ในช่วงปีที่ผ่านมานับว่าเป็นหนึ่งในช่วงที่ดีที่สุดของตลาดหุ้นทั่วโลก จากภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวกลับมาเติบโตกันอย่างพร้อมเพรียง เราจึงเห็นการปรับตัวขึ้นของหุ้นทั่วทุกภูมิภาคทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน แต่สิ่งหนึ่งที่การปรับตัวขึ้นของหุ้นในแต่ละภูมิภาคในครั้งนี้ที่เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ เราจะเห็นว่าหุ้นที่มีลักษณะเป็นตัวแทนของ “เศรษฐกิจยุคใหม่” หรือ “New Economy” นั้นๆ จะมีการปรับตัวขึ้นได้อย่างโดดเด่น และเป็นกลุ่มที่นำตลาด
ลักษณะของหุ้นในกลุ่ม New Economy นั้นมักจะมีธุรกิจที่มีสินค้าหรือบริการที่เป็นสิ่งใหม่ มีการเติบโตสูงตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตผู้บริโภคในยุคใหม่ มักมีจุดเด่นจากการมีนวัตกรรมหรือมีการเติบโตอยู่บนแนวโน้มทางเศรษฐกิจใหญ่หรือ Mega trend ของประเทศนั้นๆ หรือของโลก
เช่นในช่วงปีที่ผ่านมา หากเราดูหุ้นในสหรัฐฯ กลุ่มที่ปรับตัวขึ้นมาได้อย่างโดดเด่น จะเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นบริษัทด้าน Internet หรือ Software ไม่ว่าจะเป็น Facebook Amazon Netflix และ Google หรือที่เรียกกันว่าหุ้นกลุ่ม FANG นั่นเอง ซึ่งเติบโตจากแนวโน้มการใช้อินเตอร์เนตในการติดต่อสื่อสาร การบริโภคสื่อออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการซื้อของออนไลน์ หรือกลุ่มที่ทำด้าน Hardware พวกชิปชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เช่น Micron หรือ NVIDIA ที่เติบโตจากแนวโน้มของ Internet of Things รวมถึงกระแสของการขุดเหมืองสกุลเงินดิจิตอลต่างๆ
พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นคล้ายกันกับในฝั่งของประเทศจีนที่มีแนวโน้มการเติบโตขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกตามสหรัฐฯ ซึ่งหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของจีนที่เป็นบริษัท Internet เช่น Tencent Alibaba Baidu หรือกลุ่ม BAT ก็มีการปรับตัวขึ้นมาแรงและเป็นกลุ่มที่นำตลาดเช่นเดียวกันกับกลุ่ม FANG เนื่องจากการเติบโตของกำไรในระดับสูง จากการที่สินค้าและบริการของบริษัทเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างมากมายโดยเฉพาะคนจีนและมีการขยายไปในอีกหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การบริโภคสื่อออนไลน์ การเล่นเกม การค้นหาข้อมูลออนไลน์ หรือการซื้อของออนไลน์
นอกจากนี้หุ้นในประเทศฝั่งเอเชียที่มีธุรกิจเทคโนโลยีผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆก็มีการปรับตัวขึ้นโดดเด่นเช่นกัน เช่น Taiwan Semiconductor ในไต้หวัน หรือ Samsung ในเกาหลีใต้ ที่น่าสนใจก็คือมูลค่ากิจการของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้มีการเติบโตขึ้นมาจนมีขนาดใหญ่มาก หากเราพิจารณาสัดส่วนของหุ้นในกลุ่มของตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) นั้น ในปี 2017 ที่ผ่านมากลายเป็นว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีกลายมาเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนสูงสุดแทนกลุ่มการเงินเสียแล้ว แนวโน้มดังกล่าวทำให้น่าคิดว่าหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี หรือกลุ่มบริษัทที่มีสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่น่าจะมีโอกาสในการเติบโตที่สูงหากบริษัทเหล่านั้นมีความสามารถในการแข่งขันได้ดีพอ
ไปดูกันในฟากฝั่งยุโรปกันบ้าง
หุ้นในกลุ่ม New Economy ของยุโรป หากเราไม่พูดถึงกลุ่มเทคโนโลยี ก็น่าจะนึกถึงธุรกิจแบรนด์สินค้าเสื้อผ้าแฟชั่นต่างๆที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เช่น Kering ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ดังอย่าง Balenciaga Gucci ที่ล่าสุดกลับมาฮิตร้อนแรงมาก หรือ LVMH เจ้าของแบรนด์ดังอย่าง Louis Vuitton ที่มีราคาหุ้นปรับตัวขึ้นร้อนแรงนำตลาดเช่นกัน
ย้อนกลับมาดูที่ไทยของเรา
วันนี้เองเราจะเห็นว่าเริ่มมีบริษัททางด้านเทคโนโลยีทยอยเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยกันบ้างแล้ว ซึ่งสังเกตได้เช่นกันว่าบริษัทเหล่านี้ที่มีความสามารถในการแข่งขันที่มากพอ มีกำไรเติบโตสม่ำเสมอ ก็มีราคาหุ้นที่ปรับตัวนำขึ้นไปโดดเด่นเช่นเดียวกันกับบริษัทเทคโนโลยีที่เป็นกลุ่ม New Economy ในต่างประเทศ
อาจจะต่างกันที่ว่าบริษัทเทคโนโลยีเหล่านั้นในต่างประเทศสามารถเติบโตจนก้าวข้ามมาเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดของประเทศนั้นๆได้แล้ว ในขณะที่ไทยเองหลายบริษัทยังคงมีขนาดเล็กอยู่ แต่ก็น่าจะมีทิศทางการเติบโตไปได้เช่นเดียวกับในต่างประเทศสำหรับบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขัน
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในภาพใหญ่ขึ้นมาหน่อย กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีอาจจะยังไม่ได้โดดเด่นและเป็นตัวแทนของ New Economy ในประเทศไทยได้ชัดเจนมากนัก แต่กลับกลายเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มท่องเที่ยวที่นับวันจะมีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจไทยสูงขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เราได้เห็นพฤติกรรมของหุ้นสนามบิน หุ้นโรงแรม หุ้นเครื่องสำอางที่มีตลาดเป็นนักท่องเที่ยวจีน ที่มีความสามารถในการแข่งขัน ต่างพากันปรับตัวกันขึ้นมาอย่างโดดเด่นเช่นเดียวกันกับหุ้นในกลุ่ม New Economy ในต่างประเทศ และทั้งหมดนี้ก็เป็นอีกข้อสังเกตที่ทำให้เราได้เห็นถึงพฤติกรรมการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม New Economy ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย และอาจใช้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์คัดเลือกหุ้นเพื่อการลงทุนได้เช่นกัน
โดย Vorayuth