ทุกท่านคงเคยได้ยินมาว่าการเก็บเงินไว้เฉยๆ จะทำให้มูลค่าของเงินลดลงไปใช่ไหมครับ?

อย่างที่รู้กันว่าเงินเฟ้ออ่อนๆ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ดีกว่าเงินฝืดที่ทำให้คนไม่อยากใช้จ่ายเพราะว่าเงินมีมูลค่ามากขึ้น จึงเก็บเงินไว้ดีกว่าใช้จ่าย ทำให้เศรษฐกิจไม่เติบโต ประเทศที่เจอปัญหานี้มายาวนานคือญี่ปุ่นครับ ส่งผลให้ตลาดหุ้นไม่ค่อยไปไหนด้วย

ส่วนเงินเฟ้อที่มากเกินไป  ก็ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น ภาวะ Hyperinflation โดยประเทศที่ประสบปัญหานื้คือซิมบับเวย์ ที่คนต้องหอบเงินเป็นถุงๆ ไปซื้อของ ซึ่งภาวะนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2530 แต่ไปรุนแรงสุดที่ปี 2551-2552

สำหรับการประมาณราคาสินค้าในอนาคต อาจจะทำได้โดยการใช้สูตร Future Value หรือ FV

ถ้าเงินเฟ้อ 3% ต่อปี อีก 10 ปี ราคาสินค้าชิ้นหนึ่งราคา 1,000 บาท จะกลายเป็น 1,342 บาท หรือเพิ่มขึ้น 34.39%

แต่รู้ไหมอัตราเงินเฟ้อของสินค้าแต่ละประเภทมีอัตราเพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน! อย่าง ข้าวแกง หรือ ก๋วยเตี๋ยว อาจจะมีอัตราเพิ่มขึ้นของราคามากกว่า 3% ซึ่งอาจจะเป็น 5-6% แล้วราคาอาหารจานเดียวแบบนี้ละที่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของพวกเรา

สมมติว่าราคาอาหารตอนนี้จานละ 40 บาท อีก 10 ปีจะเป็น 65 บาท หรือเพิ่มขึ้น 62.89% (ตัวเลขสมมติ) การที่เงินเฟ้อทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้เราต้องเผื่อมูลค่าเงินเฟ้อไว้ในเงินที่จะใช้ในอนาคต อย่างการวางแผนการออมและการลงทุนด้วยครับ

เช่น ถ้าอายุ 30 ตั้งใจจะเก็บเงินเพื่อเกษียณ 10 ล้านบาทในเวลา 30 ปี แล้วมีเงินเฟ้อ 3 % ต่อปี มีเวลาทำงาน 30 ปี ต้องเก็บเงินเดือนละประมาณ 28,000 บาท  แต่มูลค่าของเงิน 10 ล้านในอีก 30 ปีข้างหน้าจะเหลือแค่ประมาณ 4,200,000 บาท เท่านั้น ถ้าเรานำเงินจำนวนนี้มาทยอยใช้ไปเรื่อยๆ สมมติว่าอีก 20 ปี เราจะมีเงินใช้เดือนละ ประมาณ 17,300 บาท แต่ต้องไม่ลืมว่ามูลค่าของเงินก้อนนี้ก็จะลดลงตามอัตราเงินเฟ้อที่มากขึ้นเช่นกัน

ดังนั้นเราควรทำอย่างไรเพื่อให้มีเงินใช้ตอนเกษียณเพียงพอ?

1. เราอาจจะลงทุนไปในระหว่างเก็บเงินด้วย

เช่น ถ้าเราออมแค่เดือนละ 6,900 บาท แต่ว่านำเงินที่ออมไปทยอยลงทุนให้ได้ผลตอบทบต้นเฉลี่ยปีละ 8% เราก็สามารถมีเงินเกษียณ 10 ล้านบาทได้ตอนครบปีที่ 30 เช่นกัน จะเห็นได้ว่าใช้เงินเก็บต่อเดือนน้อยกว่ามาก แล้วถ้าสมมติว่าเงินเดือนขึ้นปีละ 5% และเราก็ออมเพิ่มขี้น 5%  เช่นกัน จะให้เรามีเงินเกษียณที่ 17 ล้านบาทเลยทีเดียว ถ้าคิดเป็นมูลค่าเงินในอนาคตก็ประมาณ 7 ล้านบาท หรือประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน จะเห็นได้ว่าเรามีเงินเกษียณมากขึ้นเยอะทีเดียว

2. นำเงินก้อนจากการลงทุนที่ได้หลังจากเกษียณ ไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ

ทั้งนี้เพื่อรักษามูลค่าของเงินไว้ หรืออาจจะหาผลตอบแทนในรูปปันผลประมาณ 4-5% เพื่อยังรักษาเงินต้นไว้แล้วนำเงินปันผลมาใช้จ่ายแทนก็ได้

3. ในระหว่างทางที่เก็บเงินเกษียณ ควรมีการวางแผนสำรองสำหรับปกป้องเงินเกษียณ

อย่างเช่น การประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพไว้ด้วย เพื่อเป็นการโอนเรื่องค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทประกัน แทนที่เราจะต้องนำเงินที่เก็บสะสมเพื่อเกษียณมาใช้ก่อน

4. วิธีการออมที่ดี คือ การจ่ายให้ตัวเองก่อน  

พอเงินเดือนออกก็กันเงินส่วนที่จะลงทุนไปไว้ในอีกบัญชีหนึ่งเลย เพื่อให้เราไม่เผลอใช้เงินส่วนนี้ไป โดยอาจจะเริ่มออมจากน้อยๆ ก่อนแล้วค่อยออมมากขึ้นก็ได้

5. การมีเงินสำรองฉุกเฉินไว้เผื่อ ประมาณ 6-12 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน

กรณีฉุกเฉินต่างๆ เช่น อาจจะเปลี่ยนงานแล้วหางานทำไม่ได้หลายเดือน หรือเจ็บป่วยจะต้องหยุดงาน ก็จะทำให้เรายังมีเงินสำรองส่วนนี้ไว้ใช้จ่ายในช่วงนั้น

6. ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุน

รวมถึงการบริหารความเสี่ยงและการวางแผนทางการเงิน หรือ อาจจะมองหาผู้ให้บริการแนะนำการลงทุนที่เชื่อใจได้เพื่อทำให้การลงทุนบรรลุเป้าหมาย อย่างไรก็ดีส่วนนี้เราอาจจะทำควบคู่กันไปได้  และสมัยนี้เราสามารถวางแผนเองบางส่วนและให้มืออาชีพจัดการเรื่องการลงทุนให้ก็ได้

7. บริหารการใช้จ่าย เพื่อให้มีเงินเหลือเก็บสำหรับออมมากขึ้น

บางทีการบริหารค่าใช้จ่ายอาจจะไม่ได้หมายความว่าต้องซื้อแค่สินค้าราคาถูกเท่านั้นครับ เราอาจจะมองหาโปรโมชั่นหรืออดใจไว้ซื้อช่วง Sale ก็ได้ เราก็จะได้สินค้าที่ต้องการในราคาถูกลง ที่สำคัญควรซื้อเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ครับ (เพราะบางทีเห็นป้าย Sale แล้วอาจจะซื้อมากเกินจำเป็นก็ได้ครับ 555)

8. พัฒนาตัวเองเพื่อทำงานให้ดีขึ้นและได้ขึ้นเงินเดือนมากขึ้น

จะได้มีเงินมาลงทุนเพิ่ม และถ้ามีเวลาว่างเหลืออาจจะหารายได้เสริมจากความชอบและความถนัดของตนเองก็ได้ ครับ

9. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ

เพราะการดูแลตัวเองให้ดีในวันนี้ มีผลให้เราอาจจะไม่ต้องมีค่ารักษาพยาบาลมากตอนเกษียณก็ได้

เป็นอย่างไรบ้างครับ ไม่ยากเกินไปใช่ไหมครับ สำหรับการเก็บเงินเพื่อการเกษียณ การมีเงินหลัก 10 ล้าน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนรวยมาก่อน มนุษย์เงินเดือนธรรมดา หรือว่าคนทั่วๆ ไป ก็สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณได้เริ่มแล้วหรือยัง   

หมายเหตุ และ ข้อมูลอ้างอิง

อ้างอิง และข้อมูลประกอบ ดัชนี Nikkei  เปรียบเทียบกับ GDP

ดัชนี Nikkei (1949-2018)

http://www.macrotrends.net/2593/nikkei-225-index-historical-chart-data

Japan GDP Growth Rate ( Mar 1956 to Dec 2017)

https://www.ceicdata.com/en/indicator/japan/real-gdp-growth

ถ้าจะสังเกต GDP Growth ญี่ปุ่น จะเห็นว่าเติบโตสูงในช่วงแรกๆ  แต่พอเข้าสู่ช่วงประมาณหลังปี 1991-1992 มา GDP Growth ก็ต่ำกว่า 5%  มาตลอด ถ้าเปรียบเทียบกับดัขนี Nikkei ก็ออกแนว Sideway มาตั้งแต่ปี 1982 เช่นกัน และไม่ไปทำ New High อีกเลย

อ้างอิง CPI ของประเทศไทย

http://www.price.moc.go.th/th/node/210

http://www.indexpr.moc.go.th/price_present/cpi/stat/others/indexg_report2.asp?list_year=2561

อ้างอิง Hyper Inflation

Wikipedia

SaveSave

TSF2024