เหตุการณ์สำคัญในปีนี้ เริ่มชี้ชัดถึงสัญญาณความร่วมมือขององค์กรระหว่างประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยการถอนตัวของสหรัฐในฐานะอภิมหาอำนาจ (Super power) จากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ตามมาด้วยความตกลงปารีส (Paris agreement) และล่าสุดองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศจะยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโลกต่อไปหรือไม่
การเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันอย่างถ่องแท้ต้องมองย้อนอดีตไป 25 ปี ในยุคหลังสงครามเย็น และพิจารณาพัฒนาการของเหตุการณ์ดังนี้
I. อำนาจยุคหลังสงครามเย็น
- สหรัฐเป็นผู้นำเบ็ดเสร็จทางภูมิรัฐศาสตร์โลก
- อดีตสหภาพโซเวียตและจีนผันมาสู่ระบบทุนนิยมเสรี (Liberal capitalist)
- มหาอำนาจ (Great power) ทั่วโลกอิงและสนับสนุนสหรัฐ
- สถานการณ์โลกในภาพรวมที่สงบ
ข้อประจักษ์ ทั้ง 4 ทำให้ประเทศส่วนใหญ่ดูเหมือนมีเป้าหมายเดียวกันในการจัดระเบียบสังคม บนการพึ่งพาสหรัฐที่เต็มใจเล่นบทอภิมหาอำนาจ
II. อำนาจหลักเริ่มเสื่อมพร้อมการขยายอำนาจจากภูมิภาคใหม่
ข้อสังเกตความเสื่อมคือ การลดลงของสัดส่วนความมั่งคั่งและแสนยานุภาพทางการทหารของสหรัฐและพันธมิตร แต่ในทางกลับกันคู่แข่งสำคัญเช่น จีนและรัสเซียเข้มแข็งขึ้น การขยายอิทธิพลนี้ ไม่จำกัดเพียงมหาอำนาจที่ต้องการมาทดแทนสหรัฐบนเวทีโลก แต่รวมถึงอำนาจภูมิภาคใหม่ที่ปฏิเสธอิทธิพลของโลกตะวันตกมาแต่เดิมในตะวันออกกลาง เช่น อิหร่าน อิรัก ซีเรีย
III. วัฎจักรการต่อสู้ทางความคิดที่สวนกระแสประชาธิปไตย
การล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียตทำให้แนวคิดประชาธิปไตยเสรีนิยม (Liberal democracy) ถูกมองว่า จะเป็นเป้าหมายสุดท้ายของทุกประเทศหลังยุคสงครามเย็น ถึงแม้บางประเทศอาจไม่เต็มใจนัก แต่แนวโน้มและการคาดการณ์ส่วนใหญ่ไปในทางเดียวกัน ซึ่งจากปี 1974 ถึงปี 2000 มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว แต่อย่างไรก็ตามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นตัวอย่างความล้มเหลวทางเศรษฐกิจของประเทศประชาธิปไตยบนความย่ามใจของสหรัฐที่คิดว่าจีนและรัสเซียกำลังปรับตัวเข้าหาประชาธิปไตยเสรีนิยม แต่ความจริงกลับสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบอำนาจนิยม (Authoritarian) ผ่านการบริหารเศรษฐกิจที่คล่องตัวและการแทรกแซงการเมืองของประเทศอื่น โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา 1 วันก่อนการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 19 สำนักข่าวซินหัว (Xinhua news agency) ซึ่งเป็นแหล่งข่าวของรัฐบาล ได้กล่าวพาดพิงระบอบประชาธิปไตยว่าทำให้เกิดการการเผชิญหน้าและความแตกแยก ซึ่งแนวคิดสวนกระแสนี้ได้ขยายวงกว้างไปยังหลายประเทศในตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออก
IV. ความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐและพันธมิตรโลกตะวันตก
เหตุการณ์ Brexit ที่สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปคือชนวนเร่งโตของลัทธิโดดเดี่ยว (Isolationist) สำหรับประเทศที่ยังคงอยู่ และทำให้โอกาสการกลับมารวมตัวอย่างเข้มแข็งของสหภาพยุโรปเพื่อสนับสนุนระบบทุนนิยมเสรีและสหรัฐคงเป็นไปได้ยาก ตามมาด้วยการมีอำนาจของผู้นำลัทธิโดดเดี่ยวและไร้ประสบการณ์อย่างนายทรัมป์ ที่ตอกย้ำความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐ โดยมองว่าเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์และการค้าระหว่างประเทศคือสาเหตุที่เศรษฐกิจในประเทศซบเซา รวมถึงมุมมองเชิงลบของบทบาทอภิมหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบต่อความมั่นคงและความเจริญโลกซึ่งเปิดช่องว่างให้พันธมิตรและฝ่ายตรงข้ามเอาเปรียบ จนเป็นที่มาของการปฏิเสธความร่วมมือในหลายองค์กร หลังนายทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง
พัฒนาการข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงบทบาทที่ลดลงขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศที่จัดตั้งโดยสหรัฐและพันธมิตรเพราะขาดกำลังสำคัญในการสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งจากนี้ไป คงไม่เป็นเรื่องแปลกหากสหรัฐและพันธมิตรทยอยออกจากองค์กรความร่วมมือต่างๆ ที่ไม่มีความสำคัญโดยตรงต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของตน แต่ในทางกลับกัน จีนอาจช่วงชิงจังหวะนี้ในการสนับสนุนองค์กรความร่วมมือที่สำคัญเพื่อประชาสัมพันธ์ภาพความสำเร็จของระบอบคอมมิวนิสต์
ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/642924