I. เศรษฐกิจโลก:
เศรษฐกิจโลกช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 แสดงถึงโอกาสการเติบโตทั้งปีที่น่าจะเป็นไปตามคาดการณ์ที่ 3.9% และเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดตั้งแต่ปี 2554 โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ แซงหน้ากลุ่มประเทศพัฒนา (Advanced Economies) บนอัตราการเติบโตที่ 2.9% ยูโรโซนน่าจะโตที่ 2.4% ส่วนญี่ปุ่นอยู่ในช่วงขาลงที่ 1.2% แต่สหราชอาณาจักรฯ ยังสามารถรักษาระดับไว้ได้ที่ 1.5% ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ลาตินอเมริกาน่าจะโตได้ถึง 2% ยุโรปตะวันออกที่ 2.5% ส่วนตลาดเอเซียยังเติบโตสูงสุดประมาณ 5.8% ถึงแม้เศรษฐกิจจีนจะปรับตัวลดลงที่ 6.6%
ในภาพรวมจะเห็นว่า มาตรการเข้าซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางประเทศหลักอยู่ในช่วงขาลง เริ่มจากสหรัฐฯ และล่าสุด ECB ที่ส่งสัญญาณยกเลิก QE ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการว่างงานและเงินเฟ้อของเศรษฐกิจหลักที่กลับไปอยู่ในระดับก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ผมจึงคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 7 ครั้งหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งรวม 2 ครั้งในปีนี้อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 หรือ 2 ครั้ง ในปี 2561 โดยปัจจัยหลักน่าจะมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลดเพดานภาษีและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นจนมองว่าเศรษฐกิจจะมีแรงส่งที่เพียงพอ
ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกคงหนีไม่พ้น 2 เรื่องหลัก คือ นโยบายปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณแรงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จนล่าสุดมีการตอบโต้ไปมากับจีนทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วนช่วงสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมิถุนายน แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ ณ เวลานี้ยังไม่อาจประเมินว่าเป็นสงครามทางการค้า เพราะจำกัดวงระหว่างคู่ค้าและมีโอกาสที่จะเจรจาได้ ซึ่งความเห็นส่วนตัวน่าจะเป็นแนวทางการต่อรองจากรัฐบาลทรัมป์ในลักษณะของการแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวเพื่อทดสอบขีดจำกัดในการใช้อำนาจ แต่พร้อมที่จะเปลี่ยนจุดยืนเพื่อให้เกิดการยอมรับ โดยตัวอย่างล่าสุดคือกรณีวิกฤตินิวเคลียร์เกาหลีเหนือ
อีกประเด็นคงเป็นราคาน้ำมันโลกที่ปรับขึ้นจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในเวเนซุเอล่า อิหร่าน และลิเบีย ซึ่งอาจได้รับการบรรเทาจากบทสรุปการประชุม OPEC เดือนมิถุนายน แต่ผลล่าสุดก่อนปิดต้นฉบับนี้เหมือนสัญญาณการเพิ่มระดับการผลิตน้ำมันน้อยเกินคาดที่ 600,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้ราคาน้ำมันขยับขึ้น แต่ก็ไม่น่าสูงจนเกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจเพราะซาอุดิอาระเบียจะยังเกรงใจสหรัฐฯ อยู่
II. เศรษฐกิจไทย:
เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพบนอัตราสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2555 โดยคาดว่าปี 2561 นี้จะโต 4.7% หากพิจารณารายละเอียดจะพบว่ามาตรวัดทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ไปในทิศทางที่ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การลงทุนจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงส่งออกและท่องเที่ยว ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาไทยถึง 38 ล้านคน ส่วนใหญ่จากจีนและรัสเซีย ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็กลับมาอยู่ที่ 80% เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งทั้งหมดทำให้แรงขับเคลื่อนการเติบโตในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 มีความสมดุลมากขึ้น
งานประมูล “เมกะโปรเจกต์” ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ก็มีโครงการรออยู่มากมาย ซึ่งหากรวมโครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไปด้วยจะมีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท แต่ปัญหาสำคัญยังอยู่ที่ความล่าช้าในการเบิกจ่ายซึ่งคาดว่ารัฐบาลปัจจุบันจะเร่งให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งในปีหน้า
ถึงแม้ว่าส่งออกและอุปสงค์ในประเทศทยอยปรับดีขึ้น แต่การฟื้นตัวดูเหมือนยังไม่กระจายอย่างทั่วถึง จึงทำให้ กนง.ดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อขยับสูงขึ้นเล็กน้อยแต่ยังไม่แตะกรอบนโยบายที่ 1.5 ถึง 2.5 หากราคาน้ำมันเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเงินเฟ้อน่าจะเริ่มเข้ากรอบช่วงครึ่งปีหลัง 2561 และทำให้ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2562
III. ตลาดหุ้นไทย:
ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งไทยปรับตัวลงอย่างแรงจากความกังวลในโอกาสของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ประกอบกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้กระแสเงินทุนต่างชาติออกจาก SET มากในเดือนมิถุนายน แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า กระแสเงินทุนต่างชาติทยอยออกมานานแล้ว โดยมีสัดส่วนการถือครองที่ลดลงตั้งแต่ปี 2556 ถึงกระนั้นตลาดหลักทรัพย์ก็ยังเติบโตได้จากอัตราผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผมจึงมองโครงสร้างพื้นฐานของตลาดว่าเข้มแข็งอยู่ แต่แรงกดดันจะมาจากปัจจัยภายนอก
ที่มาบทความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644943