ในยุคของข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะในตลาดทุนที่มีข้อเท็จและจริงเข้ามามากมาย อาจทำให้นักลงทุนสับสน และตัดสินใจการลงทุนผิดพลาดได้ สำหรับบทความนี้จะนำเสนอแนวทางการคัดกรองข่าวสารและข้อมูลเบื้องต้นอย่างเป็นระบบอันจะทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างสบายใจครับ
1. ดูผลกระทบของข่าว
ตัวกรองชั้นแรกนี้จะช่วยคัดกรองให้เหลือแต่ข้อมูลข่าวสารที่กระทบกับผลประกอบการแบบมีนัยยะสำคัญ หลักการง่ายๆคือดูว่ารายการนั้นเป็นสัดส่วนเท่าไรของรายได้ หรือสินทรัพย์ เช่นข่าวการลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินของธนาคาร เราจะต้องไปดูว่าสัดส่วนของรายได้ค่าโอนเป็นร้อยละเท่าไรของรายได้รวม ถ้ารายได้ส่วนนี้มีสัดส่วนที่มากถึงจะต้องกังวล แต่ถ้ารายได้ส่วนนี้มีสัดส่วนไม่มากนักไม่มีนัยยะกับผลประกอบการ เราจะมองผ่านไป
2. ดูโอกาสที่จะเกิดขึ้น
ขั้นที่สองเราจะต้องดูว่าโอกาสเกิดขึ้นนั้นมีมากแค่ไหน ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่มีผลกระทบกับบริษัทมากแม้ว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยเราก็ต้องวางแผนเผื่อไว้ก่อน แต่สำหรับหรือเหตุการณ์ที่มีผลกระทบกับบริษัทน้อยและโอกาสเกิดขึ้นน้อยกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องกังวลมากเพราะถึงแม้จะเกิดขึ้นยังกระทบกับผลประกอบการของเราไม่มาก สำหรับการวิเคราะห์ความเสี่ยงนักลงทุนสามารถเข้าไปอ่านได้ในรายงาน 56-1 ในหัวข้อความเสี่ยงบริษัทจะบอกว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้างและมีแผนในการจัดการอย่างไร
3. ระยะเวลาที่ส่งผลกระทบ
ในการวิเคราะห์ข่าวสารด้านการลงทุนนอกจากดูผลกระทบและโอกาสที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องดูเรื่องของระยะเวลาที่เหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นด้วย
ในส่วนแรกจะต้องดูว่าเหตุการณ์นั้นใช้เวลาอีกนานหรือไม่ เช่นบริษัทมีโครงการจะสร้างโรงแรมส่วนต่อขยาย มีระยะเวลากำหนดสร้างเสร็จอีก 4 ปี เราก็มีทางเลือกที่จะซื้อแล้วรอไป 4 ปี หรือค่อยเข้าไปลงทุนในปีที่ 3 ก็ได้
ส่วนที่สองต้องดูว่าหลังจากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นแล้วกระทบกับผลประกอบกอบในระยะสั้นหรือระยะยาว ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่กระทบในระยะสั้น ส่วนใหญ่จะกระทบกับราคาตลาดแค่ครั้งเดียวแล้วก็จบ เช่นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีโครงการกำลังจะโอน ในไตรมาสที่โอนได้ก็จะกำไรกระโดด และหลังจากนั้นกำไรก็จะปรับตัวลดลง หรือธุรกิจบริการที่ช่วงแรกๆในการเปิดสาขามักจะมีผลประกอบการขาดทุนเนื่องจากยังมีจำนวนลูกค้าน้อยราคาหุ้นมักจะซึมลงมาก่อนและค่อยปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเริ่มทำกำไร
แต่กรณีที่ดูยากที่สุดคือข่าวที่เข้ามากระทบเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งข้นแล้วส่งผลกระทบยาวต่อผลประกอบการ เช่นการเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ สินค้าทดแทนต่างๆ สภาพการแข่งขัน อำนาจการต่อรองของลูกค้า และผู้จัดส่งสินค้า ซึ่งต้องใช้ทั้งความรู้ในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานทั้งทางคุณภาพและปริมาณประกอบกัน
4. กำหนดกลยุทธ์
หุ้นที่ขึ้นได้ต่อเนื่องหลายปีมักมีข่าวที่ มีผลกระทบกับบริษัทมาก โอกาสเกิดขึ้นสูง และระยะเวลาเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายๆปี เช่นหุ้น ค้าปลีก ที่มีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมค้าปลีกมีการเปลี่ยนแปลงทำให้รายใหญ่ๆที่มีเงินทุนในการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องมีความได้เปรียบทางการแข่งขันและเติบโตได้หลายปี ถ้าเจอแบบนี้เราต้องกอดแน่นๆ
ในขณะที่หุ้นที่กำลังเสียเปรียบทางการแข่งขัน รายได้กำไรไม่มีการเติบโตมากนักในช่วงแรกๆ ทิศทางราคามักจะค่อยๆ ซึมลง หรือไม่ไปไหน และเมือวันที่ปันหาปะทุงบการเงินออกมาขาดทุนราคาก็จะเริ่มลงแรง
จะเห็นว่าในโลกยุคข้อมูลข่าวสาร นักลงทุนจะต้องมีหลักการในการประเมินข้อมูลข่าวสารให้ดีไม่เช่นนั้นจะทำให้การลงทุนติดสินใจแบบไหลไปตามข้อมูลข่าวสารต่างๆและเกิดความผิดพลาดได้ง่าย
โดย ภัทรธร ช่อวิชิต