หลัก SIX JARS คือ วิธีการจัดสรรการเงินอย่างหนึ่ง ด้วยการเปรียบเทียบการจัดสรรเงินกับเหยือก 6 ใบ เปรียบเหมือนเงินที่เรามีคือน้ำที่เราจะแบ่งใส่ในเหยื่อก แต่ละเหยือกเก็บไว้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน
ตามหลัก SIX JARS เราจะแบ่งเงินลงทุนออกเป็น 6 ส่วน ดังนี้
1. เงินลงทุนเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ (Long-Term Saving for Spending Account) ~ ประมาณ 10-15% ของรายได้
เช่น การเก็บเงินดาวน์บ้าน หรือการศึกษาบุตร เป็นต้น โดยเราอาจจะเก็บเงินในส่วนนี้ประมาณ 10-15% ของรายได้
เงินส่วนนี้อาจจะนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามความเสี่ยงและระยะเวลาที่จะใช้ เช่น เงินเพื่อการดาวน์บ้านอาจจะเริ่มเก็บก่อนคิดจะซื้อบ้านซักระยะหนึ่ง โดยการทยอยแบ่งเงินจากรายได้ประจำมาเก็บไว้ในเงินส่วนนี้อาจจะเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ผลตอบแทนไม่มาก แต่ว่ามีความมั่นคงของเงินต้นสูงด้วย เช่น ตราสารเงิน หรือเงินฝาก เพราะว่าจำเป็นจะต้องใช้ในเวลาไม่นาน
ส่วนเงินเก็บเพื่อการศึกษาบุตรเราอาจจะใช้เวลาวางแผนล่วงหน้าค่อนข้างนาน เช่น ตั้งแต่วางแผนจะมีลูกหรือตั้งแต่แต่งงาน เราก็เริ่มประเมินค่าใช้จ่ายในการศึกษาว่าเป็นประมาณเท่าไหร่ จะแบ่งเงินมาสะสมในส่วนนี้เท่าไหร่ และจะวางแผนการลงทุนในส่วนนี้อย่างไร เนื่องจากจำนวนเงินที่ต้องใช้ในส่วนนี้ค่อนข้างสูง ถ้าเราลงทุนให้ผลตอบแทนดีในระดับหนึ่ง ก็อาจจะประหยัดเงินที่เราต้องใช้ได้มาก แต่ควรเป็นการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีการติดตามการลงทุนอยู่เสมอ มีการปรับความเสี่ยงของสินทรัพย์ให้เหมาะกับระยะเวลาที่ใช้ เช่น ถ้ามีระยะเวลาออมนานอาจจะออมในหุ้นมากหน่อยเพื่อผลตอบแทนที่ดี แต่เมื่อใกล้เวลาที่ต้องใช้เงินก็ปรับสินทรัพย์มาเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น และควรมีแผนสำรอง เช่น วางแผนประกันเพื่อให้ครอบคลุมวงเงินที่ต้องใช้ควบคู่ไปด้วย
2. เงินลงทุนเพื่อการเกษียณ (Financial Freedom Account) ~ ประมาณ 10-20% ของรายได้
ส่วนนี้เป็นเงินลงทุนที่เราจำเป็นต้องใช้เมื่อเกษียณ ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว จึงควรจะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนสูงมากซักหน่อย อาจจะคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 6-10% เพื่อให้เงินลงทุนเติบโตในระยะยาว และอาจจะปรับสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงลงเมื่อใกล้เกษียณ
สำหรับวิธีลงทุน อาจจะทำตามความถนัดของเรา เช่น ลงทุนในกองทุนรวมถ้าเราไม่ได้ถนัดเรื่องการลงทุนมากหรือไม่มีเวลาในการติดตาม หรือในหุ้นรายตัวถ้าเรามีความรู้ในการลงทุนและเวลามากพอ
3. เงินเพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (Necessity Account) ~ ประมาณ 40-55% ของรายได้
ส่วนนี้ควรทำร่วมกับการวางแผนการใช้จ่าย เพื่อให้การใช้จ่ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การเลือกใช้จ่ายอย่างเหมาะสมกับฐานะการเงินของเราก็เป็นวิธีที่ทำให้มีเงินเหลือพอสำหรับเหยือกใบอื่นด้วยครับ
4. เงินเพื่อการพัฒนาตัวเอง (Education Account) ~ ประมาณ 10% ของรายได้
การพัฒนาตัวเองไม่ว่าจะด้านการทำงานหรือว่าทักษะอื่นๆ นับว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะอาจจะช่วยทำให้หน้าที่การงานก้าวหน้าขึ้น ทำให้รายได้มากขึ้น หรือว่าเป็นทักษะเสริมอื่นๆ ที่เป็นความสามารถเฉพาะตัวของเราไป ที่ใช้หารายได้เสริมได้ เช่น ถ้าคุณถ่ายรูปเก่งอาจจะถ่ายรูปขายตามเว็บไซต์รูปภาพ เป็นต้น
เงินในส่วนนี้ อาจจะเป็นเงินสำหรับการซื้อหนังสือแนวที่เราชอบ ลงคอร์สอบรมที่สนใจ หรือว่าการสอบใบอนุญาตต่างๆ ที่จำเป็นกับการประกอบอาชีพ เป็นต้น
5. เงินเพื่อการให้ (Give Account) ~ ประมาณ 5% ของรายได้
แน่นอนว่าเมื่อเรามีเงินเหลือจากการใช้จ่ายด้านต่างๆ เราควรมีการแบ่งปันให้กับคนที่ลำบากหรือมีโอกาสน้อยกว่าเรา เพื่อให้สังคมน่าอยู่ขึ้น โดยเราอาจจะเลือกบริจากให้โรงพยาบาล หรือมูลนิธิต่างๆ ก็ได้ นอกจากนี้เงินในส่วนนี้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย (เงินบริจาคเพื่อการศึกษาสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นนะครับ)
6. เงินเพื่อการใช้จ่ายเพื่อให้รางวัลตัวเอง (Play Account) ~ ประมาณ 10% ของรายได้
หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานและภารกิจในชีวิตประจำวันแล้ว การพักผ่อนและการให้รางวัลตัวเองก็ทำให้เรามีกำลังใจในการก้าวต่อไปเช่นกัน โดยเราอาจจะแบ่งเงินเพื่อการไปเที่ยวพักผ่อนประจำปีกับครอบครัว ซึ่งนอกจากจะได้ประสบการณ์ในการไปท่องเที่ยวในสถานที่ใหม่ๆ แล้วยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย หรือการซื้อของที่อยากได้ ร้านอาหารที่อยากกินซักครั้ง แต่ทั้งนี้การใช้เงินในส่วนนี้ควรอยู่ในสัดส่วนที่ไม่มากจนทำให้เงินเก็บในส่วนอื่นน้อยลงไปมากนะครับ
เงินทั้ง 6 ส่วน จะมีระยะเวลาในการใช้และวิธีการเก็บหรือลงทุนต่างกัน
เราอาจจะแบ่งเงินลงทุนโดยใช้วิธีการเปิดบัญชี 6 บัญชี แต่ละบัญชีต่อเงินลงทุนแต่ละส่วนเพื่อแบ่งสัดส่วนการใช้จ่ายให้ชัดเจน อย่างเงินเพื่อการเกษียณเราจะไม่มีการถอนออกมาใช้ระหว่างทางจนกว่าจะถึงเวลาเกษียณจริงๆ เงินการศึกษาบุตรหรือการผ่อนบ้านก็ต้องแบ่งให้ชัดเจน จากเงินส่วนอื่น การเก็บเงินไว้คนละบัญชีทำให้เรารู้ว่าเรามีเงินที่จะใช้ได้ในแต่ละส่วนเท่าไหร่เพื่อให้วางแผนได้ถูกต้องว่าจะใช้จ่ายอย่างไร
ทั้งนี้การที่เราบริหารค่าใช้จ่ายจำเป็นได้ดี รู้จักการนำเงินไปลงทุนและวางแผนเพื่อบริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมก็จะช่วยให้การใช้เงินในแต่ละส่วนของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสบรรลุวัตถุประสงค์ในแต่ละเป้าหมายมากขึ้นด้วย
สุดท้ายนี้การแบ่งเงินลงทุนในเหยือกทั้ง 6 ของแต่ละคนจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลครับ การแบ่งเงินเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการลงทุน หากเราบริหารได้ดีก็เชื่อว่าความสำเร็จทางการเงินก็อยู่ไม่ไกลครับ
อ่านคำศัพท์อื่นๆ ทางการเงินได้ที่ : https://www.finnomena.com/vocab/