เคยมีคนเปรียบเทียบว่าการลงทุนก็เหมือนการปลูกต้นไม้ที่เราต้องคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ มาปลูกคอยดูแล รดน้ำ พรวนดิน กำจัดวัชพืช จนต้นไม้เติบโตและให้ผลมาทาน ซึ่งสำหรับการลงทุนระยะยาวตามปัจจัยพื้นฐานก็อาจจะเปรียบได้กับการปลูกต้นไม้จริงๆ แต่เนื่องจากเดือนนี้คือเดือนแห่งความรัก ผมก็จะขอเปรียบเทียบการลงทุนเป็นเหมือนการเลือกคู่ชีวิตดีกว่านะครับ
ถ้าเปรียบเทียบการลงทุนกับความรัก การเลือกหุ้นสักตัวอาจจะเหมือนการเลือกคนรักที่เราจะอยู่ด้วยไปตราบนานเท่านาน การซื้อแล้วถือหุ้นเหมือนการแต่งงาน จะต่างกันตรงที่ในการแต่งงานจริงเราแต่งแล้วอยู่ด้วยกันตลอดไป แต่สำหรับหุ้นเราจะขายเมื่อพื้นฐานเปลี่ยน เราคาดผิด หรือเราเจอหุ้นที่ดีกว่าแล้วมีเงินไม่พอ ดังนั้นถ้าเปรียบเทียบการลงทุนเหมือนกับความรักแล้ว การเลือกหุ้นสักตัวเราก็ควรศึกษาให้เข้าใจบริษัทในทุกแง่ทุกมุม เหมือนเราคบหาดูใจกับคนรักให้รู้จักกันจริงๆ ก่อนจะแต่งงาน อาจจะต้องใช้เวลา ความพยายามและความอดทนมาก แต่ก็จะทำให้เรามั่นใจจริงๆ และสามารถถือหุ้นบริษัทได้อย่างสบายใจเหมือนกับการอยู่กับคนที่เราเลือกมาแล้วอย่างดีนั่นเอง
เอาล่ะ ขั้นตอนแรก เวลาเราจะเลือกใครสักคนเราก็ต้องไปจีบเขาถูกไหมครับ แต่ก่อนจะจีบเราก็น่าจะมีจุดที่เราประทับใจคนคนนั้นก่อน การที่เราประทับใจใครสักคนก็อาจจะมาจากหลายๆ สาเหตุ เช่น เราไปเที่ยวกับเพื่อนเราแล้วเจอเพื่อนของเพื่อนที่สวยน่ารักมากแล้วเราถูกใจ เราเจอสาวสวยน่ารักคนหนึ่งตอนเรากำลังขึ้นรถไฟฟ้ากลับบ้านทุกวันจนอยากจะรู้จักกัน เราถูกใจสาวดาวคณะที่ใครๆ ก็อยากจีบ หรือสำหรับบางคนอาจจะเริ่มจากการเป็นเพื่อนกันมาแล้ววันหนึ่งเราพบว่าเราไม่ได้อยากจะเป็นแค่เพื่อนแล้วก็ เลยตัดสินใจขอเปลี่ยนสถานะ
สำหรับหุ้น การที่เรารู้จักหุ้นสักตัวอาจจะมาจากการที่เราถามเพื่อนแล้วเพื่อนแนะนำหุ้นเด็ดมาให้ การค้นพบหุ้นจากกิจการที่เราใช้บริการทุกวันแล้วพบว่าคนซื้อของเขาเยอะมาก เราเลยสนใจว่าบริษัทอยู่ในตลาดหุ้นไหม ไม่ก็อาจจะเป็นหุ้นดังที่ใครต่อใครพูดถึง หรือเราทำงานแล้วพบว่าเรามีความสุขในการทำงานดี กิจการบริษัทก็ดีวันดีคืน แล้วพอดีบริษัทเราเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีก แบบนี้เราก็อาจจะอยากเปลี่ยนสถานะจากแค่พนักงานเป็นเจ้าของกิจการบางส่วน ผ่านการถือหุ้นของบริษัทก็ได้
เมื่อเริ่มประทับใจแล้วก็ต้องทำความรู้จักกันเพิ่มขึ้น ปกติเวลาเราอยากรู้จักใครมากขึ้นก็อาจจะหาทางเข้าไปทำความรู้จัก อาจจะให้เพื่อนแนะนำให้ เดินเข้าไปลองถามเวลาหรือเส้นทางแล้วหาทางคุยยาวๆ ต่อ ไปซื้อบัตรจับมือ (อันนี้ได้เฉพาะน้องๆ BNK เท่านั้นนะครับ 555) หรือเริ่มคุยแบบเพื่อนไปก่อนแต่ก็ดูท่าทีและแสดงออกบ้างว่าเราสนใจเขา เป็นต้น
สำหรับหุ้นเวลาเราอยากจะทำความรู้จักมากขึ้นอาจจะง่ายกว่านั้นมากครับ เพราะสามารถดูข้อมูลบริษัทหลายๆอย่างได้จาก Factsheet ที่รวบรวมข้อมูลโดยสรุปในหน้าเดียวของหุ้นไว้ ทั้งลักษณะธุรกิจ รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ รายชื่อคณะกรรมการบริษัท วันที่เข้า IPO ราคา PAR งบการเงินแบบสรุป (แต่ก็สามารถดูตัวเต็มเพิ่มได้ด้วย) อัตราส่วนทางการเงินแบบคร่าวๆ และข้อมูลเบื้องต้นอื่นๆ พอจะทำให้เราได้ทำความรู้จักกับบริษัทที่เราสนใจได้ดีมากขึ้น
พอเริ่มทำความรู้จักแล้วขั้นต่อไปคือทำความคุ้นเคยและศึกษากันในเชิงลึกมากขึ้น ถ้าเป็นคนที่เราจีบก็อาจจะลองคุยกันบ่อยๆ หาเวลาไปทานข้าว ดูหนัง หรือไปเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น สำหรับหุ้นการรู้จักกันในเชิงลึกขึ้นก็อย่างเช่น
- ลองหารายงานประจำปี หรือ แบบ 56-1 มาลองอ่านดู ในนี้บอกเรื่องราวทุกอย่างของบริษัท เช่น ลักษณะของธุรกิจ รายได้และกำไรในปีล่าสุดเทียบกับปีก่อนหน้า อัตราส่วนรายได้และกำไรของบริษัทตามธุรกิจที่มี เช่น บริษัทสร้างบ้านก็มีรายได้จากการสร้างบ้านขาย แต่ก็มีรายได้จากส่วนที่ทำเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ให้เช่าด้วย เป็นต้น ส่วนนี้จะบอกถึงว่าบริษัทมีการกระจายความเสี่ยงของรายได้หรือไม่ และรายได้ส่วนไหนส่งผ่านมาเป็นกำไรมากกว่ากัน ตรงนี้จะมาขยายความในโอกาสหน้าแล้วกันครับ
- การเข้าร่วม Opportunity day ก็ทำให้เรารู้จักกับบริษัทในแง่มุมที่ลึกซึ้งขึ้น อันนี้เหมือนกับไปรู้จักพ่อแม่คนที่เราสนใจเลยทีเดียว เพราะใน Opportunity day จะมีผู้บริหารมาให้ข้อมูลบริษัทและพูดคุยตอบคำถามเรา โอกาสแบบนี้หาได้ยากสำหรับบริษัททั่วไป แต่เป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่ลงทุนในบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ
- การลองเดินสำรวจกิจการหรือเข้าเยี่ยมชมกิจการ (Company Visit) อันนี้เหมือนไปเที่ยวบ้านคนที่เราสนใจเลยทีเดียวครับ
เมื่อศึกษากันจนรู้ใจกันดีแล้วก็อาจจะถึงเวลาคบเป็นแฟนหรือตกลงปลงใจจะแต่งงานกันแล้วครับ ตรงนี้สำหรับหุ้นเหมือนการที่เราตั้ง Bid (ซื้อ) เพื่อซื้อแล้วมีคนตั้ง Offer (ขาย) มา Match กัน พอ Match กันแล้วเท่ากับเราเป็นเจ้าของหุ้นแล้วครับ ตรงนี้เหมือนการใช้ชีวิตร่วมกันของคู่รัก แต่จะต่างกันตรงในการแต่งงานจริงเราแต่งแล้วอยู่ด้วยกันตลอดไป และแต่งงานกับคนแค่เพียงคนเดียว แต่สำหรับหุ้นเราอาจจะขายในวันใดวันหนึ่ง และเราสามารถถือหุ้นได้มากกว่า 1 ตัวเพื่อกระจายความเสี่ยง
หลังจากแต่งงานแล้วเราก็ต้องมาใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน และคอยติดตามเอาใจใส่คนรักของเรา ดูแลกันและกันถูกไหมครับ เหมือนกับเมื่อเราซื้อหุ้นของบริษัทไหนมาแล้วเราก็ต้องคอยติดตามข่าวคราว และผลประกอบการของบริษัทอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาส ประชุมผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอ เดินสำรวจกิจการบ้าง ติดตามข่าวคราวทั้งทางเศรษฐกิจ กฎเกณฑ์ของรัฐ ภาวะในอุตสาหกรรม และปัจจัยอื่นๆ เพื่อให้รู้ว่าตอนนี้มีอะไรเกิดขึ้น เกิดจากสาเหตุใดและจะมีผลต่อบริษัทอย่างไรในอนาคต เพื่อนำมาประเมินว่าพื้นฐานบริษัทจะเป็นแบบเดิมไหม เป็นต้น
ในการลงทุนเมื่อเราค้นพบว่าบริษัทที่เราลงทุนไม่เป็นอย่างที่เราคิดไว้ เราก็อาจจะพิจารณาขายหรือลดสัดส่วนการลงทุนลง แต่ในเรื่องความรักเมื่อเราตัดสินใจร่วมชีวิตกันแล้ว เราก็ควรอยู่ร่วมกันไปตลอดไม่ว่าจะเป็นอย่างไร คอยช่วยเหลือและสนับสนุนให้เขาดีขึ้น หรือว่าดีเหมือนเดิมไปตลอดถูกไหมครับ
สิ่งที่ต่างกันระหว่างการลงทุนกับความรักอีกอย่างคือการลงทุนเราต้องคิดทุกอย่างด้วยเหตุและผล หลีกเลี่ยงการใช้อารมรณ์มาตัดสินใจ แต่ในเรื่องความรักเราอาจจะต้องใช้อารมณ์และความรู้สึกร่วมกับเหตุผล เพื่อทำให้ชีวิตรักมีความสุขและอยู่ยาวนาน
จบไปแล้วสำหรับความรักกับการลงทุนที่มีทั้งส่วนเหมือนและต่างกัน สุดท้ายนี้หวังว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องการลงทุนและชีวิตรักนะครับ
Happy Valentine’s day
Investment Reader