ทุกวันนี้ เราใช้ชีวิตอยู่ในระบบเศรษฐกิจซึ่งที่ผ่านมามีทั้งช่วงที่เศรษฐกิจดีและไม่ดี พอเศรษฐกิจดีคนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่ามีความสุขมากกว่าเพราะว่ามีเงินใช้คล่องมือ ต่างกับเวลาเศรษฐกิจไม่ดีที่นอกจากจะรู้สึกว่าจับจ่ายใช้สอยได้น้อยแล้ว บางคนอาจจะต้องหยุดหรือเปลี่ยนงานไปเลย
แล้วเพราะอะไรเศรษฐกิจถึงมีช่วงที่ดีและไม่ดี และรัฐบาลมีบทบาทอย่างไรในการช่วยเหลือประชาชนและแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เรามาทำความเข้าใจเรื่องนี้กันในบทความชุดนี้กันครับ
ก่อนอื่นเราจะมาทำความรู้จักว่าระบบเศรษฐกิจคืออะไรและมีกลไกในการทำงานอย่างไรนะครับ จากรูปด้านล่างคือ วงจรเศรษฐกิจ (Economic Flow)
รูปที่ 1 วงจรเศรษฐกิจ (Economic Flow)
Source http://study-aids.co.uk/dissertation-blog/circular-flow-model-economics/
จากภาพเราจะเห็นความสัมพันธ์บางอย่าง ระหว่างกลุ่มคน 3 กลุ่ม คือ
1 ภาคครัวเรือน (Households) ที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมด้านขวาของภาพ
2 ภาคธุรกิจ (Business Sector) ที่อยู่ในสี่เหลี่ยมนี้ด้านซ้าย
3 รัฐบาล (Government) อยู่ในสี่เหลี่ยมกลางภาพ
โดยความสัมพันธ์ เริ่มจาก ภาคครัวเรือน ขายปัจจัยการผลิต ซึ่งก็คือ แรงงาน และที่ดินผ่านตลาดทรัพยากร หรือ Resource Market ให้กับ ภาคธุรกิจ เพื่อเป็นปัจจัยการผลิต นั่นคือ ภาคธุรกิจมีเงินทุนแต่ว่าก็ต้องมีพนักงานมาทำงานให้ และต้องมีที่ดินสำหรับสร้างโรงงานผลิตสินค้า สร้างห้างสรรพสินค้า หรือสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เอาไว้ทำมาหากินครับ
แล้วหลังจากนั้น ภาคธุรกิจก็จะจ่ายค่าตอบแทน เช่น ค่าจ้าง ค่าเช่าที่ดิน ค่าซื้อที่ดิน เป็นต้น คืนแก่ภาคครัวเรือน ทำให้ภาคครัวเรือนมีรายได้
ภาคครัวเรื่อนนำรายได้ที่มีมาซื้อสินค้าจากภาคธุรกิจอีกทีหนึ่ง ซึ่งถ้าจะถามว่ามันเหมือนอัฐยายซื้อขนมยายไหม ก็ตอบได้ว่าไม่เหมือนเพราะเราซื้อของได้จากหลายผู้ผลิต และแต่ละธุรกิจขายสินค้าให้คนทั่วไปและธุรกิจด้วยกัน หมายความว่ารายได้ที่ครัวเรือนได้จากธุรกิจหนึ่งอาจจะนำไปซื้อสินค้าจากอีกหลาย ๆ ธุรกิจ และธุรกิจก็มีรายได้นำมาจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงานของตัวเองอีกที สิ่งนี้ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบ และทำให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจนั่นเอง
นอกจากนี้เมื่อคนมีรายได้ ก็ต้องเสียภาษีให้รัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลนำรายได้จากภาษีมาพัฒนาส่วนอื่น ๆ ของสังคมที่ภาคธุรกิจและประชาชนอาจจะทำเองไม่ได้หรือไม่ได้อยากทำเพราะไม่คุ้มค่า เช่น การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ประปา) สร้างโครงสร้างพื้นฐาน (ถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ) สร้างหน่วยงานรัฐและจ้างคนมาทำงาน (สำนักงานเขต สำนักงานที่ดิน เป็นต้น) ใช้เพื่อทำตามนโยบายรัฐต่าง ๆ นอกจากนั้นยังอาจจะใช้เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย (อันนี้จะมีอธิบายในส่วนนโยบายการคลัง ครับ)
รัฐนอกจะรับรายได้จากประชาชน และภาคธุรกิจแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อทรัพยากรการผลิตจากครัวเรือน (จ้างคนไปทำงานให้รัฐ) และซื้อของจากหน่วยธุรกิจ (ซื้อสินค้าหรือใช้บริการของภาคธุรกิจ)
การจับจ่ายของทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และรัฐบาลล้วนมีผลต่อการขยายตัวและหดตัวของเศรษฐกิจทั้งนั้น
การที่เศรษฐกิจขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศดีขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย เพราะว่าประชาชนมีรายได้มากขึ้น ก็สามารถซื้อสินค้าและบริการที่ทำให้คุณภาพชีวิตตัวเองดีขึ้น
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลย คือ เมื่อก่อนตอนเป็นสังคมเกษตร เราต้องปลูกพืช หรือเลี้ยงสัตว์เอง เป็นสังคมเล็ก ๆ ยังไม่ได้มีอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ มากมาย และการเดินทางก็ยังไม่สะดวกสบายอย่างทุกวันนี้ แต่เมื่อเศรษฐกิจมีการพัฒนา ภาคอุตสาหกรรมและบริการได้สร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่าและสร้างรูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตที่เจริญก้าวหน้ามากขึ้น คนก็ย้ายตัวเองจากสังคมเกษตรมาใช้ชีวิตในสังคมเมืองมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น รูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป
ส่วนนี้ไม่ได้ต้องการบอกว่าสังคมเมืองดีกว่าสังคมเกษตรแบบเดิมนะครับ เพราะต้องยอมรับว่าภาคการเกษตรเป็นรากฐานดั้งเดิมของสังคมไทยและมีสิ่งดี ๆ หลายอย่างในนั้น เช่น ความเอื้อเฟื้อกันของคน สังคมที่ใกล้ชิด พึ่งพาอาศัยกัน และการได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ แต่สิ่งต่าง ๆ นั้นเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ก็มีแนวทางการพัฒนาแบบนี้
เอาล่ะ เรามาพูดถึงเรื่องการขยายตัวและหดตัวของระบบเศรษฐกิจกันดีกว่า ก่อนจะพูดถึงเรื่องนี้ ต้องขออธิบายเรื่องกลไกตลาดในระบบตลาดเสรีก่อน คือ กลไกอุปสงค์ (Demand) อุปทาน (Supply) กันก่อนครับ
กลไกนี้อธิบายแบบง่าย ๆ เลยคือ อะไรที่คนต้องการมาก (Demand มาก) จะมีราคาสูงขึ้น อะไรที่คนต้องการน้อยจะมีราคาถูกลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องเปรียบเทียบ Demand กับ Supply ด้วย
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลย ช่วงก่อนหน้านี้ทุกคนจะรู้ว่าราคาน้ำมันถูกลงใช่ไหมครับ จริง ๆ แล้วที่ราคาน้ำมันถูกลงมีสาเหตุมาจากผู้ผลิตหลักหรือกลุ่ม OPEC เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันขึ้น ทำให้ Supply น้ำมันมากขึ้น แต่ Demand การใช้น้ำมันกลับลดลงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ แถมมีโรคระบาดอย่าง Covid 19 มาซ้ำเติมทำให้เศรษฐกิจยิ่งชะลอตัวไปใหญ่
เมื่อ Demand ลด Supply เพิ่ม ก็เป็นธรรมดาที่ราคาน้ำมันจะลดลงมากแบบนี้ ส่วนนี้สามารถไปติดตามได้จากบทความ ควรลงทุนอย่างไร? เมื่อสงครามราคาน้ำมันซ้ำเติมตลาด!!!
ซึ่ง Demand Supply และราคาสินค้าอธิบายได้ง่าย ๆ ตามรูปด้านล่างครับ จุดที่ Demand ตัดกับ Supply คือ จุดดุลยภาพ หรือ Equilibrium จะเป็นจุดที่ผู้ซื้อและผู้ขายพอใจที่จะซื้อสินค้าที่ราคานี้ และที่ปริมาณเท่านี้
รูปที่ 2 กราฟอุปสงค์ อุปทาน และจุดดุลยภาพ
ที่มา http://www2.york.psu.edu/~dxl31/econ14/printer5.html
สำหรับ ระบบเศรษฐกิจก็มี Demand Supply เหมือนกัน แต่ว่าเป็น Demand Supply (ในบทความนี้ต่อไปขอเรียกย่อ ๆ ว่า D-S นะครับ) ที่เกิดจากการรวม D-S ของทุกคน สินค้าทุกชนิดไว้ เรียกว่า อุปสงค์มวลรวม (Aggregated Demand) กับ อุปทานมวลรวม (Aggregated Supply) ขอย่อว่า AD-AS ครับ ซึ่งเวลาที่ AD มาก AS น้อยก็ส่งผลให้สินค้ามีราคาแพงขึ้นนั่นเอง แต่ถ้าตรงข้าม AD ลด AS เพิ่มราคาสินค้าส่วนใหญ่ก็จะถูกลง
ที่จะอธิบายต่อไปอาจจะดูซับซ้อนสักหน่อย แต่ว่าไม่ยากเกินกว่าจะเข้าใจแน่นอนครับ
ระบบเศรษฐกิจที่สามารถเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้นจะสะท้อนจากการเติบโตของ GDP ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี และขนาดของ GDP ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง แต่ว่าระบบเศรษฐกิจจะสามารถเติบโตได้สูงสุดตามศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ (Economic Efficiency)
จะมีบางช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเติบโตเกินศักยภาพ และบางช่วงน้อยกว่าศักยภาพ ระบบเศรษฐกิจจะเติบโตดีและสม่ำเสมอถ้าเติบโตตามศักยภาพ ถ้าเร่งเกินไปสุดท้ายก็จะชะลอตัวลงเอง แต่ถ้าเติบโตน้อยกว่าศักยภาพก็เหมือนการทำอะไรไม่เต็มที่ ทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น
ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็เหมือนการวิ่งออกกำลังของเรา เราสามารถวิ่งได้เร็วที่ความเร็วระดับหนึ่งโดยที่ความเร็วระดับนี้จะทำให้เราวิ่งแบบนี้ได้ต่อเนื่องยาวนาน แต่ถ้าเราเร่งไปมากกว่านั้นมาก ๆ เราอาจจะสามารถเร่งความเร็วให้มากขึ้นได้แค่ช่วงเวลาหนึ่ง แล้วเราก็ต้องชะลอความเร็วลงเพราะเราเหนื่อย แต่ถ้าวิ่งช้ากว่าศักยภาพก็จะไม่ได้ทำให้เราแข็งแรงขึ้นหรือว่าทำให้เราวิ่งเร็วขึ้นกว่าปัจจุบัน เป็นต้น
เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้น เราจะมีคำอีก 2 คำที่เราต้องรู้จัก คือ Short-Run Aggregated Supply (SRAS) และ Long-Run Aggregated Supply (LRAS)
LRAS คือ ศักยภาพเศรษฐกิจที่จะเติบโตได้ในระยะยาว แต่ผมคิดว่า LRAS ก็สามารถเปลี่ยนไปได้ตามปัจจัยต่าง ๆ ของประเทศเช่นกัน แต่น่าจะเป็นปัจจัยที่มีผลในระยะยาว ส่วน SRAS จะเปลี่ยนไปตามปัจจัยระยะสั้นที่มากระทบกับระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในที่สุดสมดุลของเศรษฐกิจก็จะกลับสู่ LRAS อยู่ดี
บางทีเราอาจจะอยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตเกินศักยภาพ เช่น ค่าเงินอ่อนทำให้การส่งออกดีมาก ๆ เมื่อเศรษฐกิจโลกขยายตัวก็จะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อรายได้ของบริษัทส่งออก ทำให้รายได้มากขึ้นและมีการขยายกำลังการผลิต มีการจ้างงานในภาคส่วนนี้มากขึ้น ถ้าประกอบกับเป็นช่วงที่เศรษฐกิจส่วนอื่น ๆ ก็ดีจะทำให้ GDP ตอนนี้เติบโตอย่างร้อนแรง แต่ต่อมาด้วยเศรษฐกิจที่ดีอาจจะส่งผลให้เงินไหลเข้ามากเกินไปเมื่อเทียบกับกระแสเงินไหลออกก็อาจจะทำให้ค่าเงินแข็งขึ้นได้ ซึ่งจะกระทบกับความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก
ตรงนี้พูดง่าย ๆ คือ ราคาสินค้าในประเทศเท่าเดิม แต่พอส่งออกราคาจะถูกหรือแพงขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยน ถ้าค่าเงินอ่อน สินค้าของเราเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งจะราคาถูกกว่า ทำให้ลูกค้าอยากซื้อสินค้าประเทศเรามากกว่า แต่ถ้ากลับกัน ค่าเงินแข็งค่าเกิน สินค้าประเทศเราจะแพงขึ้นทันที ทำให้ลูกค้าอาจจะอยากไปซื้อกับประเทศอื่นเป็นต้น
เศรษฐกิจที่เติบโตดี จะทำให้เกิดเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคลดลง และจากการที่ผลิตมากขึ้นก็อาจจะส่งผลให้ปัจจัยการผลิตมีราคาแพงเกินไป เช่น ค่าแรงเริ่มแพง ราคาวัตถุดิบเริ่มแพง เป็นต้น จากปัจจัยการผลิตที่แพงเกินไปนี้และค่าเงินที่เริ่มแข็งนี้เองจะทำการผลิตสินค้าและการส่งออกจะเริ่มชะลอตัวและลดลงส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจปรับสมดุลเข้าสู่ศักยภาพการผลิตในที่สุด ดังรูปที่ 4
รูปที่ 3 ดุลยภาพเศรษฐกิจ
ที่มา https://www.reviewecon.com/asad-model1
รูปที่ 4 การปรับตัวของเศรษฐกิจ
4.1 เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วเกินไปทำให้ความต้องการบริโภคเพิ่มจาก AD1 ไปที่ AD2 ส่งผลให้สินค้าราคาแพงขึ้น ราคาสินค้าในตลาดขยับจาก P1 ไป P1′ ส่งผลให้คนอยากผลิตมาขายมากขึ้น เพราะราคาสินค้าเพิ่มขึ้นขายแล้วได้กำไรมากขึ้นจึงผลิตมากขึ้น
4.2 จากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นในข้อ 4.1 จูงใจให้ผู้ผลิตเพิ่มการผลิต ส่งผลให้ AS เพิ่มขึ้นจากเส้น SRAS1 สู่เส้น SRAS2 เกิดสมดุลเศรษฐกิจใหม่ที่จุด E2 (จากสมดุลเดิมอยู่ที่ E1) แต่จุดนี้อยู่ที่ระดับที่เกินศักยภาพเศรษฐกิจจึงทำให้ ราคาปัจจัยการผลิตเริ่มแพง
ตัวราคาปัจจัยการผลิตจะไม่ได้แสดงในกราฟ แต่ว่าเมื่อการผลิตเกินศักยภาพหมายความว่าผลิตมากกว่าแรงงานและวัตถุดิบที่มีทำให้ราคาปัจจัยการผลิตสูงขึ้นตามกลไกตลาด
4.3 จากราคาสินค้าที่แพงขึ้นทำให้เกิดเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยตามมา ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นส่งผลให้การบริโภคลดลงเพราะว่าคนกู้ซื้อสินค้าคงทนลดลง ซึ่งส่วนมากเป็นสินค้าที่มีราคาสูง เช่น บ้าน รถ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องใช้อื่นที่ต้องซื้อโดยการผ่อนชำระ
รวมถึงการซื้อสินค้าอื่นที่ไม่ใช่สินค้าที่ต้องผ่อนชำระก็ลดลงจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น ทำให้การบริโภคในประเทศเริ่มลดลด ส่งผลให้ Demand ลดลงกลับมาอยู่ที่เดิม (AD2 > AD1)
4.4 Supply ลดลงมาตามเพราะสินค้าขายได้ลดลงจาก Demand ที่ลดลงประกอบกับราคาปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้การผลิตเริ่มไม่ค่อยคุ้มค่าเท่าเดิม ผู้ผลิตจึงลดการผลิตลง ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่จุดดุลยภาพในที่สุด (SRAS2 > SRAS1 , P2 > P1 และ E2 > E1)
ในทางกลับกันถ้าเศรษฐกิจเกิดอยู่ต่ำกว่าศักยภาพระยะยาว ที่จุดนี้ราคาสินค้าจะถูก และดอกเบี้ยไม่สูง ทำให้คนอยากซื้อสินค้ามากขึ้น และเนื่องจากปัจจัยการผลิตก็ถูกจากการที่มีคนพร้อมจะทำงานแต่มีงานให้ทำน้อยค่าแรงก็ถูก ราคาวัตถุดิบก็ถูกเพราะคนผลิตน้อยกว่าปัจจัยการผลิตที่มี ส่งผลให้ผู้ผลิตอยากผลิตมากขึ้นจนเศรษฐกิจกลับมาอยู่ที่จุดสมดุลในที่สุด
ในยุคเริ่มแรกนักเศรษฐศาสตร์สาย Classic จะเชื่อในการปรับสมดุลของเศรษฐกิจแบบอัตโนมัติจากปัจจัยที่กล่าวถึงข้างต้น ถ้าเคยได้ยินคำว่ามือที่มองไม่เห็นหรือ Invisible Hand ก็มาจากทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ Classic นี่ละครับ
แต่หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ คือ The Great Depression ในปี 1929 ก็เกิดโยบายการคลังขึ้นมาจากแนวคิดของ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (บิดาของเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายการคลัง) เพราะกลไกปรับสมดุลของตลาดไม่ทำงานอย่างที่คิด ทำให้รัฐบาลเริ่มการดูแลเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังนับจากนั้นเป็นต้นมา
ปัจจุบันเครื่องมือในการดูแลระบบเศรษฐกิจ คือ นโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง ซึ่งเราจะกล่าวถึงนโยบายทั้ง 2 ชนิดนี้ ในบทความต่อไปกันครับ
Investment Reader