Krungsri The Masterpiece ปรับพอร์ตประจำเดือนกรกฎาคม 2024 : เพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

มุมมองตลาดปัจจุบัน

ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีความผันผวนลดลง เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ลดความคาดหวังเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยของเฟด และเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.25% แต่ส่งสัญญาณว่าการลดดอกเบี้ยอาจไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นต่อ นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับตัวขึ้นแรง ซึ่งส่งผลให้กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นแรง  ทางด้านตลาดหุ้นอินเดียปรับตัวขึ้นมาก หลังนายนเรนทรา โมดี ได้รับเลือกกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ส่งผลให้ตลาดคาดว่านโยบายเศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดหุ้นจีนร่วงลง จากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้ากับสหรัฐและยุโรป รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ

สำหรับตลาดหุ้นไทยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก โดยเป็นผลจากความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ความล่าช้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล และปัญหาการเมืองภายในประเทศ

ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้มีความผันผวนน้อยลงเช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนลดความคาดหวังในการลดดอกเบี้ยของเฟด โดยการลงทุนในตราสารหนี้โดยรวมยังคงให้ผลตอบแทนเป็นบวกในเดือนที่ผ่านมา

จากการที่เฟดส่งสัญญาณว่าอาจมีการลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้ความเสี่ยงที่ตลาดอาจผิดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟดมีน้อยลง โดยตลาดคาดว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ย 0 – 2 ครั้งในปีนี้ ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าที่คาดกลับส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น เนื่องจากตลาดมองว่าอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เฟดลดดอกเบี้ย  นอกจากนี้ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯยังคงมีแนวโน้มแข็งแกร่งต่อเนื่อง  ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้นจากแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่อัตราการเติบโตมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ตลาดหุ้นต่างประเทศจึงมีแนวโมสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดหุ้นไทย ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้ยังคงมีแนวโน้มที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่อง

พอร์ตการลงทุน

ในเดือนนี้มีการปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อตอบรับมุมมองความเสี่ยงและแนวโน้มผลตอบแทนการลงทุนที่เปลี่ยนไป ดังนี้

  1. ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตต่ำ จึงแนะนำให้เพิ่มการลงทุนในตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าอย่างชัดเจน
  2. ปรับเปลี่ยนการลงทุนจาก KFGBRAND-A เป็น KFWINDX-A ซึ่งมีการลงทุนในหุ้นเติบโตสัดส่วนที่สูงกว่า เพื่อสะท้อนมุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
  3. ปรับ KFINDIA-A จาก Satellite Holding เป็น Core Holding เนื่องจากอินเดียมีแนวโน้มเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบมากที่สุดในโลกในช่วงนี้ และยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนจากจำนวนประชากรที่มากที่สุดในโลก จำนวนประชากรในวัยทำงานอยู่ในสัดส่วนสูง และจำนวนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นอินเดียมีความผันผวนต่ำกว่าตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นจีน อีกทั้งให้ผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องมากว่า 10 ปี และกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกมากขึ้น
  4. ปรับ KFACHINA-A ออกจากพอร์ตการลงทุน โดยถึงแม้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่แนวโน้มการฟื้นตัวอาจไม่แข็งแกร่งเหมือนในอดีต ข้อมูลเศรษฐกิจจีนจึงอาจสร้างความผิดหวังให้แก่นักลงทุนในระยะถัดไป นอกจากนี้ ปัญหาสงครามการค้ากับสหรัฐอาจมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
  5. เพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน KFHTECH-A โดยถึงแม้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นมามากพอสมควรแล้วในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่การเติบโตของเทคโนโลยีจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในอนาคตอันใกล้นี้

ดู Fund Fact Sheet กองทุนที่เพิ่มน้ำหนัก/ปรับเข้า

 

Krungsri The Masterpiece ปรับพอร์ตประจำเดือนกรกฎาคม 2024

ที่มา: เอกสารปรับพอร์ต Krungsri The Masterpiece วันที่: 25 มิถุนายน 2024

Krungsri The Masterpiece ปรับพอร์ตประจำเดือนกรกฎาคม 2024

ที่มา: เอกสารปรับพอร์ต Krungsri The Masterpiece วันที่: 25 มิถุนายน 2024

กองทุนแนะนำสำหรับการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์/ภูมิภาค

กองทุนตราสารหนี้ในประเทศ

KFAFIX-A:

  • กองทุนกลุ่มตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาวยังคงมีแนวโน้มปรับตัวผันผวนต่อเนื่องตามความคาดหวังของตลาดที่ปรับตัวลดลงต่อโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่อาจไม่สามารถเติบโตได้เท่ากับค่าเฉลี่ยในระยะยาวของช่วงที่ผ่านมา ตามศักยภาพที่ลดลง ทั้งจากปัญหาเชิงโครงสร้างและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐที่ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้คาดว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยรอเพียงจังหวะที่เหมาะสมที่จะเข้าสู่วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาลงในระยะถัดไป นอกจากนี้ มุมมองคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในปีนี้ของสหรัฐฯ อาจถูกเลื่อนออกไป ทั้งนี้ ผู้จัดการกองทุนจะทยอยปรับพอร์ตเพื่อหาโอกาสจากความผันผวนของตลาดอย่างสม่ำเสมอ โดยในระยะกลางถึงยาวจะเป็นไปในทิศทางการปรับเพิ่มอายุคงเหลือเฉลี่ยของกองทุน ซึ่งกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนในระดับสูง จะยังคงสามารถช่วยลดความผันผวนของตลาดลงได้ โดยคาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนกลุ่มนี้มีความน่าสนใจสำหรับเงินลงทุนระยะยาวที่ไม่ต้องการสภาพคล่องในระยะสั้น อาทิเช่น กองทุน KFAFIX (ขั้นต่ำ 1 ปีขึ้นไป) โดยปัจจุบันกรอบ Duration เฉลี่ยของกองทุน KFAFIX = 0 – 3.0 ปี

กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ

 KF-CSINCOM:

  • กองทุนหลักมีมุมมองว่าอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่สูงในปัจจุบันเป็นโอกาสที่มูลค่าของตราสารหนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในอนาคตจากอัตราผลตอบแทนที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ขณะที่นอกเหนือจากสัดส่วนการลงทุนในสหรัฐฯ กองทุนได้กระจายการลงทุนในหลายประเทศที่กองทุนมีมุมมองว่าธนาคารกลางของประเทศดังกล่าวสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้และมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะถัดไป

กองทุนตราสารทุนในประเทศ

KFDYNAMIC:

  • กองทุนที่เน้นการเฟ้นหาหุ้นที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละภาวะตลาด (KFDNM-D หรือ KFDYNAMIC) มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดีในระยะกลางถึงยาวตามผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่กองทุนคัดเลือกลงทุน

กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ Developed Market Equity

KFUSINDX:

  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเติบโตสูงและหุ้นเทคโนโลยี เนื่องจากตลาดจับตามองโอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยในปัจจุบันตลาดให้น้ำหนักกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงการประชุมเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งช้ากว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ดี หากอัตราเงินเฟ้อออกมาน้อยกว่าคาด และเศรษฐกิจมีทิศทางชะลอตัวลง อาจส่งผลให้ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกัน ความผันผวนเพิ่มเติมในตลาดจะมาจากนโยบายหาเสียงในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี

KFHTECH:

  • หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมีแนวโน้มได้รับแรงขับเคลื่อนจากผลกำไรสุทธิที่ยังเติบโตได้ดี โดยการรายงานผลกำไรสุทธิในไตรมาส 1/67 ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ อีกทั้งการฟื้นตัวของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ และธีมการลงทุนเกี่ยวกับ AI จะเป็นปัจจัยที่สร้างการเติบโตในระยะยาว นอกจากนี้คาดว่าแนวโน้มในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเป็นปัจจัยบวกที่สนับสนุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน

กองทุนที่ลงทุนทั่วโลก

KFWINDX-A:

  • กองทุนหลักมีการลงทุนในหุ้นเติบโตสัดส่วนที่สูงกว่า เพื่อสะท้อนมุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศตลาดกำลังพัฒนา

KFINDIA-A:

  • ตลาดหุ้นอินเดียปรับตัวลง ภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้ง โดยพรรคของ Modi ได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ อย่างไรก็ตามทาง Modi และพรรคยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อยู่ ซึ่งคาดว่าตลาดจะคลายความกังวลลง อีกทั้งคาดว่านโยบายปฏิรูปของ Modi จะยังคงไปได้ต่อ ทั้งนี้ ความเสี่ยงของตลาดอินเดียจะมาจากการประเมินมูลค่า (valuation) ที่ปรับขึ้นไปค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต

Krungsri The Masterpiece ปรับพอร์ตประจำเดือนกรกฎาคม 2024

Krungsri The Masterpiece ปรับพอร์ตประจำเดือนกรกฎาคม 2024

 

ที่มา: เอกสารปรับพอร์ต Krungsri The Masterpiece วันที่: 25 มิถุนายน 2024

คำเตือน  ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน อาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน  ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้   กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน อาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น   กองทุนอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้  (non-investment grade) หรือไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) ผู้ลงทุนจึงอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการไม่ได้รับชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ย  เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูลแต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด โทร  0 2657 5757 | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299