แน่นอนว่าเพื่อนๆ ทุกคนลงทุนก็เพราะหวังว่าวันหนึ่งเราจะเก็บเกี่ยวผลผลิตจากสินทรัพย์ที่เราลงทุน จะระยะสั้นระยะยาว ความเสี่ยงต่ำหรือสูง ก็มีกันอยู่หลากหลาย แต่เหตุผลที่เราใช้ในการเลือกลงทุนในสินทรัพย์นั้นๆ มันมาจากกระบวนการความคิดที่ถูกต้องแล้ว หรือมาจากความเชื่อที่เลื่อนลอย เรามาเช็กความเข้าใจกันสักหน่อยดีกว่า โดยเริ่มจากพื้นฐานก่อนเลย

1. สิ่งที่ต้องเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน

การลงทุนไม่ได้ทำให้เรารวย แต่เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่เรามี ยิ่งเงินต้นมาก ก็ยิ่งได้ผลตอบแทน หรือขาดทุนมากตาม ยกตัวอย่างง่ายๆ ระหว่างคนที่ลงทุนด้วยเงินต้น 50,000 บาท ถึงแม้จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนมากถึง 20% หรือคิดเป็นเงิน 10,000 บาท ก็ไม่สามารถเทียบได้เลยกับคนที่ลงทุนด้วยเงิน 10,000,000 บาท ที่ถึงแม้ว่าจะได้ผลตอบแทนเพียง 2% ก็สามารถสร้างรายได้มากถึง 200,000 บาท แล้ว สิ่งที่จะทำให้เรารวยขึ้นคือการออมเงิน หรือก็คือการเพิ่มพูนเงินต้นนั่นเอง เพราะยิ่งเงินต้นมาก การลงทุนก็เห็นผลมากตามนั่นเอง

2. สิ่งที่ต้องถามตัวเองก่อนจะลงทุน

เป้าหมายในการลงทุนของคุณคืออะไร? ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อ ซื้อบ้าน, อิสรภาพทางการเงิน, ค่าเทอม หรือเงินที่จะไว้ใช้ในยามเกษียณ เพราะการลงทุนอย่างไม่มีเป้าหมาย จะทำให้เราหลงทางเผลอบินเข้ากองไฟได้ และการมีเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้เราสามารถวางแผนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มโอกาสที่เราบรรลุเป้าหมายให้มากขึ้นจากการวางแผนที่ชัดเจน

หลังจากที่มีเป้าหมายของการลงทุน สิ่งที่เราต้องสามารถตอบกับตัวเองได้คือ ระดับความสำคัญ และระยะเวลาที่สามารถรอได้ ของเป้าหมายนั้นๆ เพื่อที่จะได้สามารถเลือกระดับความเสี่ยง และเงินที่ต้องออมได้อย่างเหมาะสม

+/- 1 ปี หมายถึง เงินลงทุนควรจะถึงเป้าตามระยะเวลาที่เรากำหนดไว้ตอนแรก หรืออาจจะช้ากว่าแต่ไม่ควรช้าเกิน 1 ปี แปลง่ายๆ คือ มีระยะเวลาที่ต้องการเก็บเกี่ยวเงินลงทุนที่ชัดเจนไม่สามารถรอได้ในกรณีที่ “ติดดอย” ในขณะที่ +/- 5 ปี หมายถึง เงินลงทุนจะก่อนหรือหลังเป้าหมายสัก 5 ปี ก็ไม่เดือดร้อนเท่าไหร่

ยกตัวอย่างเช่น ค่าเทอมตอนลูกจะเข้าเรียนมหาลัย ซึ่งเป็นเป้าหมายที่จะส่งผลต่อการพัฒนาการของลูกอย่างมาก จึงจัดว่าเป็นเป้าหมายที่มีความสำคัญสูง และมีระยะเวลาที่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน หรือที่เรียกว่าเป็นเป้าหมายที่ห้ามผิดพลาด ซึ่งหมายความว่า เราก็ควรที่จะจัดพอร์ตที่มีระดับความเสี่ยงที่ต่ำด้วยการกระจายความเสี่ยงหรือหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก เพราะถ้าหากว่าสินทรัพย์นั้นอยู่ในช่วงขาลงในวันที่เราต้องจ่ายค่าเทอม อาจจะทำให้เราไม่เหลือเงินมากพอที่จะจ่ายให้ลูกได้ สำหรับเพื่อนๆที่ยังไม่เห็นภาพว่าทำไมความเสี่ยงถึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามลองอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “คุณลงทุนแบบรอวันเจ๊งอยู่หรือเปล่า?

3. สิ่งที่นักลงทุนหลายคนพลาด

หลังจากที่มีเป้าหมาย, ระยะเวลาที่กำหนด และระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมอย่างชัดเจนแล้ว สิ่งที่นักลงทุนหลายคนเจอคือ ผลตอบแทนที่คาดหวัง ไม่สูงพอที่จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ แล้วเพื่อนๆ บางคนก็จะเกิดความคิดที่ว่าการเพิ่มระดับความเสี่ยงคือคำตอบ โดยหวังว่าการเพิ่มความเสี่ยงนั้นจะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นมากตาม

ไหนๆ มีใครคิดแบบนี้บ้าง ยอมรับมาซะดีๆ

การคิดแบบนี้อาจทำให้เราเจ๊งได้ สาเหตุก็เพราะว่า การลงทุนที่ความเสี่ยงสูงขึ้น เราไม่ได้เพียงแต่เพิ่มโอกาสที่จะได้รับกำไรมากขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่โอกาสที่เราจะขาดทุนก็มากขึ้นตามเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลต่อระยะเวลา “เก็บเกี่ยวผลผลิต” ทำให้มีความไม่แน่นอนสูงขึ้นตาม แล้วยิ่งถ้าเป็นเป้าหมายที่สำคัญ และเรามีความจำเป็นต้องใช้เงินเดี๋ยวนั้นยิ่งแย่ใหญ่

ลองคิดภาพตามว่าถ้าเราสอบติดปริญาโทหรือเอกในมหาวิทยาลัยต่างประเทศชื่อดัง แล้วจำเป็นต้องใช้เงินก้อนนี้ แต่ดันอยู่ในช่วงขาลง หรือติดดอยอยู่ กลายเป็นว่าเราต้องตัดใจขาย ทั้งๆ ที่ติดดอย ส่วนเงินที่ยังขาดอยู่ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินอีก แต่แน่นอนว่าเหรียญมันก็ไม่ได้มีแค่ด้านเดียว ซึ่งแปลว่าเราอาจจะได้ผลตอบแทนที่สูงจนทำให้ถึงเป้าก่อนเวลากำหนดก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้มันก็อย่างที่เราบอกไว้ก่อนหน้านี้ว่า เราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเป้าหมายนี้มันสำคัญกับเราแค่ไหน และถ้าสำคัญมากเราจะเอามันไปแขวนบนด้ายจริงๆ หรอ ?

ด้วยสาเหตุนี้เอง วิธีที่ถูกต้องและควรทำจึงเป็น การเพิ่มเงินต้น หรือเงินออมที่เราคอย DCA หรือมาตรวจสอบกันใหม่อีกครั้งว่า เป้าหมายที่เราวางไว้มันเกินตัวเราเกินไปหรือเปล่า?

สรุปแนวคิดง่ายๆ คือ การลงทุนควรเริ่มจากการตั้งเป้าหมาย, ตั้งระดับความสำคัญ และระยะเวลา จากนั้นจึงเลือกระดับความเสี่ยง แล้วจึงคำนวณหาเงินต้นที่ต้องใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

3.5 อะ… แถมให้นิดนึง ก่อนจะแยกย้าย

สุดท้ายคือ คุณมีพร้อมที่จะให้เวลากับการลงทุนมากแค่ไหน? เพราะการลงทุนในสินทรัพย์บางประเภทอาศัยความรู้และความเข้าใจ จึงจะสามารถลงทุนและบริหารความเสี่ยงเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การลงทุนหุ้นจำเป็นต้องมีความเข้าใจที่มากกว่าการลงทุนในกองทุนหุ้น และที่สำคัญการลงทุนอย่างไม่มีความรู้และขาดความเข้าใจก็ไม่ต่างอะไรกับ Mind Set ของการพนัน เพราะเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของความเชื่อเพียงเท่านั้น

TSF2024