มุมมองตลาดปัจจุบัน
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นยุโรป เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนฯ ต่างรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่ง
ในด้านตัวเลขเศรษฐกิจ จีดีพีไตรมาส 2/64 ของสหรัฐ ในเบื้องต้นโต 6.5% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าอาจโต 8.5% โดยที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคขยายตัวมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ อย่างไรก็ดี ปัญหาการขาดแคลนสินค้า วัตถุดิบ และแรงงาน ส่งผลให้ตัวเลขภาคการผลิต และภาคที่อยู่อาศัย มีสัญญาณชะลอลง และเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐโตน้อยกว่าที่คาด ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐยังคงสดใส เนื่องจากอัตราการออมยังคงอยู่ในระดับสูงมาก และค่าจ้างแรงงานปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนว่าผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้น
ในขณะที่ทางฝั่งยุโรป เศรษฐกิจเติบโตดีขึ้นมากหลังรัฐบาลหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆมีทิศทางดีขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) แบบรวมของยูโรโซนในเบื้องต้น อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 21 ปี ในเดือนกรกฎาคม โดยที่ PMI ภาคการผลิตทรงตัวใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ PMI ภาคบริการเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี
ส่วนเศรษฐกิจจีนยังคงแข็งแกร่ง ถึงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากผลของฐานต่ำเริ่มน้อยลง ทั้งนี้ตลาดหุ้นจีนในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลงแรง เนื่องจากรัฐบาลจีนเข้าควบคุมธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาและยกระดับการควบคุมธุรกิจอินเตอร์เน็ต ประกอบกับการกลับมาระบาดของโควิด-19 ในบางพื้นที่ ส่งผลให้นักลงทุนเทขายเพื่อลดความเสี่ยง
สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มากขึ้น และมีแนวโน้มยืดเยื้อมากกว่าที่คาด หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงขึ้นกว่า 17,000 รายต่อวัน โดยรัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์ที่เข้มงวดมากขึ้นในหลายพื้นที่ ส่งผลให้การบริโภคมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างมาก ในขณะที่ภาคการส่งออกยังคงเติบโตสูง แต่การพบคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อในภาคการผลิต และปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระยะถัดไป
ทางเรายังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นทั่วโลก โดยได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง รวมถึงความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าตลาดหุ้นสหรัฐจะได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยหนุนผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯ แต่อาจมีปัจจัยรบกวนจากแนวโน้มการขึ้นภาษีนิติบุคคลของสหรัฐ และการกลับมาระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ส่วนตลาดหุ้นยุโรปน่าจะได้แรงหนุนมากขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ในขณะที่ตลาดหุ้นจีนน่าจะได้ประโยชน์จากการเติบโตของการค้าโลก ท่ามกลางความเสี่ยงที่รัฐบาลจีนอาจมีมาตรการควบคุมธุรกิจมากขึ้น
สำหรับตลาดหุ้นไทย ถึงแม้ได้รับผลกระทบจากการพบกลุ่มผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศ แต่คาดว่าน่าจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว และจะส่งผลให้การฟื้นตัวในบางภาคส่วนชะลอออกไป อย่างไรก็ดี คาดว่าภาคการส่งออกจะเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันเศรษฐกิจไทยในปีนี้
ในส่วนของตราสารหนี้ ผู้จัดการกองทุนยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว โดยการปรับขึ้นของ bond yield ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้การลงทุนในตราสารหนี้มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้
พอร์ตการลงทุน
กองทุนแนะนำสำหรับการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์/ภูมิภาค
กองทุนตราสารหนี้ในประเทศ
- กองทุนกลุ่มตราสารหนี้ระยะกลาง – ยาว ยังคงได้รับประโยชน์จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่อาจยังคงเผชิญกับความเสี่ยงด้านลบอยู่อีกมาก จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ในระลอกที่ 3 ที่ยังไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นได้ในเร็ววัน ทำให้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยนายของไทยจะอยู่ในระดับต่ำยาวนาน ถึงแม้ว่าเฟดอาจเริ่มส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในปี 2566 ถึง 2 ครั้ง ปัจจัยหลักดังกล่าวยังคงทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่ผันผวนสูงและอาจปรับขึ้นได้ในระยกลางถึงยาว หากแต่ในระยะสั้น US treasury yield 10 ปี ยังคงผันผวนและปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 30% อีกครั้ง สำหรับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนไทยยังคงได้รับประโยชน์จากการปรับตัวลดลงของส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (Corporate spread) ในกลุ่มหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง ทำให้กองทุนที่มีการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนจะได้รับประโยชน์จากสัดส่วนการลงทุนนี้เพิ่มเติม จึงทำให้คาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนกลุ่มนี้ยังคงมีความน่าสนใจโดยเฉพาะสำหรับเงินลงทุนระยะยาวที่ไม่ต้องการสภาพคล่องในระยะสั้น อาทิเช่น กองทุน KFAFIX-A ขั้นต่ำ 1 ขึ้นไป โดยปัจจุบันกรอบ Duration เฉลี่ยของกองทุน KFAFIX-A = 2 – 3 ปี
กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ
- กองทุนมองว่าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่ปัจจัยชั่วคราว โดยเงินเฟ้ออาจอยู่ในระดับปัจจุบันยาวนานกว่าที่คาด อันเกิดจากภาคธุรกิจที่กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง, สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับต่ำ, ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน, การกระตุ้นทางเศรษฐกิจจากภาครัฐ และ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจัยระยะยาวที่น่าจะทำให้เงินเฟ้าอยู่ในระดับต่ำอีกครั้งคือ การทำ automation ที่มากขึ้นในภาคอุตสาหกรรม
กองทุนตราสารทุนในประเทศ
- กองทุนเน้นการลงทุนในตราสารทุนของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี SET 50
กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ Developed market equity
- กองทุนลงทุนหุ้นที่มีคุณภาพสูง เติบโตสม่ำเสมอในระยะยาว จึงควรมีไว้ในพอร์ต เพื่อลดความผันผวน โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่ความผันผวนอาจกลับมาได้ตลอดเวลา
- ตลาดสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สนับสนุนด้วยการเปิดประเทศหลังจากที่มีการฉีดวัคซีนป้องกัน Covid 19 ไปแล้วกว่า 48% อีกทั้ง ตลาดยังคลายความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามความผันผวนในตลาดยังมีอยู่โดยเฉพาะเมื่อเฟดเริ่มมีการส่งสัญญาณถึงการลดการทำ QE
- ตลาดยุโรปยังคงได้แรงส่งจากการกลับมาเปิดประเทศและการเร่งฉีดวัคซีนที่ทำได้อย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจยุโรปทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตามองการระบาดของสายพันธ์ใหม่ที่อาจกดดันประสิทธิภาพของวัคซีน และความผันผวนในตลาดที่อาจเพิ่มขึ้น หากเฟดเริ่มส่งสัญญาณว่าจะลดการทำ QE ทั้งนี้กองทุนหลักเน้นลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมและ IT โดยเน้นหุ้นคุณภาพที่มีอัตราการเติบโตของรายได้และเป็นผู้เล่นขนาดใหญ่ในตลาด
KF-GTECH :
- ความกลัวเรื่องเงินเฟ้อผ่านจุด Peak ไปแล้ว และแรงกดดันจากการ Rotation เบาบางลง ทำให้ Momentum ของอุตสาหกรรมกลับมา หลังจากที่ตลาดเริ่มมองหาหุ้น Growth อีกครั้ง
KFHHCARE :
- พื้นฐานที่แข็งแกร่ง เติบโตต่อเนื่อง ราคาถูก ณ ปัจจุบัน Momentum ของอุตสาหกรรมกลับมา หลังจากที่ตลาดเริ่มมองหาหุ้น Growth อีกครั้ง
Emerging market equity
- ตลาดจีนยังคงมีความผันผวน โดยความเสี่นงหลักยังคงมาจากแรงกดดันของภาครัฐ ที่เข้ามาควบคุมในกลุ่มเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นไปที่การคววบคุมการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้งเรื่องการแข่งขันที่เท่าเทียม นอกจากกลุ่มเทคโนโลยีแล้วทางการยังออกกฏควบคุมกลุ่มการศึกษาเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ในภาพเศรษฐกิจจีนยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งการบริโภคในประเทศและภาคการผลิตที่ยังสามารถขยายตัวได้ดี
หมายเหตุ:
- กองทุน KFGBRAND-A, KFGBRAND-D, KF-EUROPE, KFACHINA-A ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
- กองทุน KF-SINCOME, KF-CSINCOM, KFAINCOM-A, KFAINCOM-R, KF-HUSINDX, และ KF-HEUROPE ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน
คำเตือน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน อาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ กองทุนที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน อาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น กองทุนอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade) หรือไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) ผู้ลงทุนจึงอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการไม่ได้รับชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ย เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูลแต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด โทร 0 2657 5757