ความน่ากลัวของ "กับดักรายได้ปานกลาง": ประเทศไทยจะรอดพ้นไหม?

บทความก่อนๆ เราคุยกันเรื่องการเก็บออมกับการลงทุนกันมาเยอะแล้ว บทความนี้ขอแตะประเด็นใหญ่ๆ บ้าง ผู้เขียนรับรู้เรื่องนี้มาประมาณ 2-3 ปีแล้ว ยังเข้าใจไม่มากแต่เท่าที่รู้ก็พอจะเห็นภาพโดยรวมๆ ของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และความจำเป็นที่จะต้องปรับตัว จึงอยากถ่ายทอดความเข้าใจของตัวเองบางส่วนให้คนอื่นได้ร่วมศึกษาไปด้วยกันครับ

               

รูปที่  1 GNI Per Capita ของประเทศไทย ที่มา : World Bank

กับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) คืออะไร?

กับดักรายได้ปานกลาง คือจุดที่ประเทศพัฒนาเศรษฐกิจจากรายได้น้อย มาสู่ระดับที่มีรายได้มากขึ้น แต่ว่ายังไม่สามารถยกระดับเศรษฐกิจเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้ ซึ่งประเทศไทยเราเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้ปานกลางมาค่อนข้างนานแล้ว ประมาณ 20 ปี แต่ยังไม่สามารถก้าวไปเป็นประเทศรายได้สูงเหมือนเพื่อนบ้านในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือว่าไต้หวัน ที่นำหน้าเรามานานแล้ว ตอนนี้ไทยเราคือประเทศกำลังพัฒนา มี GNI Per Capita อยู่ที่ 5,960 USD นับเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (High middle-income countries) ซึ่งโดยปกติแล้วประเทศกำลังพัฒนาจะมี GNI Per Capita ระหว่าง 766 – 9,375 USD

เมื่อเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจ โดยทั่วไปประเทศรายได้น้อยจะเปลี่ยนจากสังคมเกษตรมาสู่อุตสาหกรรมด้วยการเริ่มสร้างอุตสาหกรรมเบา (Light Industrial) ขึ้นมาก่อน เช่น การทอผ้า ฟอกหนัง เครื่องประดับ เป็นต้น แล้วค่อยพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นต่อไปขึ้นมา

แม้ว่าตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยจะพัฒนามาสู่อุตสาหกรรมหนักแล้ว แต่ส่วนมากยังเป็นการรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับแบรนด์ต่างประเทศมากว่า มีส่วนน้อยที่สร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง สินค้าส่วนมากยังไม่มีนวัตกรรมมากนัก ทำให้ขายสินค้าได้ราคาไม่สูงนัก อำนาจการต่อรองขึ้นกับคู่ค้ารายใหญ่มากกว่าประกอบกับค่าแรงขั้นต่ำของไทยซึ่งปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ทำให้ความสามารถในการแข่งขันต่ำลงเพราะว่าต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

ลองนึกภาพเราเป็นโรงงานรับจ้างทำสินค้าให้บริษัทใหญ่ที่มีแบรนด์ของตัวเอง บริษัทที่มาจ้างเราอาจจะสามารถไปจ้างที่อื่นผลิตก็ได้ และเจ้าของสินค้าก็ต้องการอัตรากำไรในระดับที่น่าพอใจ ดังนั้นโรงงานที่รับจ้างผลิตอย่างเราอาจจะได้ค่าจ้างแค่พอคุ้มทุนเท่านั้น ต่างกับการที่เราผลิตสินค้าขายเอง ถ้าสินค้าเป็นที่นิยมเราก็สามารถตั้งราคาขายได้สูง ได้กำไรมากขึ้น

การไม่มีแบรนด์สินค้า กับนวัตกรรมที่มากพอ ทำให้เราขายสินค้าแข่งกับประเทศที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ยากเพราะผู้บริโภคนิยมใช้สินค้าของประเทศเหล่านี้มากกว่า จากชื่อเสียงของแบรนด์ คุณภาพและนวัตกรรม ยังไม่นับรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่ใช้เงินลงทุนน้อย และแทบไม่ต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินอะไรเลย แต่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาลอย่างในรูปแบบแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Facebook, LINE, Alibaba, Amazon, TenCent , Grap , Uber, Airbnb เป็นต้น ซึ่งเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของหลายๆ คนไปแล้ว เปลี่ยนโครงสร้างของอุตสาหกรรมต่างๆ ระดับโลกไปอย่างมาก

เม็ดเงินโฆษณาไหลจากสื่อดั้งเดิม เช่น ทีวี นิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ สู่โซเชียลมีเดีย เช่น Facebook บริษัทต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาดทุ่มงบประมาณเพื่อแย่งตลาดค้าปลีกออนไลน์ในไทยกันอย่างดุเดือด (Lazada, Shopee, 11 Street เป็นต้น) บริการเรียกรถอย่าง Grab ก็ช่วยให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้น ค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ธุรกิจส่วนใหญ่ยอมขาดทุนเพื่อดึงดูดลูกค้ามาจากบริษัทขายสินค้าดั้งเดิมและคู่แข่งที่เป็นอีคอมเมิร์ซเหมือนกัน เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด เปลี่ยนพฤติกรรมคนให้ชินกับอีคอมเมิร์ซ

ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านก็เริ่มเปิดประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมากขึ้น โดยสิ่งที่ประเทศเหล่านี้มีความได้เปรียบเมืองไทย คือ ต้นทุนค่าแรงงานที่ยังถูกกว่า และแหล่งทรัพยากรที่สมบูรณ์ พวกเขาจะเริ่มรับจ้างผลิตสินค้าแบบเดียวกับที่เมืองไทยเคยทำมาก่อนหน้า แต่ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า รวมทั้งโครงสร้างประชากรของพวกเขายังเป็นคนวัยทำงานมากกว่าประเทศไทยที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น เด็กเกิดใหม่น้อยลง เท่ากับว่าเรามีคนทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจน้อยลง อาจกล่าวได้ว่าเรากำลังเดินตามประเทศญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวไปแล้ว

แต่ที่ต่างกัน คือ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศรายได้สูงไปก่อนจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทว่าเมืองไทยยังเป็นประเทศรายได้ปานกลาง สิ่งนี้อาจจะส่งผลต่อความสามารถในการเติบโตของเศรษฐกิจและภาระการดูแลผู้สูงอายุที่ยังไม่พร้อมกับการเกษียณ คือ ไม่ได้เก็บเงินไว้เพื่อเกษียณไว้อย่างเพียงพอ เพราะจริงๆ แล้วคนไทยยังออมเงินกันในอัตราที่ค่อนข้างน้อย และยังต้องกู้หนี้ยืมสินอยู่

ปัญหาคือ ประเทศไทยควรจะพัฒนาไปในทิศทางไหน?

เท่าที่ผ่านมารัฐบาลก็อาจจะมองเห็นปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลได้รวบรวมผู้มีความรู้จากหลากหลายอาชีพมาช่วยกันวางนโยบายและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต แม้ว่าในส่วนนี้จะมีเสียงวิจารณ์อยู่บ้าง แต่มันก็แสดงให้เห็นว่ามีการดำเนินการบางอย่างแล้ว ตัวอย่างเช่น

  • การลงทุนครั้งใหญ่เพื่อพัฒนาระบบราง ซึ่งช่วยลดต้นทุนด้านขนส่งลง
  • การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการเดินทางทางอากาศและการขนส่งสินค้าทางเรือเข้ากับระบบราง โดยส่วนนี้ทำเพื่อให้ประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่จุดศูนย์กลางของประเทศ CLMV เป็นจุดเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนเข้ากับประเทศจีน จุดนี้จะทำให้เราได้ประโยชน์จากการดึงดูดการเข้ามาลงทุนของต่างประเทศ
  • การสร้างโครงการ Eastern Economic Corridor หรือ ECC เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่  5 ประเภท และส่งเสริมอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ 5 ประเภท ซึ่งคัดเลือกมาจากอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของประเทศและมีการพัฒนามามากแล้ว เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ยังเติบโตได้ในอัตราที่น่าพอใจต่อไป
  • การแก้กฏระเบียบและกฏหมายบางอย่างเพื่อให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น
  • การให้สิทธิพิเศษทางภาษีผ่าน Board of Investment (BOI)  เช่น การยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลาหลายปีในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลส่งเสริม
  • การให้สิทธิประโยชน์บางอย่างกับคนที่มีความรู้หรือทักษะเฉพาะด้าน เพื่อดึงดูดบริษัทและผู้มีความรู้จากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนและทำงานในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ให้กับคนในประเทศต่อไป

สำหรับอนาคตข้างหน้า อาจจะมีสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงมากมายในอัตราที่เร็วกว่าในอดีตมาก สิ่งที่สำคัญมากๆ ที่ต้องพัฒนา คือ การพัฒนาศักยภาพของคน โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาและวางหลักสูตรที่ทันสมัย เข้ากับโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป สร้างทักษะสำหรับการทำงานในยุคหน้า ที่เป็นการทำงานในลักษณะของผู้พัฒนา ผู้ออกแบบ หรือการทำงานกับ AI เช่น นักพัฒนาระบบ ที่นอกจากจะเขียนโปรแกรมได้แล้ว ยังต้องสามารออกแบบหน้าตาของระบบ วางโครงสร้างการเก็บข้อมูล ออกแบบ User Interface และเขียนโปรแกรมเองได้, งาน Data Scientist ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ Big Data หรืองานด้านที่ AI ยังทำไม่ได้ เช่น การทำงานที่ต้องอาศัยการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ที่อาศัยการเข้าใจจิตใจและอารมณ์ความรู้สึกของคน อย่างนักจิตวิทยา เป็นต้น

วิธีอื่นๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาประเทศได้ ตัวอย่างเช่น

  • การสร้างนิสัยในการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่นักศึกษา เพราะจะทำให้คนรู้จักปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
  • การทำให้ทั้งคนและภาคธุรกิจรู้จักการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้เพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในด้านต่างๆ
  • การส่งเสริมการวิจัยพัฒนา (Research and Development, R&D) เพื่อพัฒนาแบรนด์สินค้าของเราเอง
  • การแก้ปัญหาเรื่องรายได้และฐานะความเป็นอยู่ของคนในประเทศ เช่น การปรับกฏเกณฑ์บางอย่างเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ อย่างการยืดอายุเกษียณ
  • การสนับสนุนการออมและการลงทุนอย่างถูกต้อง
  • การมีข้อบังคับให้มีกองทุนเพื่อการเกษียณ (แม้ว่าบางส่วนจะมีความไม่เห็นด้วยที่กองทุนนี้บริหารโดยรัฐบาล)
  • การส่งเสริมคนรายได้น้อยและสังคมชนบท อย่างโครงการธนาคารชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการเงินให้ชุมชนพึ่งพาตัวเอง เป็นการปลูกฝังเรื่องการออมและลดปัญหาเรื่องหนี้สินให้ได้ ก่อนจะพัฒนาไปสู่การยกระดับทักษะและรายได้ต่อไป เป็นต้น

แม้หลายคนยังมีคำถามว่าเราเดินมาถูกทางหรือไม่ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ดำเนินการมาแล้วด้วยเจตนาที่ดี เราคงได้แต่ติดตามดู พยายามปรับตัวและพัฒนาตัวเองต่อไป หรือร่วมออกความเห็นในแนวทางการพัฒนา โดยหวังว่าที่สุดแล้วความพยายามทั้งหมดจะนำเราไปสู่ประเทศรายได้สูงได้สำเร็จ

ข้อมูลอ้างอิง

https://tdri.or.th/2013/04/tdri-channel-middle-income-trap/
https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2012/12/t5j2012-somchai.pdf
http://www.econ.tu.ac.th
https://data.worldbank.org
https://www.weforum.org
https://www.itisablogsite.com
https://thaipublica.org/2015/11/kanis-boi/
http://www.realist.co.th
http://www.lrct.go.th
https://waymagazine.org/family_aging_society/

TSF2024