2 ปีผ่านไป Brexit จะจบอย่างไร?

2 ปี ผ่านไปหลังประชามติ Brexit บนเสียงสนับสนุน 52% ที่เรียกร้องให้ออกจากสหภาพยุโรป

แต่นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ยังไม่สามารถหาข้อสรุปจากรัฐบาลตนเองได้ โดยข้อเสนอล่าสุดเมื่อต้นเดือนมกราคมได้รับการปฏิเสธบนคะแนนเสียงท่วมท้นที่ 432 ต่อ 202 ซึ่งมากเป็นประวัติการณ์จนทำให้ฝ่ายค้านต้องยื่นมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี

บทความนี้จะพิจารณาความซับซ้อนของกระบวนการเจรจา Brexit ผลกระทบของ No Deal Brexit หรือเส้นตายเงื่อนเวลา 29 มีนาคมโดยไม่มีข้อตกลงกับสหภาพยุโรป รวมถึงทางออกของ Brexit ว่ารัฐบาลอังกฤษมีทางเลือกอย่างไร

1. ทำไมการเจรจา Brexit ถึงไม่เกิดผล?

ปัญหาสำคัญคือประชาชนที่สนับสนุน Brexit ขาดความเข้าใจและมีแนวคิดที่แตกต่างจากรัฐบาลมาก แต่นางเมย์ก็มีเวลากว่า 2 ปี ในการทำให้เกิดภาพที่ชัดและหาแนวร่วมการสนับสนุน Brexit ในรูปแบบที่พอจะเป็นไปได้ แต่กลับไม่ได้วางแผนและนำเสนออย่างเป็นระบบ จนทำให้ภาพออกมาว่าสหราชอาณาจักรไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร ทำให้สหภาพยุโรปก็ไม่รู้ว่าต้องเจรจาอย่างไร ซึ่งประเด็นพื้นฐานที่ยังไม่มีใครยอมรับหรือไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไรคือไม่มีข้อตกลงใหม่ใดๆ ที่ดีกับสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปไปกว่าการคงอยู่ในสหภาพยุโรป หรือ No Brexit

2. No Deal Brexit?

สถานการณ์โดยรวมจะกลับไปเป็นเหมือน ช่วง ปี 2523 โดยการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปจะลดลง ซึ่งทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจทั้ง 2 ฝั่งติดลบและอาจถึงขั้นทดถอย (Recession) บริษัทที่มีกิจการอยู่ ทั้ง 2 ฝั่งจำเป็นต้องมีแนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) กันใหม่ ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจสหภาพยุโรปมีขนาดเป็น 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกประกอบกับการเริ่มชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและสหรัฐ Brexit จะทำให้โอกาสการเกิดเศรษฐกิจทดถอยของโลกเพิ่มขึ้น

บนคำถามว่ามีอะไรแย่ไปกว่า No Deal Brexit มองได้ 2 มุมมองดังนี้

1.) ในมุมของสหภาพยุโรป การเปิดโอกาสให้สหราชอาณาจักรเลือกต่อรองเงื่อนไขตามใจชอบจะทำให้เกิดความวุ่นวายของสมาชิกที่ยังคงอยู่และอาจทำให้สหภาพยุโรปแตก

2.) แต่ในมุมของสหราชอาณาจักร ไม่มีทางออกใดจะแย่ไปกว่า No Deal Brexit เพราะมีอำนาจต่อรองที่ต่ำโดยการค้ากับสหภาพยุโรปมีขนาดถึงครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโดยรวม แต่ในทางกลับกันการพึ่งพาเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรของสหภาพยุโรปต่ำกว่ามาก

3. Brexit จากนี้จะจบลงอย่างไร?

เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก แต่น่าจะมาใน 3  แนวทางดังนี้

1.) รัฐบาลอังกฤษอาจต่อรองเพิ่มเติมกับสหภาพยุโรปแต่ข้อเสนอไม่น่าจะแตกต่างจากเดิมที่ถูกตีตกไปเมื่อ 16 มกราคมที่ผ่านมา

2.) อาจมีการจัดทำประชามติ (Referendum) อีกครั้ง ซึ่งอาจนำไปสู่การยอมรับจากรัฐสภา โดยอาจออกมาในรูปของการยอมรับข้อเสนอเดิมของนางเมย์ No Deal Brexit หรือแม้กระทั่ง No Brexit

3.) การนิ่งเฉยไม่ทำอะไร ซึ่งจะเกิด No Deal Brexit ที่มีความเสี่ยงต่อระบบ เศรษฐกิจสูงสุด แต่ไม่ว่าจะออกมาในทางไหน เส้นตายวันที่ 29 มีนาคมน่าจะถูกขยับไปอย่างน้อย 2-3 เดือน

ผมมีความเห็นว่า สถานการณ์ Brexit เกิดจากโครงสร้างแม่แบบสหภาพยุโรปที่มีจุดอ่อนของการบังคับใช้นโยบายทางการเงิน แต่ปล่อยให้ประเทศสมาชิกดำเนินนโยบายทางการคลังอย่างอิสระ ซึ่งในทางปฏิบัติการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องและไปในทางเดียวกันเป็นไปได้ยาก รวมถึงการปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก ที่ทำได้ไม่ดี ซึ่งทำให้สหภาพยุโรปดำเนินนโยบายออกห่างจากเจตนารมณ์เดิมจนควบคุมได้ยาก ผ่านการเพิ่มจำนวนประเทศสมาชิกที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ที่แตกต่างกันเกินไปโดยจากเดิมที่มี 12 ประเทศที่ใช้สกุลเงินเดียวกันในปี 2545 จนปัจจุบันมีสมาชิกถึง 28 ประเทศ

นโยบายที่ไม่สอดคล้องบนความแตกต่างของประเทศสมาชิกนั้น ได้ทำให้เกิดการเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตระหว่างประชาชน กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา และเป็นต้นเหตุของปัญหาผู้อพยพระลอกแรกที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรป จากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่ย้ายถิ่นฐานมายังตะวันตกจนเป็นชนวนก่อให้เกิดความไม่พอใจของประชาชนเดิมในประเทศหลักที่มองว่าถูกแย่งโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมจนปลุกกระแสชาตินิยม (Nationalist) โดยสถานการณ์เลวร้ายขึ้นเมื่อเกิดวิกฤติสงครามในตะวันออกกลางที่ทำให้มีผู้อพยพจากนอกยุโรปเข้ามาเพิ่ม ลามจนเกิด Brexit พร้อมการเข้ามาของฝ่ายการเมืองแนวคิดชาตินิยมในหลายประเทศ ณ ปัจจุบัน

หากสหภาพยุโรปต้องการจะรักษากลุ่มเศรษฐกิจและการเมืองนี้ต่อไปจะต้องกลับมาประเมินสถานการณ์ในภาพรวมอย่างจริงจังว่านโยบายไหนปฏิบัติแล้วเกิดผลดี สามารถควบคุมได้และที่สำคัญส่งผลบวกด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่วนทางออกสถานการณ์ Brexit ที่เหมาะสมที่สุดคือการทำประชามติครั้งที่ 2 เพราะแนวคิดเรื่อง Brexit เพิ่งเข้ามาอยู่ในวงสนทนาและความเข้าใจของประชาชนส่วนใหญ่ในช่วง 2 ปี กว่านี้เอง ซึ่งคงไม่มีทางออกใดที่เป็นประชาธิปไตยไปมากกว่าการกลับไปที่ประชาชนบนความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น และให้ประชาชนกำหนดชะตาชีวิตของตนเองครับ

ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646414

TSF2024