หากนายทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาจะเกิดอะไรขึ้น?
บทความนี้เขียนในเดือนกรกฎาคม ก่อนการเลือกตั้ง เพื่อเป็นการตั้งสมมุติฐานว่า “หากนายทรัมป์ ดำเนินนโยบายตามคำปราศรัยช่วงหาเสียงและที่ประกาศไว้ จะเกิดอะไรขึ้น” แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผลจะออกมาอย่างประจักษ์ชัด ผมยังมีความเห็น และความหวัง ว่า นายทรัมป์ตอนหาเสียงและนายทรัมป์ หลังจากเป็นประธานาธิบดี จะมีความแตกต่างอยู่บ้าง ซึ่งไม่น่าทำให้นโยบายทางภูมิรัฐศาสตร์ของอเมริกา เปลี่ยนไปจนไม่มีเค้าเดิมสะทีเดียวครับ หลักการถ่วงดุลอํานาจ (check & balance) ของสหรัฐอเมริกา ยังน่าจะคงอยู่ครับ
กฤษณ์ จันทโนทก
(10/11/16)
ปรัชญาการเมือง
ตัวแทนพรรครีพับลิกัน นายทรัมป์ ถูกมองจากนักวิเคราะห์และสื่อมวลชนส่วนใหญ่ว่า มีปรัชญาการเมืองแบบประชานิยม แต่หากพิจารณาถึงแก่นแท้ของตัวตน ผมมีความเห็นว่า นายทรัมป์ มีความเป็นเผด็จการ แต่ใช้ประชานิยมเป็นเครื่องมือในการนำตัวเองไปสู่อำนาจ ซึ่งข้อสรุปนี้ได้มาจากปฏิกิริยาของนาย ทรัมป์เมื่อถูกท้าทายในอำนาจและความคิดจะแสดงออกถึงมุมมองที่ยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง โดยไม่สนใจหลักนิติธรรม จารีต และวิถีประชา โดยพยายามทดสอบขีดจำกัดในการใช้อำนาจรัฐและจะยอมหักมากกว่าการผ่อนปรน แต่หากการท้าทายนั้นส่อเค้าว่าจะชะลอเส้นทางสู่อำนาจก็พร้อมที่จะเปลี่ยนจุดยืนเพื่อให้เกิดการยอมรับในระยะสั้น
คำขวัญในการหาเสียงของ นาย ทรัมป์ ที่จะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง (Make America great again) คือสัญญาณชี้ชัดของการเมืองแบบปิด ที่ยึดผลประโยชน์ของสหรัฐเป็นที่ตั้ง โดยยอมเสียประโยชน์จากการเป็นส่วนหนึ่งของตลาดยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งตัวอย่างผลลัพธ์ของการเมืองแบบปิด ก็คือกรณี Brexit
วิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจของนาย ทรัมป์
จากการปราศรัยและข้อมูลในเว็บไซต์หาเสียงพบว่ามีนโยบายสำคัญอยู่ 4 ประการ
ภาษี – เสนอให้มีการลดอัตราและเพดานการเก็บภาษีบุคคลธรรมดาจากเดิมสูงสุดที่ 39.6% เหลือ 25% พร้อมทั้งลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 35% เหลือ 15% ซึ่งจากการประมาณการของสถาบันนโยบายภาษี จะทำให้รายได้ภาษีของประเทศ ลดลงถึง 9.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 10 ปี
การใช้จ่ายภาครัฐ – จากนโยบายภาษีข้างต้น มีความจำเป็นต้องลดลงไม่น้อยกว่า 20% เพื่อให้งบประมาณแผ่นดินอยู่ในแดนบวก แต่นาย ทรัมป์ กลับเสนอ เพิ่มงบประมาณกลาโหม ให้คงนโยบายประกันสังคมและสุขภาพ และที่สร้างความตื่นตระหนกให้ผู้คนส่วนใหญ่ก็คือแนวคิดในการสร้างกำแพงตลอดชายแดนประเทศเม็กซิโก
ตรวจคนเข้าเมือง – เสนอให้มีการเนรเทศคนต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจำนวน 11 ล้านคนซึ่งคิดเป็น 3.5% ของประชากรและ 5.1% ของแรงงานทั้งประเทศ รวมทั้งการเพิ่มอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจาก 5,000 คนเป็น 15,000 คน
การค้าระหว่างประเทศ – แสดงถึงความคลางแคลงใจและอาจนำมาซึ่งการถอนตัวในความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) พร้อมทั้งกล่าวหาประเทศจีนว่าทำสนธิสัญญาทางการค้าซึ่งเอาเปรียบสหรัฐ โดยชูนโยบายการปฏิรูปทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนว่าเป็นหนทางที่จะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
เมื่อพิจารณาในภาพรวม นโยบายของนายทรัมป์ จะทำให้สหรัฐถูกโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจ การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศจะลดลง และเมื่อประกอบกับรายจ่ายของประเทศที่มากขึ้น อัตราการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐ จะลดลงไปอย่างมาก ดังที่ศูนย์วิจัย Moody’s Analytics ได้คาดการณ์ เศรษฐกิจในช่วงสี่ปีของประธานาธิบดีทรัมป์ว่า อัตราการว่างงานอาจเพิ่มขึ้นสูงถึง 6% และ GDP อาจไม่มีการเติบโตหรือกรณีร้ายอาจติดลบได้
คาดการณ์ผลกระทบต่อเอเชียและไทย
เสถียรภาพความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการลดการสนับสนุนทางการทหารให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่น โอกาสการเกิดสงครามค่าเงินระหว่าง สหรัฐ จีน และญี่ปุ่น ก็มีมากขึ้น โดยอาจมีการตอบโต้มาตรการการลดค่าเงินเยนและเงินหยวนผ่านการขึ้นพิกัดอัตราภาษีนำเข้าของสินค้าจากทั้งสองประเทศ ซึ่งอาจทำให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจในเอเชียอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งนโยบายการกีดกันชาวมุสลิมที่เดินทางเข้าสู่สหรัฐ อาจส่งผลเชิงจิตวิทยาและกระทบความสัมพันธ์กับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และซ้ำเติมภาพรวมของเศรษฐกิจภูมิภาคนี้ในทางอ้อม
แต่ผลกระทบกับไทยโดยตรงในบริบทรัฐบาลปัจจุบันอาจมีผลเชิงบวกในระยะสั้นเนื่องจากสหรัฐภายใต้การนำของนายทรัมป์ที่ดำเนินนโยบายการเมืองแบบปิด อาจลดการแทรกแซงกิจการของต่างประเทศ และหาก TPP ถูกยกเลิกไปด้วย การเสียโอกาสจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้กับเวียดนามและมาเลเซียโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากรวมถึงความเสียเปรียบในการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมอาหารไทยก็จะลดลงตามลำดับ แต่ผลกระทบต่อการเป็นประธานาธิบดีของนายทรัมป์คงไม่ส่งผลดีในระยะยาว
รับมืออย่างไร?
ไทยควรรอดูนโยบายและท่าทีจากว่าที่รัฐบาลใหม่ เพื่อโอกาสในการปรับสมดุลความสัมพันธ์โดยยังไม่ทำสนธิสัญญาหรือข้อตกลงใดๆในระหว่างนี้ หากนโยบายการปฏิรูปทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ออกมาในรูปแบบของการขึ้นพิกัดอัตราภาษีนำเข้าของสินค้าจากจีนถึง 45% ตามที่นาย ทรัมป์ เคยกล่าวไว้ จีนอาจมีความจำเป็นต้องหันมาพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศในเอเชียมากขึ้นเพื่อถ่วงดุลการค้ากับสหรัฐ
ดังนั้นในมุมของไทย การขยายความสัมพันธ์ในความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีอาเซียนกับคู่ภาคี 6 ประเทศ จะมีความสำคัญขึ้น ถึงแม้ขนาดของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศที่ร่วมโครงการ RCEP จะน้อยกว่า TPP แต่การมีจำนวนประชากรที่มากกว่านั้นย่อมหมายถึงโอกาสในระยะยาวของไทยในภูมิภาคนี้
ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/638423