ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักตราสารอนุพันธ์ หรือ Derivative กันนะครับ ซึ่งตราสารอนุพันธ์เป็นตราสารประเภทหนึ่ง ที่ใช้สำหรับบริหารความเสี่ยง (Risk Management, Hedging) หรือ เก็งกำไร (Speculative) ซึ่งตราสารอนุพันธ์เป็นตราสารที่ซับซ้อนและค่อนข้างจะเข้าใจยากสักหน่อย (เหมือนสาวๆ ทั้งหลาย) แต่ว่าถ้าเราทำความเข้าใจได้ก็จะทำให้เราได้ประโยชน์อะไรหลายต่อหลายอย่างทีเดียวละครับ
สัญญาและสิทธิ์เป็นของคู่กัน
ก่อนจะมาทำความรู้จักกับตราสารอนุพันธ์ เราต้องรู้จักกับคำ 2 คำก่อน คือ สัญญา และ สิทธิ์ ซึ่งเป็นรูปแบบของตราสารอนุพันธ์
- สัญญา หมายถึง ข้อตกลงที่คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายตกลงทำสัญญากัน ดังนั้นต้องทำตาม ถ้าไม่ทำตามอาจจะถูกปรับหรือถูกลงโทษ
- สิทธิ์ หมายถึง สิ่งที่เราได้มาหรือซื้อมา แล้วทำให้เรามีสิทธิ์ทำตามเงื่อนไขของสิ่งที่ซื้อมา เช่น เราซื้อบัตรคอนเสิร์ตมาเราก็มีสิทธิ์ไปดูคอนเสิร์ต เป็นต้น
ประเภทของตราสารอนุพันธ์
เอาล่ะ รู้จักสิทธิ์กับสัญญากันแล้ว เราก็มาทำความรู้จักกับตราสารอนุพันธ์ได้แล้วละครับ โดยตราสารอนุพันธ์แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ Forward, Futures, Swap ที่เป็นสัญญา และ Option ที่เป็นสิทธิ์
1. Forward (ฟอร์เวิร์ด)
ตราสารอนุพันธ์ ชนิดแรก คือ Forward ซึ่งเป็นสัญญาในการซื้อขายสินค้าหรือสินทรัพย์ทางการเงินที่คู่สัญญา 2 ฝ่ายตกลงกัน โดยฝ่ายหนึ่งทำสัญญาว่าจะซื้อ (หรือขาย) และอีกฝ่ายขาย (หรือซื้อ) ตามราคาที่ตกลงกันไว้ โดยการซื้อขายจะเกิดขึ้นในอนาคต
ตัวอย่างเช่น A ทำสัญญา Forward จะซื้อ หุ้น X ที่ราคา 12 บาทในอีก 1 เดือนข้างหน้า โดย B สัญญาจะขายหุ้น X ที่ราคา 12 บาทเช่นกัน
สมมติว่าปัจจุบันหุ้น X ราคา 10 บาท ผ่านไป 1 เดือนครบอายุสัญญา ราคาหุ้น X ขึ้นไปเป็น 13 บาท
A ได้ซื้อหุ้น X จาก B ที่ราคา 12 บาทตามสัญญา Forward แล้วขายทันทีที่ราคา 13 บาท ทำให้ A ได้กำไรทันที 8.33% ((13-12)/12) ใน 1 เดือนทีเดียว ในขณะที่ B ต้องขายหุ้น X ให้ A ในราคา 12 บาท
สมมติถ้า B ซื้อหุ้น X มาในราคา 10 บาท การขายให้ A ตามสัญญาจะทำให้ B ได้กำไรแค่ 20% ((12-10)/10) ต่างจากถ้า B ขายหุ้นในตลาดเองจะได้กำไรถึง 30% ((13-10)/10) มากกว่าที่ขายให้ A ถึง 10% ทีเดียวครับ
ซึ่งกรณีนี้ B อาจจะผิดสัญญากับ A แล้วไปขายในตลาดแทนก็ได้ เนื่องจาก Forward เป็นสัญญาแบบไม่เป็นทางการ (คือ สัญญาที่คู่สัญญาตกลงทำสัญญากับเอง ไม่มีหน่วยงานกลางรับรองหรือคอยดูแลให้ทำตามสัญญา) ทำให้สัญญา Forward ในยุคแรกของตราสารอนุพันธ์มีการผิดสัญญา (Default) เยอะมาก ทำให้ต้องสร้างตราสารอนุพันธ์ชนิดใหม่คือ Futures ขึ้นมาแทน
2. Futures (ฟิวเจอร์ส)
Futures คือ สัญญาตกลงซื้อขายเหมือนกับ Forward แต่ต่างกันตรงที่ Futures เป็นสัญญาแบบเป็นทางการ มีรูปแบบสัญญาที่แน่นอนและที่สำคัญมีตัวกลางดูแลการซื้อขายและควบคุมให้ทำตามสัญญา
หน่วยงานที่ควบคุมดูแลตรงนี้ คือ ตลาด TFEX ซึ่งดูแลรูปแบบสัญญา และสำนักหักบัญชี (Clearing House) ซึ่งดูแลการทำตามสัญญา โดยสำนักหักบัญชีจะทำหน้าที่เป็นคู่สัญญาตรงข้ามกับผู้ทำสัญญาเพื่อรับประกันการทำตามสัญญาและจะลดความเสี่ยงของตนโดยจะมีการเรียกเก็บเงินประกันจากคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ถ้าฝ่ายใดทำผิดสัญญาจะถูกยึดเงินประกันทำให้ปัญหาการผิดสัญญาถูกแก้ไขไปได้มากทีเดียว
ตรงนี้ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่าย คือ สำนักหักบัญชีจะเอาเงินมาจ่ายซื้อหรือขายหลักทรัพย์แทนคู่สัญญาที่บิดพลิ้วนั่นเอง แต่ว่าก็จะเก็บเงินจากคู่สัญญาไว้ล่วงหน้าเพื่อเป็นประกันและลดความเสี่ยงที่ตัวเองจะต้องจ่ายเงินแทนคู่สัญญาที่บิดพลิ้ว
Futures จึงเป็นตราสารอนุพันธ์ที่เป็นที่นิยมกันมากตัวหนึ่งในปัจจุบัน
3. Swap (สวอป)
Swap คือ สัญญาการแลกเปลี่ยนกระแสเงินสด (คือเอาเงินมาแลกกัน) ของคู่สัญญา โดยฝ่ายหนึ่งจ่ายเป็นอัตราคงที่ อีกฝ่ายจ่ายแบบลอยตัว หรือจะเป็นลอยตัวกับลอยตัวก็ได้ โดยฝ่ายที่จ่ายกระแสเงินสดแบบลอยตัวจะจ่ายมากหรือน้อยอ้างอิงกับมูลค่าสินทรัพย์ที่สัญญาผูกอยู่
ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจไม่เป็นไรครับ เพราะตราสารอนุพันธ์ชนิดนี้คนใช้มักเป็นกิจการที่จะไปลงทุนต่างประเทศ คนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยได้ใช้กัน
4. Option (ออปชั่น)
สำหรับตราสารอนุพันธ์ตัวสุดท้าย คือ Option เป็น “สิทธ์” ในการซื้อ (Call) หรือขาย (Put) สินทรัพย์ในราคาที่ต้องการในอนาคต โดยผู้ได้สิทธิ์จะใช้หรือไม่ใช้สิทธิ์ก็ได้ เพราะว่าไม่ใช่สัญญาจึงไม่ต้องถูกบังคับให้ทำตาม แต่ว่าจะเสียเงินที่จ่ายเพื่อซื้อสิทธิ์ในตอนแรกไป ซึ่งเงินส่วนนี้เรียกว่า Option Premium ซึ่งมีมูลค่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อขาย จากข้อดีนี้เองทำให้ Option เป็นตราสารอนุพันธ์ที่นิยมมากๆ ตัวหนึ่งครับ
ประโยชน์ของตราสารอนุพันธ์
ประโยชน์ของตราสารอนุพันธ์มี 2 อย่างตามที่กล่าวในตอนต้นของบทความ คือ การเก็งกำไร และ การบริหารความเสี่ยง แต่ว่าในที่นี้ขอพูดถึงประโยชน์ในการบริหารความเสี่ยงเท่านั้นครับ
1. สำหรับนักลงทุนทั่วไป
นักลงทุนทั่วไปสามารถนำตราสารอนุพันธ์มาลดผลการขาดทุนจากการลงทุนได้ โดยวิธีการใช้ตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงอาจจะเข้าใจยากนิดนึง ไปทำความเข้าใจจากเคสตัวอย่างกันครับ
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราซื้อหุ้น X ไว้ที่ราคา 10 บาท เพราะหวังว่าราคากำลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 12 บาท แล้วเราก็จะได้กำไร 20% ใช่ไหมครับ แต่สมมติว่าราคาหุ้นเกิดลดลงเป็น 8 บาทล่ะ? เราก็จะขาดทุน 20% ครับ
ดังนั้น ถ้าเราอยากจะลดความเสี่ยงในการลงทุนครั้งนี้ เราอาจจะซื้อหุ้น X พร้อมกับทำสัญญา Futures ขายหุ้น X ที่ราคา 12 บาทไว้ หรือเรียกอีกแบบคือซื้อ Put Option (สิทธิ์ในการขาย) หุ้น X ไว้ที่ราคา 12 บาท
ทีนี้ ต่อให้มูลค่าหุ้น X จะลดลงเป็น 8 บาท เราก็จะได้กำไรจาก Futures หรือ Option มาชดเชยที่เสียไป คือเราขาดทุนจากการขายหุ้น X ในตลาดหุ้นทั้งหมด 20% (ซื้อมา 10 บาท ขายได้แค่ 8 บาท) แต่ได้กำไรจากตลาด TFEX 20% มาชดเชย (ซื้อมา 10 บาท ขายให้กับคู่สัญญา 12 บาท) ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องดูสัดส่วนอีกทีครับ ว่าเราแบ่งระหว่างซื้อหุ้นปกติกับซื้อสัญญาอย่างไร ถ้าเราทำสัญญาไว้ในสัดส่วนที่น้อยกว่า เราก็จะขาดทุนนิดหนึ่งในช่วงเวลาที่หุ้นตก
นั่นหมายความว่าหากสัดส่วนของเราเท่ากันระหว่างซื้อหุ้นปกติ กับซื้อสัญญา ก็จะหมายความว่าเราจะไม่ได้ทั้งกำไรทั้งขาดทุนครับ
2. สำหรับนักลงทุนสถาบัน
นักลงทุนสถาบันที่ต้องต้องจ่ายเงินคืนให้กับผู้ที่ลงทุนในกองทุนในกำหนดเวลาแน่นอน เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Provident Fund, PVD) ก็สามารถใช้ตราสารอนุพันธ์เพื่อรับประกันว่าจะมีเงินก้อนมากพอที่จะมาจ่ายให้ผู้ลงทุนได้ในกำหนดเวลา
เช่น กอง PVD กองหนึ่งต้องการใช้เงิน 1,000 ล้านบาทในอีก 1 ปี เพราะจะมีผู้อยู่ในกองทุนที่ครบอายุการลงทุน (อายุ 55 ปี) แล้วจะถอนเงินออกจากกองทุน แต่ผู้จัดการกองทุนไม่แน่ใจว่าราคาหุ้นในอีก 1 ปีจะเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงทำให้อาจจะไม่สามารถจ่ายเงินให้ผู้ลงทุนได้ตามจำนวน 1,000 ล้านบาทได้ถ้าราคาหุ้นลดลง ผู้จัดการกองทุน PVD จึงอาจจะซื้อตราสารอนุพันธ์ไว้ในจำนวนหนึ่งเพื่อตรึงราคาขายของหุ้นไว้ที่ราคาปัจจุบันเพื่อให้ได้เงิน 1,000 ล้านบาทตามที่ต้องการในอีก 1 ปีข้างหน้า โดยไม่ต้องกังวลว่าราคาหุ้นจะลดลง เป็นต้น
3. สำหรับผู้ทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออก
สำหรับผู้ทำธุรกิจที่ต้องนำเข้าหรือส่งออก ก็สามารถนำตราสารอนุพันธ์มาใช้ประโยชน์ในการควบคุมต้นทุนการนำเข้า (กรณีเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า) หรือรักษารายได้จากการส่งออกสินค้า (กรณีเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า) ได้เช่นกัน โดยการทำการซื้อตราสารอนุพันธ์ของอัตราแลกเปลี่ยนไว้บางส่วน เป็นต้น
เอาล่ะ เราก็รู้จักและเข้าใจประโยชน์ของตราสารอนุพันธ์กันไปแล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นตราสารที่ซับซ้อนเข้าใจยากและมีเงื่อนไขมากมาย แต่ถ้าศึกษาจนเข้าใจแล้วก็น่าจะนำตราสารอนุพันธ์ไปใช้ประโยชน์ได้มากทีเดียว ส่วนตอนสุดท้ายของ Series ชุดนี้จะเกี่ยวกับคำถามที่ว่า ทำไมเราต้องออมเงินเพื่อการเกษียณด้วย และการนำค่าใช้จ่ายที่ไม่ค่อยสร้างประโยชน์มาลงทุนจะส่งผลดีต่อตัวเรามากเท่าไร คอยติดตามกันนะครับ
Investment Reader
อ่านบทความซีรีส์ “เงินล้านไม่ยาก หากรู้จักสินทรัพย์ทางการเงิน” ย้อนหลัง
หุ้น ตราสารหนี้ และกองทุน ต่างกันอย่างไร? I เงินล้านไม่ยาก หากรู้จักสินทรัพย์ทางการเงิน (ตอนที่ 1)
อยากลงทุนอสังหาฯ ควรรู้อะไร? I เงินล้านไม่ยาก หากรู้จักสินทรัพย์ทางการเงิน (ตอนที่ 2)
ราคาทองคำ ดูอย่างไรดี? I เงินล้านไม่ยาก หากรู้จักสินทรัพย์ทางการเงิน (ตอนที่ 3)