มุมมองตลาดปัจจุบัน
ตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น โดยได้แรงหนุนจากความคาดหวังว่าเฟดอาจส่งสัญญาณยุติการขึ้นดอกเบี้ยหลังอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด รวมถึงได้แรงหนุนจากความคาดหวังว่าจีนจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หลังการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา เฟดมีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 5.25 – 5.50% ตามคาด แต่ยังไม่ยืนยันถึงการยุติการขึ้นดอกเบี้ย ในขณะที่รัฐบาลจีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตามคาด แต่ตลาดมองว่ามาตรการต่างๆที่ถูกประกาศออกมายังไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
สำหรับตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้น ทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลก อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นของตลาดหุ้นไทยถูกจำกัดโดยความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งยังคงไม่มีความชัดเจน โดยหลายฝ่ายประเมินว่าหากการจัดตั้งรัฐบาลมีความล่าช้า อาจส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ
ในส่วนของตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังคงปรับตัวลดลง เนื่องจากตลาดประเมินว่าเฟดใกล้ที่จะยุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ในขณะที่ ธปท. ย้ำว่าจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ การที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐใกล้อยู่ที่จุดสูงสุด และมีแนวโน้มที่จะเริ่มปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปีหน้า น่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นโดยรวมในระยะถัดไป นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ หลังเศรษฐกิจของหลายประเทศมีสัญญาณเติบโตดีกว่าที่คาด น่าจะเป็นแรงหนุนต่อตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลก ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังคงต้องรอความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล
พอร์ตการลงทุน
ที่มา: เอกสารปรับพอร์ต Krungsri The Masterpiece วันที่: 3 สิงหาคม 2023
ที่มา: เอกสารปรับพอร์ต Krungsri The Masterpiece วันที่: 3 สิงหาคม 2023
กองทุนแนะนำสำหรับการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์/ภูมิภาค
กองทุนตราสารหนี้ในประเทศ
- กองทุนกลุ่มตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาวมีแนวโน้มยังคงต้องเผชิญกับความผันผวนในระดับสูงต่อไปอีกสักระยะหนึ่งในช่วงที่เหลือของปี 2566 จากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ โดยแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯในครึ่งหลังของปี 2566 ยังคงมีความไม่แน่นอนของจุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่อาจสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 2 ครั้งสู่ระดับ 5.50 – 5.75% ภายในปีนี้ และยังไม่มีแนวโน้มสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในลำดับถัดไป สำหรับมุมมองเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย โดยคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายสำหรับสิ้นปี 2566 อยู่ในช่วง 2.25%-2.50% ดังนั้นเราจึงยังคงมีกลยุทธ์การลงทุนแบบระมัดระวัง ทำให้กองทุนที่มีการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนยังคงสามารถช่วยลดความผันผวนของตลาดลงได้ โดยคาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนกลุ่มนี้ยังคงมีความน่าสนใจสำหรับเงินลงทุนระยะยาวที่ไม่ต้องการสภาพคล่องในระยะสั้น อาทิเช่น กองทุน KFAFIX (ขั้นต่ำ 1 ปี ขึ้นไป) ปัจจุบันกรอบ Duration เฉลี่ยของกองทุน KFAFIX = 1.6 – 2.5 ปี
กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ
- กองทุนถือตราสารหนี้ระยะยาวในสัดส่วนที่ต่ำ โดยตราสารหนี้กลุ่มดังกล่าวได้รับผลกระทบเชิงลบจากยีลด์ที่เพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างมาก จากถ้อยแถลงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ยังคงส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัว ซึ่งกองทุนเน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางที่ได้รับผลกระทบเชิงลบต่ำกว่า นอกจากนี้กองทุนยังลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่, ตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้ง Investment Grade และ High Yield ในช่วงที่ผ่านมา
กองทุนตราสารทุนในประเทศ
- กองทุนที่เน้นการเฟ้นหาหุ้นที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละภาวะตลาด มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดีในระยะกลางถึงยาวตามผลการดำเนินงานของบริษัทฯที่กองทุนคัดเลือกลงทุน
กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ Developed Market Equity
- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นนำโดยการสนับสนุนจากหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะในกลุ่มเกี่ยวกับ AI อีกทั้งภาคการจ้างงานที่ยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นสหรัฐฯกลับมามีความผันผวน โดยความเสี่ยงจากความกังวลในกลุ่มธนาคารขนาดกลางและเล็กในสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่
- ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยสนับสนุนมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งบริษัทจดทะเบียนมีการเพิ่มอัตราปันผลและการซื้อหุ้นคืนมากขึ้น ตามการปฎิรูปธรรมาภิบาลของตลาดหลักทรัพย์โตเกียว นอกจากนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ทั้งนี้ยังต้องระมัดระวังความผันผวนจากการขายทำกำไร หลังจากดัชนี Nikkei 225 ปรับตัวสู่ระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี
กองทุนที่ลงทุนทั่วโลก
- กองทุนมีการลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพสูง, รายได้ และกำไรเติบโตได้สม่ำเสมอ โดยมีลักษณะเป็นหุ้นที่มีความทนทานและมีคุณภาพ (Defensive Quality) ซึ่งเป็นการลงทุนที่เหมาะกับภาวะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว และตลาดที่ยังคงมีความผันผวน
กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศตลาดกำลังพัฒนา
- ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอตัวลง อีกทั้งเศรษฐกิจของอินเดียเริ่มทยอยฟื้นตัว ประกอบกับแรงกดดันทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่น้อยกว่าจีน ทำให้ตลาดอินเดียปรับตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังต้องระวังเรื่องระดับราคาตลาดที่อยู่ในระดับสูง
- ภาพรวมตลาดหุ้นจีนมีความผันผวน เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณชะลอตัว อย่างไรตามรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นรอบใหม่ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับมา นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่องเพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ ในขณะที่ตลาดหุ้นจีนทยอยปรับตัวลดลงมาต่อเนื่องจนทำให้ระดับราคากลับมาน่าสนใจอีกครั้ง
ที่มา: เอกสารปรับพอร์ต Krungsri The Masterpiece วันที่: 3 สิงหาคม 2023
คำเตือน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน อาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน อาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น กองทุนอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade) หรือไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) ผู้ลงทุนจึงอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการไม่ได้รับชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ย เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูลแต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด โทร 0 2657 5757 | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299