ย เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูลแต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด โทร 0 2657 5757 | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299