หากนาย “ทรัมป์” ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ภาค 2 ตอน สุดท้าย)

“เกี่ยวอะไรกับเรา?” ฉบับที่ 36 เป็นตอนสุดท้าย ต่อจากฉบับที่ 35  ซึ่งขอวิเคราะห์ผลกระทบอาเซียน และสรุปแนวทางการรับมือของประเทศไทย หากนาย “ทรัมป์” ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่สอง

I. ผลกระทบอาเซียน

เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และอาเซียน โดยเฉพาะไทย จะเห็นว่าหลังสงครามเย็น ความสัมพันธ์ลดทอนไปมาก ส่วนหนึ่งมาจากความเสี่ยงภัยคอมมิวนิสต์ที่หายไป ตามมาด้วยความคาดหวังให้ไทยดำเนินแนวทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมแบบตะวันตกที่เพิ่มขึ้น แต่ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทย กลับลดลงอย่างเห็นชัดตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 โดยชัดเจนมากขึ้นหลังรัฐประหารปี 2549 และปี 2557 ตามลำดับ

แต่อาเซียนยังคงมีความสำคัญกับสหรัฐฯ ซึ่งจะเห็นได้จากความพยายามอย่างต่อเนื่องผ่านทุกรัฐบาลในการสร้างความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือเพิ่มเติม มีเพียงสมัยรัฐบาล “ทรัมป์ 1” ที่ยกเลิกข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก Trans-Pacific Partnership (TPP) ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีไบเดน จัดตั้ง กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity (IPEF) ขึ้นมาแทนในปี 2565 โดยเป็นความร่วมมือของ14ประเทศสมาชิกทางด้าน การค้า ห่วงโซ่อุปทาน พลังงานสะอาด รวมถึงภาษีและการต่อต้านการทุจริต เพื่อดึงวงจรแห่งอิทธิพล กลับมาที่สหรัฐฯ ในการคานอำนาจจีน

ถึงแม้ IPEF ไม่ได้ครอบคลุมถึงการเปิดตลาดสหรัฐฯ แต่ก็มีประโยชน์ด้านห่วงโซ่อุปทานกับประเทศสมาชิก ด้วยเหตุที่สหรัฐฯต้องการ ลดการพึ่งพาสินแร่และเซมิคอนดักเตอร์จากจีน โดยหากพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่า IPEF ไม่น่าเป็นประเด็นกับทรัมป์ ก็เพราะความที่ไม่ได้ครอบคลุมถึงการเปิดตลาดสหรัฐฯ และยังมีบริบทการต่อรองกับประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นชุดความคิดและภาพลักษณ์ที่ทรัมป์ อยากให้คนมองตนว่า เป็นนักต่อรองที่แข็งแกร่ง แต่ด้วยอัตตาและความไม่แน่นอนของทรัมป์นั้น ก็อาจยกเลิกความร่วมมือนี้ เพียงเพราะเป็นนโยบายที่มาจากประธานาธิบดีไบเดน และทำให้ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับอาเซียนถดถอย จนเปิดโอกาสให้จีนและอินเดีย ขยายอิทธิพล พร้อมยกระดับสัมพันธ์กับอาเซียน ตามนโยบายของ สองมหาอำนาจเอเชีย ซึ่งสุดท้ายจะทำให้สหรัฐฯกลับมากดดันกลุ่มประเทศอาเซียนให้เลือกข้างความสัมพันธ์

II. แนวทางการบริหารความสัมพันธ์ ไทย Vs. สหรัฐฯ ในอนาคต

จากความเป็นไปได้ของสถานการณ์ข้างต้น รัฐบาลไทยควรปรับแนวทางการรับมือ และบริหารความสัมพันธ์ของสามประเทศมหาอำนาจ สหรัฐฯ จีน และอินเดีย โดยพลิกวิกฤตของโลกให้เป็นโอกาสและประโยชน์สูงสุดกับไทย ที่ถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีอำนาจระดับกลางของภูมิภาค แต่มีบทบาทที่ลดลง

ถึงแม้ความสัมพันธ์ของไทยกับสหรัฐฯจะไม่เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เช่นอดีต แต่สหรัฐฯ ยังมีบทบาทสำคัญทางการทูตในโลกเสรี โดยเฉพาะการสนับสนุนการทหาร และความมั่นคงของประเทศไทย ในขณะที่จีน ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ก็มีความสำคัญกับห่วงโซ่เศรษฐกิจไทย ทั้งในมิติของ เงินลงทุน การค้าและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ถึงแม้จะแลกมาด้วยความสัมพันธ์ที่ลดลงกับสหรัฐ ผ่านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป รัฐบาลไทยก็ยังมองว่าคุ้มค่า แต่ในปัจจุบัน ด้วยปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างของจีน ทำให้การใช้จ่ายภาคบริโภคลดลง ตามมาด้วยหนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น จนส่งผลกระทบเชิงลบกับเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ

ผมจึงมีความเห็นว่า รัฐบาลไทยควรใช้จังหวะนี้ ในการสานสัมพันธ์กับประเทศอินเดียให้แน่แฟ้นยิ่งขึ้น เพราะอินเดีย มีประชากรมากที่สุดในโลก มีการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด มีเศรษฐกิจดิจิทัลที่ล้ำหน้า มุ่งลงทุนพลังงานทางเลือกและอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่คุ้นเคยกับประเทศไทย มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงในการช่วยไทย “กระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ” จากการพึ่งจีน และยังเป็นการลดความเสี่ยง ของการเป็น “ลูกหลงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน”  ที่คาดว่าจะตึงเครียดยิ่งขึ้น จากการกลับมาของรัฐบาลทรัมป์ 2  ซึ่งอินเดียได้พิสูจน์แล้วว่า สามารถดำเนินนโยบายการทูตกับมหาอำนาจขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ จีน รวมถึง รัสเซีย ได้อย่างยอดเยี่ยม หากรัฐบาลไทยเห็นพ้องกับโอกาส และวางแผนอย่างเป็นระบบ อินเดียน่าจะเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรหลักของไทย ที่จะทำหน้าที่ “ตัวกลางความสัมพันธ์” และช่วยให้ไทยสามารถรักษาสมดุล รวมถึงระยะห่างที่เหมาะสม ระหว่างมหาอำนาจสหรัฐฯและจีน

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของประชาธิปไตยในประเทศไทย โจทย์นี้ควรเป็นอีกยุทธศาสตร์ที่สำคัญของ นายกเศรษฐาทวีสิน เพื่อรับมือภูมิรัฐศาสตร์โลกที่กำลังจะเปลี่ยนไป โดยบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความได้เปรียบที่ยั่งยืนของประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Kris Chantanotoke

TSF2024