จากบทความก่อนเรื่อง “เป้าหมายชีวิตไม่ไกลเกินเอื้อม ด้วยแผนการลงทุน 7 ขั้นตอนนี้” เราได้อธิบายถึงขั้นตอนการลงทุนทั้ง 7 ขั้นตอนไปแล้ว สำหรับบทความนี้เราจะมาขยายความต่อจากจากขั้นตอนที่ 3 คือการเลือกสินทรัพย์ในการลงทุนกันนะครับ โดยบทความนี้จะเป็นซีรีส์ 3 ตอนจบ ในแต่ละตอนจะนำผู้อ่านไปทำความรู้จักกับสินทรัพย์ทางการลงทุนที่มีอยู่อย่างคร่าวๆ ก่อน โดยในบทความชุดนี้ผมจะใช้ภาษาที่ทำความเข้าใจได้ง่ายเพื่อให้ผู้อ่านไม่รู้สึกว่าเป็นบทความทางวิชาการมากเกินไปนะครับ
สินทรัพย์ทางการลงทุนจะแบ่งออกเป็น เป็น 5 ประเภท
คือ ตราสารทุน (หรือหุ้นนั่นเอง) ตราสารหนี้ (เช่น พวกหุ้นกู้ต่างๆ) กองทุนรวม การลงทุนทางเลือกอื่นๆ (เช่น ทองคำ หรืออสังหาริมทรัพย์) และตราสารอนุพันธ์
สำหรับตอนแรกของบทความชุดนี้เราจะไปทำความรู้จักกับ 3 สินทรัพย์กันก่อน คือ หุ้น ตราสารหนี้ และกองทุนรวม กันนะครับ
หุ้น หรือที่เรียกกันว่าตราสารทุน (Stock)
เป็นตราสารที่ผู้ซื้ออย่างเราจะมีฐานะเป็นเจ้าของร่วมกับเจ้าของบริษัท แต่ว่าเราจะเป็นเจ้าของบริษัทแค่บางส่วน เท่ากับจำนวนหุ้นที่เราถืออยู่เท่านั้น
ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนกับมีเพื่อนมาชวนเราไปเป็นหุ้นส่วนเปิดร้านกาแฟแบบนี้ ถ้าเราตัดสินใจลงทุนด้วยก็เหมือนเราเป็นเจ้าของร้านกาแฟนี้ด้วยเหมือนกัน แล้วเราก็ให้เพื่อนบริหารร้านไปเรื่อยๆ โดยเราอาจจะคอยติดตามว่าเพื่อนบริหารดีมีกำไรกิจการเติบโตไหมจากการลองไปนั่งที่ร้านดูว่าลูกค้าเยอะไหม พนักงานบริการดีหรือเปล่า
เพื่อนเรามีหน้าที่ต้องเอาผลประกอบการหรืองบการเงินของร้านกาแฟมาให้เราดูทุกๆ 3 เดือน (หรือทุกไตรมาส) และต้องสรุปงบรายปีมาให้เราดูด้วย ในส่วนนี้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องส่งงบการเงินให้นักลงทุนอย่างเราดูทุกๆ ไตรมาสและทุกปีเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้เรารู้ว่าร้านกาแฟมียอดขายเพิ่มไหม กำไรเพิ่มหรือเปล่า และถ้ามีกำไรหน้า ที่อีกอย่างของเพื่อนเราคือต้องจ่ายเงินปันผลให้เราด้วย เพราะว่าเราเอาเงินมาร่วมลงทุนกับเพื่อน พอบริหารดีมีกำไรเพื่อนก็ต้องแบ่งผลกำไรที่ทำได้ให้เราด้วย
ผลตอบแทนนอกจากปันผลแล้วเราอาจจะเอาหุ้นที่เราถืออยู่ไปขายต่อให้คนอื่นก็ได้ ถ้าราคาหุ้นเพิ่มมากขึ้นเราก็จะได้กำไรจากราคาที่เพิ่มขึ้นหรือที่เรียกว่า Capital Gain
ในส่วนนี้ถ้าเราร่วมหุ้นกับเพื่อนจริงๆ การเอาหุ้นไปขายต่อคนอื่นอาจจะทำได้ยากหรืออาจจะทำให้เพื่อนโกรธเราได้ แต่หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เราสามารถขายต่อหุ้นที่เราถือให้นักลงทุนคนอื่นๆ ได้ทุกวัน
ก่อนจะเลือกลงทุนกับบริษัทใดก็ตาม เราในฐานะเจ้าของร่วมก็ต้องมีความมั่นใจในบริษัทก่อน เพราะว่าถ้าบริษัทดีเราก็ได้ผลตอบแทนที่ดีไปด้วย แต่ถ้าบริษัทเกิดบริหารไม่ดีหรือเจ้าของบริษัทเกิดทุจริต เราก็อาจจะเสียเงินที่ลงทุนไปหมดหรือเป็นจำนวนมากได้
ดังนั้นการลงทุนในหุ้น เราควรทำความรู้จักกับบริษัทเป็นอย่างดีก่อนลงทุน เหมือนถ้าเราจะเอาเงินลงทุนไปร่วมหุ้นเปิดร้านกาแฟกับเพื่อนก็ต้องรู้จักเพื่อนเราอย่างดีก่อน เช่น เพื่อนนิสัยเป็นอย่างไร ตั้งใจทำงานจริงไหม มีประสบการ์ณทำงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร จะบริหารร้านได้ดีหรือเปล่า เป็นต้น
ตราสารหนี้ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ หุ้นกู้ หรือพันธบัตรต่างๆ (เช่น พันธบัตรรัฐบาล)
สำหรับตราสารแบบนี้ เรามีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของคนที่ออกพันธบัตร หรือหุ้นกู้
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เพื่อนเราที่เปิดร้านกาแฟมีเราเป็นหุ้นส่วนแล้วอยากขยายสาขา เลยอยากได้เงินเพิ่มเพื่อไปขยายสาขา ก็อาจจะไปกู้แบงก์ หรือถ้าไม่กู้แบงก์อาจจะขอยืมเพื่อนเราอีกคนหนึ่งก็ได้
สมมติว่าเพื่อนที่เปิดร้านกาแฟชื่อ A เราคือ B และเพื่อนเราที่ A ไปขอยืมเงินชื่อ C
A บอกว่าขอยืมเงิน C 1,000,000 บาทแล้วจะคืนให้ในอีก 3 ปี ระหว่างนี้จะจ่ายดอกเบี้ยให้ C ทุกปี ปีละ 5%
กรณีนี้ C ถือเป็นเจ้าหนี้ของ A ทำให้ C จะมีสิทธิ์ได้รับเงินคืนก่อนเรา (หรือ B) และจะได้ดอกเบี้ยค่อนข้างแน่นอน 5% ทุกปี
ซึ่งก็คือปีละ 50,000 บาท (1,000,000 x 0.05)
แล้วพอครบ 3 ปี C จะได้เงินที่ให้ A ยืมคืน 1,000,000 บาท
จะสังเกตว่าสำหรับตราสารหนี้เราค่อนข้างมั่นใจได้ว่าเราจะได้ดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนมากกว่าหุ้นที่ถ้าปีไหนกิจการกำไรลดลงเราก็อาจจะได้เงินปันผลลดลง แต่สำหรับตราสารหนี้ เราเป็นเจ้าหนี้จึงได้ดอกเบี้ยเท่าเดิมทุกปี และได้เงินคืนเมื่อครบอายุของตราสารหนี้เท่ากับที่ลงทุนไปตอนแรก ในขณะที่สำหรับหุ้นเราจะไม่ได้เงินคืน แต่จะสามารถเอาหุ้นที่เราถืออยู่ไปขายในตลาดรองได้ทุกวัน
อย่างไรก็ดี สำหรับตราสารหนี้ เราไม่มีโอกาสที่จะได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเหมือนกับหุ้นที่ถ้าบริษัทกำไรมากขึ้นแล้วเราจะได้ปันผลมากขึ้น พอกำไรดีราคาหุ้นส่วนมากก็มักจะเพิ่มขึ้นทำให้เราได้ Capital Gain อีกด้วย แต่เราก็อาจจะเสี่ยงในแง่ที่ว่าอาจจะได้ปันผลน้อยลงหรือราคาหุ้นที่ถืออยู่ลดลงได้ถ้ากิจการบริษัทไม่ดี
ดังนั้นการลงทุนในสินทรัพย์ 2 ประเภทนี้จึงมีความแตกต่างกันพอสมควร โดยอาจจะพอจะสรุปได้แบบง่ายๆ คือ ตราสารหนี้เสี่ยงน้อยกว่าแต่ก็ได้ผลตอบแทนน้อยกว่าเช่นกัน ดังนั้นสำหรับการเลือกสินทรัพย์ลงทุนเราอาจจะเลือกลงทุนเฉพาะหุ้น 100% ก็ได้ถ้าอยากได้ผลตอบแทนมากๆ แต่ถ้าอยากจะเสี่ยงน้อยๆ เน้นได้ดอกเบี้ยบ้าง แต่ให้เงินลงทุนปลอดภัยกว่าหุ้น เราก็อาจจะเลือกลงทุนตราสารหนี้ล้วนๆ
แต่อย่าลืมว่าเรายังมีทางเลือกอีกแบบ คือเลือกลงทุนทั้ง 2 ทรัพย์สินในสัดส่วนต่างๆ เช่น หุ้น 70% ตราสารหนี้ 30% ถ้าเรารับความเสี่ยงได้มาก หรือ หุ้น 50% ตราสารหนี้ 50% ถ้าเรารับความเสี่ยงได้กลางๆ และอาจจะถือหุ้น 30% ตราสารหนี้ 70% ก็ได้ถ้าเรารับความเสี่ยงได้น้อย การแบ่งสัดส่วนการลงทุนแบบนี้อาจจะทำให้ง่ายกว่าถ้าลงทุนผ่านกองทุนรวม
ทั้งนี้สำหรับการเลือกลงทุนในตราสารหนี้ เราจะเลือกลงทุนโดยดูจากความมั่นคงของบริษัท ถ้าบริษัทมีความมั่นคงมาก หรือมีอันดับเครดิต (Credit Rating) ดีๆ บริษัทก็อาจจะจ่ายดอกเบี้ยให้เราน้อยกว่าบริษัทที่อันดับเครดิตไม่ดีซึ่งมีความมั่นคงน้อยกว่า เพราะสำหรับบริษัทที่เครดิตไม่ดีเราอาจจะมีความเสี่ยงไม่ได้รับเงินลงทุนคืนก็ได้ บริษัทเหล่านี้จึงต้องจ่ายดอกเบี้ยให้เรามากกว่าบริษัทอันดับเครดิตดีเพื่อให้เรายอมซื้อหุ้นกู้ของบริษัท
อันนี้เปรียบเทียบง่ายๆ เช่น เรามีเพื่อน 2 คนชื่อ D กับ E มาขอยืมเงินเรา D เป็นคนนิสัยดีหน้าที่การงานดีแถมทำงานกับบริษัทมานาน ได้เลื่อนตำแหน่งกับขึ้นเงินเดือนทุกปี ในขณะที่ E ทำงานแล้วเปลี่ยนงานบ่อยๆ แถมเคยยืมเงินเราแล้วไม่คืน ถ้าเราจะให้ทั้ง 2 คนยืมโดยคิดดอกเบี้ยด้วยเราย่อมอยากให้ D ยืมมากกว่า แต่ถ้าให้ยืมทั้งคู่เราก็อาจจะคิดดอกเบี้ย D น้อยกว่า E เป็นต้น
สำหรับกองทุนรวม คือ การที่เรามอบเงินให้มืออาชีพบริหารเงินให้เราแทน
เพราะว่าเราไม่มีเวลา หรือว่าไม่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนมากพอ ซึ่งสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมเราค่อนข้างจะมั่นใจได้ว่า บลจ. (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม) ซึ่งเรามอบเงินให้ไปบริหารจะไว้ใจได้ เพราะว่าในการตั้งกองทุนรวมจะมีระบบและกฏระเบียบจากหน่วยงานกำกับ เช่น กลต. คอยควบคุมดูแลอยู่อย่างแน่นหนาครับ
สำหรับการเลือกลงทุนในกองทุนรวมเราอาจจะเลือกสินทรัพย์ต่างๆ ได้ตามที่เราต้องการ ทั้งกองทุนหุ้นหรือกองทุนตราสารทุน กองทุนตราสารหนี้ กองทุนผสมที่มีทั้งหุ้นและตราสารหนี้รวมกันในกองทุนเดียว กองทุนทองคำ กองทุนอสังหาริมทรัพย์หรือกอง REIT ในปัจจุบัน กองทุนต่างประเทศที่เพิ่มโอกาสการลงทุนในต่างประเทศให้เราได้
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกลงทุนในกองทุนรวม เราควรจะอ่านข้อมูลของกองทุนจากเอกสาร Fund Fact Sheet หรือเอกสารสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุนก่อนลงทุนเสมอ ซึ่งเอกสารนี้สามารถขอได้จากธนาคาร หรือ บลจ. ที่ขายกองทุนก็ได้ ส่วนข้อมูลก็สามารถสอบถามกับพนักงานขายของธนาคารหรือว่าของ บลจ. ก็ได้ครับ
ในเอกสารจะบอกข้อมูลต่างๆ เช่น กองทุนเป็นกองทุนประเภทใด ก่อตั้งมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ผลตอบแทนย้อนหลังเป็นอย่างไร และใครคือผู้จัดการกองทุน เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว ปัจจุบันมีบริการแนะนำการจัดลำดับ ให้ข้อมูลและให้คำแนะนำการลงทุนในกองทุนรวมจากบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน หรือ บลน. แล้ว สามารถทดลองใช้บริการได้ครับ
ผ่านไปแล้วสำหรับการทำความรู้จักสินทรัพย์การลงทุน 3 ประเภท ในตอนหน้าเราจะมาทำความรู้จักกับสินทรัพย์อีก 2 ประเภท คือ ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์กันนะครับ
Investment Reader
สนใจลงทุนในกองทุนรวมผ่าน บลน. ฟินโนมีนา ทำได้ง่ายๆ ด้วยการเริ่มสร้างแผนลงทุนในแอป LINE ผ่านมือถือ คลิกเลย!
https://www.finnomena.com/line/intro