มุมมองตลาดปัจจุบัน
ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นโดนเด่นหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เนื่องจากนโยบายของนายทรัมป์สนับสนุนการเติบโตของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจสหรัฐ เช่น มาตรการลดภาษีให้แก่ภาคธุรกิจ การผ่อนคลายกฏระเบียบต่างๆเพื่อเอื้อต่อการทำธุรกิจ การกีดกันการแข่งขันจากต่างประเทศ การสนับสนุนธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี เป็นต้น ในขณะที่ตลาดหุ้นในประเทศอื่น ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน จากความกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ สำหรับตลาดหุ้นอินเดียปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยเป็นผลจากการที่นักวิเคราะห์ปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นอินเดียกลับมาทยอยฟื้นตัวในช่วงปลายเดือน เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมยังคงแข็งแกร่ง และคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายของนายทรัมป์ไม่มาก เพราะเศรษฐกิจอินเดียเติบโตมาจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก
สำหรับตลาดหุ้นไทย การปรับตัวของตลาดส่วนใหญ่เป็นผลจากการปรับตัวของหุ้น DELTA ซึ่งมี market cap ใหญ่ที่สุดในตลาด ในขณะที่หุ้นกลุ่มอื่นๆ ปิดแกว่งตัวตามปัจจัยเฉพาะตัว โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น DELTA ปรับตัวขึ้นกว่า 36% ก่อนที่ปรับลดลงเหลือ +20% หลังจากติด cash balance ระดับ 1 ดังนั้น หากไม่รวมหุ้น DELTA ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงกว่า 3% ทั้งนี้ คาดว่าตลาดหุ้นไทยจะยังคงแกว่งตัวในกรอบจำกัด โดยอาจได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี และแรงซื้อของกองทุนประหยัดภาษี
ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ นักลงทุนลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด เนื่องจากนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของนายทรัมป์อาจส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอลงช้ากว่าที่คาด หรืออาจส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น และอาจส่งผลต่อทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐ อย่างไรก็ดี ทิศทางดอกเบี้ยในระยะยาวยังคงเป็นขาลง การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางและระยะยาวที่บริหารแบบเชิงรุก (active management) จึงน่าจะมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น
ที่มา: เอกสารอัปเดตมุมมอง Krungsri The Masterpiece วันที่: 29 พฤศจิกายน 2024
คำเตือน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน อาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน อาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น กองทุนอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade) หรือไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) ผู้ลงทุนจึงอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการไม่ได้รับชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ย เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูลแต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด โทร 0 2657 5757 | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299