กลุ่มโอเปก = ธนาคารกลางแห่งตลาดน้ำมันโลก
ราคาน้ำมันดิบโลกได้ทยอยปรับขึ้นมาเรื่อยๆตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนมาจนถึงช่วงกลางเดือนมิถุนายน โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ได้ดีดตัวขึ้นมาเกือบ 2 เท่า จากราคา 25 เหรียญต่อบาร์เรลมาจนถึงระดับ 40 เหรียญต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนจนถึงปัจจุบันนั้น ราคาน้ำมันดิบ Brent กลับขยับตัวอยู่ในกรอบแคบๆแค่ที่ 40-44 เหรียญต่อบาร์เรลเท่านั้น #ยังไม่เคยหลุดกรอบนี้ มาตลอดเป็นเวลากว่า 25 วันแล้ว
ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจครับ เพราะทั้งตลาดนั้นกำลังรอผลการประชุมของกลุ่มโอเปกที่จะมีขึ้นในวันพุธที่ 15 กรกฎาคมนี้ ในการประชัม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) หรือการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในการลดปริมาณการผลิตน้ำมันของประเทศสมาชิก #ถึงแม้จะไม่ใช่การประชุมใหญ่ แต่ตราบใดที่ธนาคารกลางแห่งตลาดน้ำมันโลกยังไม่ตัดสินใจที่จะประกาศมาตรการต่อไปของทางกลุ่มออกมา #นักลงทุนและเทรดเดอร์น้ำมันในตลาดก็ยังไม่กล้าที่จะดันหรือกดราคาให้หลุดออกจากกรอบนี้ ไปได้
การที่ราคาน้ำมันนิ่งอยู่ในกรอบ 4 เหรียญมาตลอด 1 เดือนก่อนการประชุมโอเปกนั้นแสดงให้เห็นถึง #อิทธิพลของกลุ่มโอเปกต่อตลาดน้ำมัน อย่างชัดเจน
ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้เกิดเรื่องราวอะไรขึ้นในตลาดเลยนะครับ ราคาจึงไม่ได้ขยับ แต่จริงๆแล้วยังมีความเคลื่อนไหวมากมายในตลาด ไม่ว่าจะเป็น การระบาดของไวรัสโควิดทั่วโลกที่ยังคงลุกลามอยู่ การใช้น้ำมันที่เริ่มทยอยกลับมาในหลายๆภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงของสต็อกน้ำมันในสหรัฐที่ผันผวนในช่วงฤดูการขับรถ (Driving Season) รวมไปถึงปริมาณการผลิตในลิเบียที่เจอปัญหาการเมืองภายในประเทศรบกวนอยู่ตลอดเวลา
แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในตลาด ก็ยังไม่สามารถมีปัจจัยไหนดันหรือกดราคาน้ำมันออกจากกรอบราคาที่กล่าวไปได้ เพราะการตัดสินใจของโอเปกนั้นมีความสำคัญต่อตลาดมากกว่าปัจจัยเหล่านี้เยอะ
OPEC นั้นไม่ใช่กลุ่มที่สามารถกำหนดราคาขายร่วมกันได้ตามใจอยากอีกต่อไปแล้ว แต่บทบาทกำลังจะเปลี่ยนเป็นในแบบของ #ธนาคารกลาง แทน
ในสมัยเริ่มต้นของการรวมกลุ่มโอเปกนั้น ประเทศผู้ผลิตน้ำมันต่างๆมีส่วนแบ่งตลาดที่สูงและแทบจะสามารถกำหนดราคาน้ำมันที่เท่าไหร่ก็ได้ (หากต้องการ) การที่ทางกลุ่มสามารถที่จะทำแบบนั้นทำให้ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่ม #Cartel ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตามทางกลุ่มไม่ได้ต้องการจะกำหนดราคาน้ำมันที่สูงเกินไป เพราะอาจทำให้ความต้องการใช้หดตัวลงและอาจทำให้มีคนพัฒนาพลังงานทดแทนอื่นๆมาแย่งตลาดได้…
และฝันร้ายของกลุ่มโอเปกก็กลายเป็นจริงตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ที่นวัตกรรมเชลออยล์ของสหรัฐนั้นมีต้นทุนการขุดที่ถูกลงเรื่อยๆ และในที่สุดก็สามารถผลิตออกมาแย่งส่วนแบ่งตลาดของโอเปกได้เป็นจำนวนมาก ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ลดลง #กลุ่มโอเปกจึงไม่สามารถกำหนดราคาตลาดได้อีกแล้ว โดยที่ไม่เสียสละการลดกำลังการผลิตของตัวเองมากเกินไปจนประเทศสมาชิกนั้น อาจอยู่ไม่ได้เพราะขาดรายได้จากการขายน้ำมัน
บทบาทของกลุ่มโอเปกจึงเปลี่ยนไปเป็นแค่ #ธนาคารกลางของตลาดน้ำมัน ผู้ซึ่งไม่ได้กำหนดราคาน้ำมันแต่เป็นเพียงผู้ควบคุมสภาพคล่องให้ตลาด ว่าจะมีน้ำมันโลกล้นเกินไปหรือตึงตัวเกินไปเท่านั้น
บทบาทและความยากของธนาคารกลาง
หน้าที่ของธนาคารกลางทั่วโลกคือการกำกับและดูแลนโยบายการเงินของแต่ละประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจนั้นเดินหน้าไปได้อย่างสมดุล ทางธนาคารกลางนั้นไม่ได้เป็นผู้ตั้งว่า อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศจะเป็นเท่าไหร่ หรือ GDP ของแต่ละประเทศจะโตที่เท่าไหร่ ? แต่ #ธนาคารกลางนั้นเป็นเพียงผู้ที่รักษาสมดุลย์ของตลาดผ่านการกำหนดสภาพคล่องเท่านั้น ผลลัพท์ต่างๆจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับกลไกของตลาดเอง ทางธนาคารกลางไม่สามารถเข้าไปกำหนดได้
หากเศรษฐกิจโลกนั้นเติบโตเร็วเกินไปและเงินเฟ้อกำลังสูง ทางธนาคารกลางก็จะทำหน้าที่เพิ่มดอกเบี้ยเพื่อดึงสภาพคล่องกลับมาในระบบ ในทางตรงกันข้ามกันหากเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลงมากเกินไป เช่นวิกฤตไวรัสโควิดที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ ธนาคารกลางก็จะทำหน้าที่อัดฉีดสภาพคล่องเข้าตลาดแทน
และในปีนี้ #ธนาคารกลางทั่วโลกก็อาจทำได้สำเร็จ (ในเบื้องต้น) หลังจากร่วมมือกันลดดอกเบี้ยอย่างน้อยธนาคารกลางทั่วโลกก็สามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้ ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มดีดกลับขึ้นไปในไตรมาสที่ 2 #แต่นี่ก็เป็นเพียงแค่ก้าวแรก เพราะภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Sector) นั้นจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ดีแค่ไหนนั้นคงต้องติดตามกันต่อไป
เช่นเดียวกันกับธนาคารกลางต่างๆ เมื่อการใช้น้ำมันทั่วโลกหดหายไปเกือบ 30% ทั่วโลกในช่วงปลายเดือนมีนาคมและสภาพคล่อง (อุปทาน) น้ำมันนั้นยังล้นตลาดอยู่ ทางกลุ่มโอเปกจึงต้องรีบเข้ามาร่วมกันลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันไว้
และ… พวกเขาก็ทำได้สำเร็จในเบื้องต้น… #แต่ …
ความยากของธนาคารกลางไม่ได้อยู่ที่การช่วยรักษาตลาด… #แต่อยู่ที่การถอนการช่วยเหลือออก โดยตลาดไม่ล้มต่างหาก
หากถามเหล่าผู้ว่าธนาคารกลางทั่วโลก พวกเขาจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า #การเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาดนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยากกว่าคือ #การเลือกจังหวะในการที่จะถอนออก โดยไม่ทำให้ตลาดที่กำลังฟื้นขึ้นมานั้นล้มไปอีกครั้ง
อย่างที่เราเคยเห็นตัวอย่างจากวิกฤต Subprime หรือ Hamburger Crisis เมื่อปี 2007
ทันทีที่ทาง FED รู้ตัวแล้วว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังจะชะลอตัวลง FED จึงได้เร่งลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับ 5% ลงมาเหลือเกือบ 0% ภายในระยะเวลาปีเดียว แต่กว่าทาง FED จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อีกครั้งนั้น ต้องใช้อีกกว่า 6 ปีจึงเริ่มมาขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในปี 2015 และกว่าจะขึ้นมาได้เพียงครึ่งนึงของอัตราที่ลดไป หรือกว่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นมาที่ 2.5% นั้นยังต้องกินเวลาไปอีกถึง 4 ปี ทำให้โดยรวมนั้น ต่อให้ FED ใช้เวลาทั้งหมดอีก 11 ปีแล้ว ก็ยังไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยกลับไปที่เดิมได้ (กราฟแนบในคอมเม้นท์)
นี่แสดงให้เห็นถึงความยากกว่าในการถอนการช่วยเหลือ (Support) ของตลาดออกที่ชัดเจนกว่าการให้ความช่วยเหลือเยอะมาก
ในวิกฤตไวรัสโควิดนี้ ทางโอเปกจะต้องเผชิญการตัดสินใจที่ยากลำบากนี้ก่อนใคร
ในขณะที่ทาง FED นั้นบอกชัดเจนแล้วว่าตลาดการเงินสหรัฐยังต้องการสภาพคล่องไปอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2022 เป็นอย่างน้อย และจะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่ๆ ทางกลุ่มโอเปกนั้นกำลังจะต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่เร็วกว่านั้นเยอะ
ด้วยการใช้น้ำมันของแต่ละประเทศที่ปลดคลาย Lock Down เริ่มจะกลับมาเป็นปกติแล้ว เหลือแค่เพียงน้ำมันเครื่องบิน (Jet Fuel) เท่านั้นที่ยังไม่กลับมามากนัก แต่การใช้น้ำมันดีเซลและเบนซินนั้นแทบจะกลับมาเป็นปกติแล้ว 100% แล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่ ฝรั่งเศส เกาหลี และ รัสเซีย ทางด้านเยอรมันนั้นการใช้กลับมาโตกว่าเก่าด้วยซ้ำ ส่วนทางจีนและสหรัฐนั้นการใช้ก็กลับมาอยู่ที่ระดับ 90% แล้ว #ทำให้ทางกลุ่มโอเปกนั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคงการลดกำลังการผลิตน้ำมันครั้งประวัติศาสตร์นี้อีกต่อไป
แต่ทางโอเปกจะปรับเพิ่มการผลิตเท่าไหร่ดี ? นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย
ในวันพุธนี้เราคงรู้กันว่าทางโอเปกจะตัดสินใจอย่างไร โดยหากโอเปกจะคงตามแผนที่คิดไว้ตั้งแต่เดือนเมษายน (ทั้งๆที่ตอนนั้นยังไม่แน่ใจเลยว่าการใช้น้ำมันจะกลับมามากน้อยเช่นไรในอนาคต) นั้นคือการปรับลดการลดการผลิตลงมาจาก 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ให้กลายมาเป็น ลดเพียง 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวันไปจนถึงสิ้นปีนี้ หรือเรียกง่ายๆว่า #จะทำการเพิ่มอุปทานน้ำมันเข้าไปในตลาดอีก 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวันนั้นเอง
ความยากนั้นอยู่ที่ว่า การลดกำลังการผลิตครั้งนี้นั้นได้ผลที่ดีมากๆ ! ตอนนี้กำลังมีหลายประเทศในกลุ่มโอเปกที่ต้องการอยากให้ทางกลุ่มขยายนโยบายนี้ต่อไปจะได้สามารถขายน้ำมันได้ที่ราคาแพงไปเรื่อยๆ ในขณะที่บางประเทศกลับมองว่าอยากจะเร่งเพิ่มการผลิต #ให้มากกว่าแผนที่กำหนดไว้เมื่อ3เดือนก่อนอีก เพื่อที่จะได้หารายได้เพิ่มจากปริมาณการผลิตที่ลดไปในช่วงเดือนที่ผ่านมา เพราะประเทศเหล่านี้เชื่อว่าการใช้ที่กลับคืนมาแล้วคงไม่ทำให้ราคาตกลงมาหรอก ตราบใดที่ Demand ยังดีราคาน่าจะยืนได้
ในขณะที่ทางพี่ใหญ่ของกลุ่มโอเปกอย่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซียนั้นยังมองว่าโอเปกควรทำตามแผนที่ได้วางไว้เมื่อ 3 เดือนก่อน ถึงแม้ว่าการใช้น้ำมันจะดีดตัวกลับขึ้นมาเร็วกว่าที่คิดไว้ตอนแรกก็ตาม ก็ควรคงแผนเดิมต่อไปก่อน
การตัดสินใจครั้งนี้ หากไม่ตัดสินใจให้ถี่ถ้วนนั้น ต่อให้คงการผลิตไว้ตามแผนก็อาจส่งผลให้ราคานั้นลดลงมาได้อยู่ดี #เพราะการถอนการช่วยเหลือออกอย่างไม่ระวัง ตลาดอาจจะมองว่าเป็นผลลบ ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของตลาด นั้นจึงเป็นความยากที่โอเปกต้องเผชิญในฐานะธนาคารกลาง
ที่สำคัญ ตอนนี้คงยังไม่มีใครทราบว่าผลและมติการประชุมโอเปกจะเป็นเช่นไร ถึงแม้จะเป็นแค่การประชุมย่อย
ตราบใดที่ผลประชุมยังไม่ออกมา #ก็ยังไม่มีอะไรแน่นอน เราเคยเห็นทางซาอุและรัสเซียเสียงแตกกันมาก่อนแล้วในช่วงการประชุมเดือนมีนาคม และผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเช่นไร… เกิดสงครามราคาน้ำมันขึ้นอย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน แม้แต่ทางซาอุผู้เป็นคนเริ่มสงครามเองก็ยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้น สงครามราคาประกอบกับไวรัสระบาดทำให้ราคาน้ำมันทั่วโลกหล่นลงไปหนักสุดในรอบเกือบ 20 ปี และราคาในบางแห่งถึงกับติดลบด้วยซ้ำ
นี่คือเหตุผลที่ทำไมราคาในตลาดถึงยังนิ่งมาตลอดเป็นเวลา 1 เดือนแล้ว แต่เชื่อได้เลยว่าหากมีการตัดสินใจอันใดที่เซอร์ไพรส์ตลาด ไม่ว่าจะเป็นการยืดเวลาลดกำลังการผลิตออกไป หรือการเพิ่มปริมาณเพิ่มขึ้นกว่าที่คาด #ราคาน้ำมันในอาทิตย์หน้านั้นจะไม่นิ่งอยู่อย่างนี้แน่ๆ
การประชุมโอเปกในวันพุธนี้จึงมีความสำคัญมากต่อทิศทางราคาน้ำมัน และท่านใดไม่อยากพลาดผลอัพเดทของการประชุมและความเคลื่อนไหวในตลาดต่างๆ ที่ทางทีมเราพยายามนำมาให้คุณให้เป็นที่แรกให้ได้
KP
ที่มาบทความ : https://www.facebook.com/OilTradingkp/photos/a.109714799581872/580197605866920/