หลังวิกฤตเงินจะเป็นขยะจริงหรือ?

ช่วงนี้เราจะเห็นสื่อต่าง ๆ ออกมาพูดว่า “Cash is trash” หรือ “เงินคือขยะ” ข้อความนี้อันที่จริงผมเองก็เคยได้ยินมานานแล้วเหมือนกัน แต่ช่วงนี้เห็นเยอะเป็นพิเศษ ด้วยแนวคิดที่ว่าปี 2020 นี้ เงินกำลังด้อยค่าลงอย่างรวดเร็วหากเทียบกับปีก่อน ๆ หรือจะพูดได้ว่าเรากำลังมีกำลังซื้อที่น้อยลงนั่นเอง ซึ่งตัวชี้วัดเป็นตัวเลขง่าย ๆ ของการที่เงินกำลังด้อยค่าคือตัวเลขเงินเฟ้อ คำถามคือทำไมเค้าถึงคิดกันว่าหลังวิกฤตเงินเฟ้อจะพุ่ง?

ก่อนจะอธิบายแนวคิดที่ว่าเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นนี้ ผมขอเอาสถิติมาให้ดูกันก่อนว่าวิกฤตครั้งก่อน ๆ เนี่ย มันเกิดจริงมั้ย

เริ่มด้วยวิกฤตใหญ่ล่าสุดเลยดีกว่า ชาวบ้านเรียกกันว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือวิกฤตซับไพร์ม

หลังวิกฤตเงินจะเป็นขยะจริงหรือ?

รูปแสดงช่วงเกิดวิกฤต 2008-2009

หลังวิกฤตเงินจะเป็นขยะจริงหรือ?

รูปแสดงช่วงหลังวิกฤต จะเห็นว่าเงินเฟ้อพุ่งทั่วโลก

จากรูปที่โชว์ให้ดู เราจะเห็นว่าเงินเฟ้อเกิดขึ้นหลังวิกฤตจริง รวมถึงบ้านเราเองยังมีเงินเฟ้อเลย เรามาดูกันว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น และปัจจุบันมีอะไรที่คล้ายสมัย 2008 บ้าง

เรามาดูสถานการณ์ปัจจุบันกันก่อนดีกว่า ช่วงนี้ทั่วโลกมีคนตกงานจำนวนมาก ธนาคารกลางพิมพ์เงินออกมาจำนวนมากเพื่อมาซื้อตราสารทางการเงินและใช้นโยบายกดดอกเบี้ยให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ รัฐบาลดำเนินการใช้นโยบายขาดดุลเพื่ออุ้มเศรษฐกิจ และปัจจุบันไม่มีเงินเฟ้อเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่ำ คนไม่เดินทางท่องเที่ยวกันเหมือนก่อนโควิด ก็จะเห็นว่าธุรกิจโรงแรมหรือสายการบินช่วงนี้แทบไม่มีลูกค้าเลย เรียกได้ว่าย่ำแย่มาก ๆ แล้วเราลองมาดูสมัยวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ 2008 กันบ้าง ช่วงนี้มันมีอะไรที่ต่างกับตอนนี้บ้าง

จุดเริ่มต้นของวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เกิดจากฟองสบู่อสังหาฯ ในสหรัฐแตก และเป็นการแตกที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อสังหาริมทรัพย์เลยก็ว่าได้ ทำให้เกิดหนี้เสียจำนวนมาก และนำไปสู่การล้มละลายของบริษัทต่าง ๆ รวมถึง เลห์แมน บราเธอร์ส ! (Lehman Brother) ธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐที่เปิดมากว่า 158 ปี ถึงกับล้มละลาย นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ เพื่อหยุดลูกโซ่ของการล้มละลาย ธนาคารกลางสหรัฐจำเป็นต้องเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบจำนวนมากด้วยการทำ QE นั่นเอง

หลังจากมีการทำ QE การล้มละลายก็เริ่มหยุดลง ซึ่งในตอนนั้น นโยบายดอกเบี้ยถูกกดให้อยู่ที่ต่ำ รัฐบาลดำเนินนโยบายขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนในปัจจุบันเลยครับ และเงินเฟ้อก็อยู่ในจุดต่ำเหมือนกัน ดูไปดูมามันก็ดูไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่มันต่างกันชัด ๆ คือ วิกฤตโควิดนี้ทำให้คนตกงานมากกว่าหลายเท่าครับ และสิ่งสำคัญที่สุดคือวิกฤตโควิดเกิดขึ้นในช่วงดอกเบี้ยอยู่ในจุดต่ำอยู่แล้ว ทำให้ธนาคารกลางทำอะไรได้ไม่มากนอกจากพิมพ์เงิน เอาง่าย ๆ คือ วิกฤตโควิดนี้ทำให้เกิดการพิมพ์เงินจำนวนมหาศาล กว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

จากที่เราได้เห็นกันแล้วว่าภายหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นั้น ผลของการดีดกลับของเงินเฟ้อที่เกิดจากนโยบายดอกเบี้ยต่ำ + การพิมพ์เงินปริมาณมากเข้ามาใน Financial sector ท้ายที่สุดเงินก็ไหลกลับเข้ามาใน Real sector ในวันที่เศรษฐกิจฟื้นกลับมาอยู่ดี ซึ่งในวันนั้นจะทำให้ปริมาณเงินในชีวิตจริงมันเยอะมาก ๆ ทำให้เงินด้อยค่านั้นเอง

มาถึงตรงนี้เพื่อน ๆ คงเห็นภาพแล้วนะครับว่าหลังวิกฤตโควิดจบ เศรษฐกิจเริ่มฟื้น เราจะเจอกับเงินเฟ้อที่สูงขนาดไหน ถ้าเกิดเป็นแบบนั้นนี่คงเรียกได้ว่า “Cash is trash” อย่างไม่ต้องสงสัยครับ

แต่ผมเองมีแนวคิดอีกแบบครับ สำหรับผมแล้วยังไง Cash ก็ยังเป็น King ครับ เพราะสำหรับผมแล้ว ผมยอมถือเงินสดไว้ในตอนนี้ เพื่อรอโอกาสที่จะได้ซื้อของถูกในอนาคตครับ เพราะถึงแม้จุดอ่อนของเงินคืนมันจะด้อยค่า แต่จุดแข็งมันคือสภาพคล่องครับ ในยามนี้ผมมองว่าสภาพคล่องเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดครับ แต่นี่ก็เป็นแค่ความคิดเห็นของผม แล้วคุณล่ะ Cash is king หรือ Cash is trash ในความคิดของคุณ?

Intergold

ที่มาบทความ: https://www.intergold.co.th/investor_core/หลังวิกฤตเงินจะเป็นขยะ/

TSF2024