เครื่องดื่ม Sappe อนาคตจะเป็นอย่างไร?

SAPPE ถือว่าเป็นบริษัทขายเครื่องดื่มที่อยู่ในตลาดมานานพอสมควร ในขณะที่มีหลายเจ้าล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก

สินค้าหลักคือเครื่องดื่ม Beauti Drink และ Mogu Mogu

ไปอ่านข้อมูลจากหลายแหล่งก็ตกใจในประเด็นเรื่องของการตลาดพอสมควร เพราะ Sappe เองแทบจะไม่ได้ทำการตลาดบน TV เลย (ไม่เหมือนเครื่องดื่มอีกหลาย ๆ เจ้า) ในขณะที่บริษัทเองก็ยังคงรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดได้ดีพอสมควร

SAPPE จริง ๆ แล้วถือว่าเป็นบริษัทส่งออกได้เลย เพราะสัดส่วนการขายในประเทศมีเพียง 35% ของรายได้ ที่เหลือส่งออกไปกว่า 70 ประเทศทั่วโลก

ประเทศหลัก ๆ ที่ส่งออกและมียอดขายดีมีอยู่ราว 5 – 6 บริษัทหลัก ๆ ที่อยู่ในเอเชีย มียุโรป อเมริกา และตะวันออกกลางบ้างประปราย

สัดส่วนการขายส่งค้าเป็นหน่วย USD ก็อยู่ราว ๆ 40% – 50% ทำให้เวลาค่าเงินบาทอ่อนก็น่าจะได้ประโยชน์

พื้นฐานของ SAPPE ในด้านฐานะการเงินก็ถือว่าผ่านพอสมควร ทั้งระดับอัตรากำไร ROE ที่สูง ในขณะที่ D/E ต่ำเพียง 0.25

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “สินค้า” ของบริษัท จะอยู่รอดหรือไม่ต่างหาก

เพราะต่อให้ยอดขายจะเติบโตอย่างดี แต่เนื่องจากสินค้าลอกเลียนแบบได้ง่ายมาก ยอดขายที่เติบโตจึงไม่สามารถอยู่ทนได้นาน เดี๋ยวก็มีคู่แข่งเข้ามาแย่ง

ในส่วนของส่งออก ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าชื่อ Gumi Gumi หรือ Mogu Mogu นี่แหละ ที่เป็นเครืองดื่มที่มีวุ้นมะพร้าวข้างในเอาไว้เคี้ยว

เท่าที่ลองสังเกตมาคือ ผมลองชิมของยี่ห้อ “กาโตะ” เทียบกัน ก็พบว่ารสชาติไม่ได้ต่างกันมาก แถมของ Sappe แพงกว่าด้วย

ประเด็นนี้เลยทำให้ไม่ค่อยแน่ใจว่าการเติบโตของตลาดต่างประเทศด้วยสินค้านี้จะอยู่ยั่งยืนหรือเปล่า

อย่างที่ว่าไปแล้วว่า สินค้าเลียนแบบได้ง่ายมาก ถ้าเครื่องดื่มวุ้นมะพร้าวในต่างประเทศโตดี เดี๋ยวก็น่าจะมีคู่แข่ง Local เข้ามาแข่งด้วย

สิ่งที่ SAPPE เสียเปรียบก็น่าจะเป็นต้นทุนสินค้าที่จะต้องส่งออก ต้นทุนจะสูงกว่าคู่แข่ง Local ของประเทศต่าง ๆ ที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ

แต่ SAPPE เองก็ปรับ Position ตัวเองเป็น Premium mass ทำให้เป็นเหตุผลที่พอรับได้ในการตั้งราคาที่สูงกว่ายี่ห้ออื่น

บริษัทเองก็ให้เหตุผลว่าการที่ตัวเองเป็น First Mover ของเครื่องดื่มวุ้นมะพร้าว ทำให้คนจดจำรสชาติในภาพ Original

ประเด็นนี้ผมก็ลองมานั่งคิดดูว่ามันเป็นจริงหรือไม่ คำตอบที่ได้คือก็อาจจะเป็นไปได้

มีอาหารและเครื่องดื่มหลาย ๆ ยี่ห้อที่เป็น First Mover แล้วลูกค้าติดรสชาติอยู่จริงบนโลก

ตัวอย่างเช่น Coke, Pepsi, ไก่ทอด KFC, เฟรนฟราย McDonald ซึ่งเหล่านี้ไม่รู้ผมคิดถูกหรือเปล่า เพราะรสชาติของดังกล่าวมันแตกต่างจากเจ้าอื่นจริง ๆ แบบเทียบกันไม่ติด

ดังนั้นสำหรับ Gumi Gumi ที่กำลังตีตลาดต่างประเทศ คำถามสำคัญก็น่าจะเป็น รสชาติดีกว่าเจ้าอื่นหรือเปล่า วุ้นมะพร้าวที่ผลิตได้ดีกว่าผลิตประเทศอื่นจริงมั้ย?

คำตอบนี้ตอบไม่ได้ อาจจะต้องหาโอกาสฝากคนอื่นซื้อกลับมาให้ลองหน่อยระหว่างยี่ห้อของ Sappe และยี่ห้ออื่น

ลองมาดูประเด็นของตลาด Functional Drink ในไทยกันบ้าง

Functional Drink อาจจะแบ่งเป็น 3 หมวดหลัก ๆ คือ บำรุงสมอง ความสวยงาม และสร้างสมดุล

SAPPE จะอยู่หมวด 2 ซะส่วนใหญ่ในสินค้าชื่อ “Beauti Drink”

คู่แข่งในตลาดนี้มีเยอะทั้งที่ยังอยู่และได้ตายจากไปแล้ว

คำถามสำคัญคือตลาด Functional Drink ไม่ได้เติบโตสูงแล้ว SAPPE จะอยู่รอดได้หรือเปล่าในภาวะที่การแข่งขันสูง และกำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ได้ขยายตัว

ผมลองหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ ก็เจอสิ่งที่น่าสนใจ ยังจำแบรนด์เหล่านี้กันได้มั้ย Amino OK ของ Oishi, B-ing ของ สิงห์ และอื่น ๆ อีกมากมายที่เคยขายอยู่ตาม 7-11

ปัจจุบันเราจะไม่เห็นสินค้าเหล่านี้แล้ว ไม่รู้ว่าเพราะอะไรที่ทำให้บริษัทเหล่านั้นถอนสินค้าออก แต่ที่แน่ ๆ คือยอดขายไม่ดี

ส่วนกลับมาที่ SAPPE เราก็ต้องมองดูว่ามีโอกาสหรือเปล่าที่ในอนาคตบริษัทจะต้องถอนตัวออกจากตลาดเช่นกัน

ส่วนตัวก็คิดว่าไม่น่า เพราะว่าสินค้าหลักของบริษัทมีเพียงไม่กี่ SKU (Stock Keeping Unit หรือ ประเภทสินค้า) เท่านั้น ดังนั้นก็อาจจะเป็นปัจจัยที่ดีที่ทำให้บริษัทผลักดันตัวเองเรื่อย ๆ ที่จะครองตลาดต่อไป

จะไม่เหมือนเคส Amino Ok หรือ B-ing ที่มาจากบริษัทที่มีหลากหลาย SKU มาก ๆ ดังนั้นบริษัทเหล่านี้ก็ตัดสินใจได้ไม่ยากถ้าจะต้องตัดหน่วยธุรกิจที่ทำกำไรได้น้อยออกไป

ยุคนี้เครื่องดื่ม Functional ที่มาแรง ๆ ก็คงจะเป็นพวก Mansome ของกระทิงแดง เราก็ต้องมาติดตามว่าแบรนด์นี้จะติดตลาดอยู่นานมั้ย

สรุปคือ SAPPE เองก็ได้พิสูจน์ตัวเองมาระดับหนึ่งแล้วว่าสามารถแข่งขันในตลาดนี้ได้ จากหลักฐานก็คือแบรนด์ติดตลาดมาเป็นระยะเวลาหลักสิบปี

แต่เวลาลงทุนก็ไม่อยากมองแง่ดีเกินไป จะต้องเผื่อความเสี่ยงไว้บ้างเพราะมันจะต้องมีอะไรในกอไผ่อีกที่เรายังไม่พบ

สามารถดูข้อมูลของ SAPPE เพิ่มเติมได้ที่

https://www.finnomena.com/stock/SAPPE

——————————–

Vithan Minaphinant
Securities Investment Analyst (IA)
ตรวจทานบทความ


คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้เขียนบทความนี้มิได้รับค่าตอบแทนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด | ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้

TSF2024