เราจะรู้ได้อย่างไรว่าบริษัทไหนมีงบการเงินแข็งแกร่ง หากเราลงทุนไปแล้วบริษัทจะไม่ล้มละลาย?
การล้มละลายหรือการถูกเพิกถอนจากตลาดของบริษัทถือเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่หลวงมากที่สุดสำหรับนักลงทุน หากเราลงทุนในบริษัทแล้วเกิดเหตุการณ์ข้างต้น พอร์ตการลงทุนของเราก็อาจจะเกิดความเสียหายอย่างหนักได้ง่ายๆ
ดังนั้น การตรวจสอบความแข็งแกร่งของบริษัทก่อนลงทุนจึงเป็นสิ่งแรกๆ ที่นักลงทุนทุกคนควรให้ความสนใจ นักลงทุนทั่วไปสามารถตรวจสอบฐานะการเงินของบริษัทผ่านงบการเงินประจำปี หรือประจำไตรมาสได้
จริง ๆ แล้วหลักการที่สำคัญนั้นไม่ยากเลย “บริษัทที่จะไม่มีปัญหา คือบริษัทที่ไม่มีหนี้”
หากเราลงทุนในบริษัทที่ไม่มีหนี้สินเลยหรือมีน้อย เราก็มั่นใจได้ในระดับสูงว่าบริษัทจะไม่เกิดปัญหาทางการเงิน แต่บริษัทส่วนใหญ่ต่างมีหนี้สินเพื่อทำธุรกิจ ดังนั้นทุกบริษัทต่างก็มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น คำถามคือเราจะประเมินอย่างไร?
F-Score ช่วยเราได้
F-Score คือ เครื่องมือการจัดลำดับความมั่นคงทางการเงิน โดย Mr. Joseph D. Piotroski
(อย่าเพิ่งถอนหายใจว่าจะเจอสูตรคำนวนล้ำลึกพิสดาร เพราะจริงๆ แล้วมันไม่ใช่สูตรซะทีเดียว แต่เป็นวิธีการประเมินบริษัทมากกว่า)
F-Score จะประกอบไปด้วยคำถาม 9 ข้อสำหรับบริษัทที่เราจะประเมิน โดยแต่ละข้อจะสามารถตอบได้เพียง 2 คำตอบด้วยกันคือ “ใช่” จะได้ 1 คะแนน และ “ไม่ใช่” จะได้ 0 คะแนน
คำถามก็คือ
- ROA มากกว่า 0 หรือไม่?
- ROA ดีขึ้นจากปีก่อนหรือไม่?
- CFO มากกว่า 0 หรือไม่?
- CFO มากกว่ากำไรสุทธิหรือไม่?
- D/E ลดลงจากปีก่อนหรือไม่?
- Current Ratio ดีขึ้นจากปีก่อนหรือไม่?
- ไม่มีการเพิ่มทุน
- อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้นจากปีก่อนหรือไม่?
- Asset turnover ดีขึ้นจากปีก่อนหรือไม่?
เมื่อตอบได้ครบทุกข้อแล้ว เราจะรวมคะแนนทั้งหมดของบริษัท หากรวมแล้วได้ 0 คะแนนหมายถึง “แย่มาก” และ 9 คะแนนคือ “เยี่ยมมาก”
จริงๆ แล้ว F-Score อาจจะดูซับซ้อน และคำถามแต่ละข้อก็อาจจะต้องใช้ความรู้ระดับหนึ่งถึงจะค้นหาคำตอบได้ แต่สำหรับมือใหม่ขอให้เข้าใจเพียงแค่ว่า ความสำคัญก็คือ “บริษัทจะต้องมีฐานะการเงินดี” “มีผลประกอบการที่ดี” และที่สำคัญ “บริษัทจะต้องมีกระแสเงินสดที่ดี”
F-Score เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน?
เราลองมาดูตัวอย่างกันบ้าง…
บริษัท A ได้ F-Score เพียง 2 คะแนนเท่านั้น หมายความว่า A เป็นบริษัทที่มีโอกาสล้มละลายสูง
บริษัทต่อมาคือ B ได้ F-Score เพียง 3 คะแนนเท่านั้น แปลว่า B เองก็มีฐานะการเงินที่ย่ำแย่เช่นกัน
เราอาจจะสามารถสรุปได้ว่าบริษัทที่มี F-Score ต่ำกว่า 4 คะแนนถือว่ามีความเสี่ยง นักลงทุนที่ไม่ได้ลงลึกมากควรจะหลีกเลี่ยงบริษัทประเภทนี้ทุกประการ
งั้นเราลองมาดูบริษัทกลางๆ กันบ้างว่ามี F-Score เป็นเท่าไหร่
บริษัท C มี F-Score อยู่ที่ 7 คะแนน แปลว่าบริษัทนี้หายห่วงเรื่องปัญหาทางการเงินและความเสี่ยงในการลงทุน
สุดท้ายเราลองมาดูบริษัทต่างประเทศที่น่าสนใจอีกหนึ่งบริษัทกัน นั่นคือ TESLA ผู้ผลิตรถยนต์ EV รายใหญ่ของพี่ Elon Musk กัน
TESLA มี F-Score ที่ต่ำมากเพียง 2 คะแนนเท่านั้น หมายความว่าจริงๆ แล้วบริษัทนี้มีปัญหาทางการเงินอย่างมาก
แต่เหตุใดบริษัทจึงยังสามารถอยู่รอดได้และไม่ล้มละลาย?
คำตอบก็คือ เพราะนักลงทุนยังเชื่อมั่น Elon Musk และยอมเพิ่มทุนให้ทุกปี หรือพูดง่ายๆ คือ “บริษัทยังอยู่ได้เพราะเงินนักลงทุน” อนาคตไม่มีใครรู้ว่า Tesla จะประสบความสำเร็จหรือล้มละลาย สำหรับนักลงทุนที่ชื่นชอบการลงทุนในความฝันก็อาจจะรอลุ้นได้ แต่สำหรับนักลงทุนที่ไม่ต้องการให้เงินทุนของเราเกิดความเสี่ยง Tesla ก็อาจจะเป็นอีกบริษัทที่เราควรจะหลีกเลี่ยงเช่นกัน
สรุปคือ F-Score ถือว่าเป็นเครื่องมือในการประเมินการเงินของบริษัทที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก
แก่นหลักของ F-Score คือพยายามดูฐานะการเงินและผลประกอบการของบริษัทในจุดสำคัญต่าง และยังดูย้อนกลับว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นหรือแย่ลง บริษัทที่มี F-Score ต่ำกว่า 4 ถือว่ามีความเสี่ยงสูงและควรหลีกเลี่ยง เพราะโอกาสที่บริษัทเหล่านี้จะถูกเพิกถอนมีสูง
นักลงทุนไม่จำเป็นต้องนำเงินไปเสี่ยงกับบริษัทเหล่านี้ เพราะในตลาดหุ้นยังมีหุ้นดีๆ อีกมากมายที่สามารถให้ผลตอบแทนดีและความเสี่ยงยังต่ำอีกด้วย
—————————-
Vithan Minaphinant
Securities Investment Analyst (IA)
ตรวจทานบทความ
คำเตือน
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้เขียนบทความนี้มิได้รับค่าตอบแทนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด | ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้