SCG มหัศจรรย์หุ้น 100 เด้ง

หนึ่งในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดตลอดกาลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคงหนีไม่พ้นบริษัทอย่าง SCG (ชื่อย่อหุ้น SCC) ที่ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรกจนถึงปัจจุบันจะสามารถให้ผลตอบแทนทั้งหมดกว่า 150 เท่าตัว นึกภาพง่ายๆว่าหากเราลงทุนใน SCG ตั้งแต่เริ่มเข้าตลาดจำนวน 1 ล้านบาท ปัจจุบันจำนวนเงินจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 150 ล้านบาท แต่ถนนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มาดูกันว่ากว่าจะมาเป็นหุ้น 150 เด้งได้นั้นจะต้องผ่านอะไรมาบ้าง

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือหลายๆคนอาจจะเรียกสั้นๆว่า “ปูนใหญ่” เป็นบริษัทปูนแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2456 (ค.ศ. 1913) ตามพระบรมราชโองการในรัชกาลที่ 6 โดยมีจุดประสงค์หลักลดการนำเข้าทรัพยากรปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างจากต่างประเทศและเพื่อการก่อสร้างพัฒนาประเทศ เริ่มแรกนั้นมีผลิตภัณฑ์หลักเป็นปูนเท่านั้น

ปัจจุบัน SCG เป็นมากกว่าแค่บริษัทปูนหรือพูดง่ายๆว่าไม่ใช่บริษัทปูนอีกต่อไป มีรายได้มาจาก 3 หมวดธุรกิจหลักๆด้วยกัน

  1. ธุรกิจซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างรวมตั้งแต่วัสดุเช่น ปูน กระเบื้อง ท่อ เซรามิก ไปจนถึงงานบริการขนส่ง ก่อสร้าง
  2. ธุรกิจผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นไปจนถึงผลิตเม็ดพลาสติก เม็ดพลาสติกสามารถนำไปผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและครัวเรือนทั่วไป นอกจากนั้นยังมีท่าเรือและคลังสินค้าสำหรับผลิตภัณฑ์เคมี
  3. ธุรกิจผลิตเยื่อกระดาษไปจนถึงผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์ เช่น กล่องลูกฟูก กระดาษที่ใช้ในอุตสาหกรรม บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม

ในส่วนของรายได้ผมอยากจะขอย้อนไปเพียง 10 ปีเท่านั้น เพราะมากกว่านี้ผมไม่มีแหล่งข้อมูล แต่คิดว่าน่าจะทำให้พอเห็นภาพขนาดของ SCG ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

2008 – รายได้รวม 293,230 ลบ. กำไรสุทธิ 16,771 ลบ. (5.7%)
2009 – รายได้รวม 238,664 ลบ. กำไรสุทธิ 24,346 ลบ. (10.2%)
2010 – รายได้รวม 301,323 ลบ. กำไรสุทธิ 37,382 ลบ. (12.4%)
2011 – รายได้รวม 368,579 ลบ. กำไรสุทธิ 27,281 ลบ. (7.4%)
2012 – รายได้รวม 407,601 ลบ. กำไรสุทธิ 23,580 ลบ. (5.8%)
2013 – รายได้รวม 434,251 ลบ. กำไรสุทธิ 36,522 ลบ. (8.4%)
2014 – รายได้รวม 487,545 ลบ. กำไรสุทธิ 33,615 ลบ. (6.9%)
2015 – รายได้รวม 439,614 ลบ. กำไรสุทธิ 45,400 ลบ. (10.3%)
2016 – รายได้รวม 423,442 ลบ. กำไรสุทธิ 56,084 ลบ. (13.2%)

จะเห็นผลงานเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาของบริษัทก็ยังมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งรายได้และกำไร โดยปีล่าสุดบริษัทมีรายได้มากถึงกว่า 4 แสนล้านบาท และกำไรสุทธิกว่าปีละ 5 หมื่นล้าน

หลายคนน่าจะพอได้ยินมาบ้างว่า SCG นั้นเป็นหุ้นระดับ 100 เด้ง เพียงแค่ถือหุ้นไว้เฉยๆ แต่กว่าที่ SCG จะสามารถมาถึงจุดนี้ได้นั้นต้องผ่านวิกฤตมามากมายที่ทำให้การถือไว้เฉยๆน่าจะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเอาเสียเลยลองมาดูกัน

 

SCG เข้าเทรดครั้งแรกเมื่อปี 1975 (ขอใช้ ค.ศ. เพราะจำง่ายดีครับ) จากข้อมูลเริ่มจากปี 1984 มีราคาอยู่ที่ 3.45 บาทต่อหุ้น (ใช้ Par ปัจจุบัน 1.00 บาท) จะสังเกตุซ้ายมือสุดในรูป ในช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงบูมสุดๆของเศรษฐกิจไทย อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในช่วงนี้น่าจะเกิน 10% ต่อปี ช่วงนี้ก็นับว่าเป็นขาขึ้นของ SCG เช่นกันโดยราคาปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 3.5 บาทในปี 1985 มาเป็นราวๆ 60 บาทในปี 1990 คิดเป็นเกือบ 20 เท่าในเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น

Sideway แรกของ SCG เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1990 – 1994 กินระยะเวลามากถึง 5 ปี นักลงทุนหลายๆคนคงไม่สามารถทนถือได้แน่ๆ ในยุคนี้แค่ราคาหุ้นไม่ไปไหนเพียงไม่กี่เดือนนักลงทุนก็ถอดใจกันแล้ว ในช่วงปี 1990 นั้นเป็นช่วงเดียวกับวิกฤตสงครามอ่าวเปอร์เซีย ดัชนี SET ปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดที่ 1,100 ลงมาเหลือ 500 กว่าจุดเท่านั้น แต่สังเกตุจากกราฟว่าราคาของ SCG ก็ปรับลงมาจาก 60 เหลือเพียง 50 เท่านั้น ถึงแม้จะ Sideway แต่ยังถือว่าดีกว่าตลาดอย่างมาก หากนักลงทุนยังไม่ขาย ณ จุดนี้ก็ยังได้ผลตอบแทนมากถึง 15 เท่าใน 10 ปี

เมื่อพ้นวิกฤตสงครามอ่าวแล้วราคาของ SCG ก็เริ่มปรับตัวขึ้นจาก 50 บาทในปี 1993 จนมาถึงจุดสูงสุดที่ 150 บาทในปี 1996 หรือคิดเป็นผลตอบแทนมากถึง 3 เท่าใน 3 ปี ถ้าลงทุนมาตั้งแต่ 3.5 บาทก็จะได้ผลตอบแทน 40 เท่าในระยะเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น จะมีนักลงทุนเพียงกี่คนที่สามารถทนถือมาได้ถึงจุดนี้

แต่เหตุการณ์ต่อมาก็ต้องพบกับฝันร้าย เพราะไม่ใช่วิกฤตตลาดหุ้นทั่วไปเหมือนสงครามอ่าวแต่นั้นคือวิกฤตต้มยำกุ้งที่มีผลกับเศรษฐกิจไทยโดยตรง เงินบาทลอยตัวขึ้นจาก 25 บาทต่อ USD เป็น 50 บาทต่อ USD แปลว่าหากคุณแลกเงินบาทเป็นดอลล่าก่อนวิกฤติและแลกกลับจากดอลล่าเป็นบาทหลังวิกฤติ คุณจะรวยขึ้น 1 เท่าตัว แต่ SCG อยู่ฝั่งตรงกันข้ามทำให้ SCG มีหนี้สินเพิ่มขึ้นจาก 125,000 ลบ. กลายเป็น 250,000 ลบ. และขาดทุนในปีนั้นมากถึง 50,000 ลบ. ราคาหุ้นของ SCG ปรับตัวลงจากสูงสุด 150 ลงมาเหลือต่ำสุดที่ 20 บาทเท่านั้น

สิ่งที่น่าสนใจหากคุณซื้อที่ 3.5 บาท แล้วเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง คุณจะยังกล้าถือ SCG ต่อไปหรือไม่ ถึงแม้การลงทุนจะยังไม่ขาดทุน แต่บริษัท SCG มีหนี้สินมหาศาล ประกอบกับเศรษฐกิจชะลอตัวลงทำให้ความต้องการก่อสร้างมีน้อยลงและไม่รู้จะกินระยะเวลานานกี่ปี ข่าวร้ายที่มีถึง 2 ต่อ คุณจะยังทนถือหรือไม่? หรือหากคุณเชื่อมั่นใน SCG และลงทุนในปี 1998 หลังวิกฤติผ่านไปสักพัก คุณจะต้องทนราคาหุ้น SCG ออก sideway มากถึง 4 ปีก่อนที่ราคาจะเริ่มปรับตัวขึ้น คุณจะทนได้หรือไม่?

ปี 2002 เมื่อบริษัทเริ่มกลับมามีกำไรราคาหุ้นก็ทะยานขึ้นอีกครั้งจากประมาณ 40 บาทไปจนถึง 250 บาทในปี 2004 หรือคิดเป็นผลตอบแทนมากถึง 6 เท่าในระยะเวลา 2 ปีเท่านั้น ถ้าหากคุณทนถือตั้งแต่ปี 1998 และทน sideway มาได้ คุณก็จะยังได้ผลตอบแทนมากถึง 6 เท่าในระยะเวลา 6 ปี แต่ถ้าคุณลงทุนก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งคุณก็จะยังได้กำไร 2.5 เท่าในระยะเวลา 10 ปี และท้ายที่สุดถ้าคุณสามารถทนถือมาตั้งแต่ 3.5 บาทได้ คุณก็จะได้ผลตอบแทน 70 เท่าภายใน 20 ปี

Sideway ที่ 3 เริ่มขึ้นตั้งแต่ราคาหุ้นขึ้นไปสูงสุดที่ 250 บาท เมื่อปี 2004 และกินระยะเวลามากถึง 5 ปี ก่อนที่จะเจอวิกฤต Subprime ในปี 2008 ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงจาก 250 บาท เหลือเพียง 100 บาทเท่านั้น ถึงแม้วิกฤตจะเกิดขึ้นเพียงไม่นาน แต่ระยะเวลาที่ sideway มากถึง 6 ปี ก็เป็นระยะเวลาที่นานมากพอที่จะทำให้นักลงทุนอาจจะทนไม่ได้

เมื่อพ้นวิกฤต Subprime ราคาหุ้นก็ทะยานอีกครั้งจาก 100 บาท จนมาถึง 500 บาทในปัจจุบัน คิดเป็นผลตอบแทน 5 เท่าใน 10 ปี หากคุณลงทุนหลังต้มยำกุ้งและสามารถทน sideway ตั้งแต่ปี 2004 – 2009 ได้ คุณจะได้ผลตอบแทนมากถึง 25 เท่าใน 20 ปี แต่ถ้าคุณลงทุนตั้งแต่ 3.5 บาทและสามารถทน sideway รวมวิกฤตอีก 3 รอบที่กินระยะเวลามากถึง 16 ปี คุณก็จะได้ผลตอบแทน 150 เท่าใน 30 ปี

ผลตอบแทนราคาหุ้นของ SCG ที่ 150 นี่ยังไม่นับรวมปันผลที่อาจจะทำให้ผลตอบแทนขึ้นไปมากกว่า 200 เท่า จะเห็นได้ว่าการจะได้ผลตอบแทน 100 เท่าจาก SCG นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เป็นสิ่งมหัสจรรย์เท่านั้นที่นักลงทุนจะสามารถอดทนได้ตลอดเส้นทาง มีเหตุการณ์มากมายที่จะชักชวนให้คุณขายหุ้นออกมาและก็มีอีกเหตุการณ์มากมายที่คุณจะต้องเชื่อมั่นในคุณภาพของบริษัท โดยเฉพาะวิกฤตต้มยำกุ้งที่อาการของ SCG นั้นดูร่อแร่และเศรษฐกิจก็ซบเซาโดยไม่รู้กำหนดระยะเวลา

หลายๆคนอาจจะเคยได้ยินว่าเพียงแค่ถึง SCG ไว้เฉยๆตั้งแต่แรกก็รวยเปลี่ยนชีวิตได้ง่ายๆ แต่เมื่อเห็นแบบนี้แล้วผมบอกได้คำเดียวเลยว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะถือหุ้นไว้เฉยๆ ในปัจจุบันหากราคาหุ้นออก sideway ไม่กี่เดือนนักลงทุนก็ไม่อาจทนได้แล้ว ในขณะที่ตั้งแต่ SCG ที่ผ่านมามีการ sideway มากถึง 16 ปี รวมกับวิกฤตที่ราคาหุ้นร่วงลงไปกว่า 60% ถึง 2 ครั้ง เมื่อเทียบกันแล้วในกรณีของ SCG นั้นหนักหนาสาหัสมากกว่าหลายเท่าตัว

แต่ท้ายที่สุดไม่ได้ต้องการจะสื่อว่าควรจะหาหุ้นอะไรก็ได้แล้วให้อดทนถือผ่านวิกฤตหรือ sideway เพราะปัจจัยที่ SCG สามารถผ่านวิกฤตได้จะต้องมีพื้นฐานและผู้บริหารระดับสุดยอด ซึ่งไม่ใช่เรื่องทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นได้กับบริษัทอื่นๆ มีหุ้นหลายตัวที่ไม่สามารถผ่านวิกฤตได้และล้มละลายหายจากไป การที่จะสามารถเลือกที่สุดยอดและทนถือมานานนับ 30 ปีได้นั้น มีเพียง “นักลงทุนมหัสจรรย์” เท่านั้นที่สามารถทำได้ หรือนอกจากว่าคุณจะลืมว่าเคยซื้อหุ้นตัวนี้ไว้…

ปล. จริงๆแล้ว SCG น่าจะเข้าเทรดก่อนปี 1984 และผลตอบแทนทั้งหมดน่าจะมากกว่า 150 เด้ง แต่เนื่องจากผมมีข้อมูลเพียงเท่านี้จึงสามารถนำเสนอได้เพียงเท่านี้ แต่อย่างไรก็ตามประเด็นของบทความก็น่าจะยังไม่เปลี่ยนแปลง