สมัยนี้เวลาตัวแทนหรือพนักงานแบงก์มาเสนอขายกรมธรรม์ประกันชีวิตให้เรา เชื่อว่าอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจะต้องพูดถึงประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit-Linked) !!
ยูนิตลิงค์คือผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นทั้งประกันชีวิต และให้โอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการลงทุนอีกด้วย ซึ่งทำให้หลายคนหันมาสนใจกรมธรรม์ประกันชีวิตประเภทนี้มากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจในรายละเอียดและการทำงานของกรมธรรม์ยูนิตลิงค์อย่างแท้จริง
เพื่อให้รู้ว่ามันแตกต่างจากประกันชีวิตแบบเดิมๆ ยังไง และเหมาะกับเราจริงๆ รึเปล่า วันนี้พวกเราได้ไปเสาะหาข้อมูลมาเสิร์ฟแล้ว
แต่ก่อนอื่น…เรามาทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่า ว่าเบี้ยประกันที่เราจ่ายไปสำหรับกรมธรร์ประกันชีวิตแบบดั้งเดิมถูกแบ่งออกยังไงบ้าง
หลังจากที่บริษัทประกันชีวิตรับเบี้ยประกันไปแล้ว เบี้ยของเราจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ละ
1. ส่วนของความคุ้มครอง เป็นส่วนที่กำหนดทุนประกัน (เงินที่ได้เวลาเสียชีวิต) ของกรมธรรม์ โดยส่วนนี้จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละเพศและอายุ รวมถึงจำนวนทุนประกันที่กรมธรรม์กำหนดไว้น่ะ
2. ต้นทุนการดำเนินงานของบริษัท หลักๆ ก็คือ พวกค่านายหน้าตัวแทน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทประกัน อะไรแบบนี้
3. เงินออมหรือเงินลงทุน บริษัทประกันจะนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับมา ซึ่งจะเป็นทั้งรายได้ของบริษัท และเป็นผลประโยชน์ที่การันตีกับลูกค้าเอาไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น “มูลค่าเงินสด” ที่สะสมไว้ในกรมธรรม์ และ “เงินคืน” หรือ “เงินปันผล” (สำหรับบางแบบ) ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์
ซึ่งรูปแบบของประกันชีวิตแต่ละแบบก็มีที่มาจากการจัดสรรเบี้ยไปตามส่วนของความคุ้มครอง (1) และส่วนเงินออม (3)
ตัวอย่างนะ เช่น ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เบี้ยก็จะถูกแบ่งไปที่ส่วนของความคุ้มครองมากกว่าส่วนของเงินออม เราก็จะได้ความคุ้มครอง (ทุนประกันหรือเงินที่ได้เวลาเสียชีวิต) มากกว่าเงินคืนหรือผลตอบแทนของกรมธรรม์
หรือประกันแบบชั่วระยะเวลา ที่เบี้ยทั้งหมดถูกแบ่งไปจ่ายแต่ส่วนของความคุ้มครอง (1) และต้นทุนของบริษัท (2) ไม่มีส่วนของเงินออม (3) เลย จึงเป็นแบบที่ให้ความคุ้มครองสูงสุด
ส่วนแบบประกันสะสมทรัพย์ หรือแบบบำนาญ เบี้ยจะถูกนำไปลงในส่วนของเงินออม (3) มาก ทำให้ได้ผลตอบแทนจากกรมธรรม์มากกว่า แต่ความคุ้มครองก็จะไม่สูงนัก
คราวนี้ ถ้าเราดูในส่วนของเงินออมหรือเงินลงทุน (3) ด้วยความที่บริษัทประกันการันตีผลตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นเงินคืนหรือเงินครบกำหนดสัญญา (เงินที่ได้กรณีที่ยังมีชีวิตอยู่เมื่อกรมธรรม์สิ้นผลบังคับ) ทำให้บริษัทประกันต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ และอาจมีหุ้นได้นิดหน่อย จึงทำให้ประกันชีวิตแบบดั้งเดิมให้ผลตอบแทนต่ำ และมีรูปแบบผลตอบแทนและความคุ้มครองที่ตายตัว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ระหว่างปีกรมธรรม์
…ซึ่งนี่แหละ จึงทำให้ยูนิตลิงค์เริ่มเข้ามามีบทบาท โดยเฉพาะในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำๆ
ยูนิตลิงค์ (Unit-Linked) คือประกันที่มาพร้อมหน่วยลงทุน
สำหรับประกันชีวิตควบการลงทุนหรือยูนิตลิงค์ เบี้ยประกันก็จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนเช่นเดียวกัน
…และเราสามารถเลือกเองได้เลยว่าเบี้ยที่เราจ่ายจะเน้นไปที่ความคุ้มครอง (1) หรือ เงินลงทุน (3) โดยเราสามารถกำหนดความคุ้มครองของกรมธรรม์ได้เอง หากเราต้องการทุนประกันที่สูง เราก็เลือกจำนวนเท่าของเบี้ยประกันที่สูงขึ้น ซึ่งหมายความว่า เบี้ยก็จะถูกจ่ายไปที่ส่วนของความคุ้มครองมากกว่า ส่วนของเงินลงทุนก็จะน้อยลง
และเช่นเดียวกันในทางตรงกันข้าม ส่วนของเงินลงทุน บริษัทประกันก็ให้อิสระให้เราเลือกเองได้เลยว่าจะลงทุนในกองทุนอะไร ด้วยสัดส่วนเท่าไร เพื่อให้เหมาะกับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ นี่จึงเป็นที่มาของโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนมากขึ้นกว่าประกันแบบดั้งเดิม โดยมูลค่าบัญชีหรือมูลค่าเงินสด (มูลค่าหน่วยลงทุนนี่ละ) ก็จะถูกขายคืนมาเป็นรายเดือน (ส่วนใหญ่) หรือรายปีเพื่อจ่ายค่าการประกันภัย (ส่วนของความคุ้มครอง) และค่าใช้จ่ายต่างๆ ของกรมธรรม์
จะเห็นว่า การที่เราสามารถกำหนดสัดส่วนความคุ้มครองและเงินลงทุน รวมทั้งสัดส่วนของกองทุนรวมที่จะนำไปลงทุนได้เองนั้น ก็หมายความว่าเราจะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงเองในการสร้างมูลค่าบัญชี หรือผลตอบแทนของกรมธรรม์ด้วยตัวเอง บริษัทประกันไม่ได้การันตีผลตอบแทนไว้ให้เหมือนประกันชีวิตแบบดั้งเดิม แต่ในทางกลับกันเราก็ได้อิสระจากความยืดหยุ่นของยูนิตลิงค์ในการเลือกจำนวนเบี้ยที่อยากจ่ายและทุนประกันที่อยากได้ ปรับเพิ่มหรือลดทุนประกันระหว่างทางที่เรายังถือกรมธรรม์อยู่ เลือกพักชำระเบี้ยหรือถอนเงินบางส่วนจากกรมธรรม์เท่าไร ปีไหนบ้าง ก็สามารถทำได้หมดตราบใดที่กรมธรรม์ยังมีผลบังคับ (เมื่อมูลค่าบัญชียังเพียงพอที่จะชำระค่าการประกันภัยและค่าใช้จ่ายต่างๆ ของกรมธรรม์)
เมื่อเปรียบเทียบกับประกันชีวิตแบบดั้งเดิมแล้ว สิ่งที่ทำให้ยูนิตลิงค์แตกต่างก็เห็นจะเป็น ความอิสระในการบริหารและออกแบบกรมธรรม์ด้วยตัวผู้ทำประกันเอง ในขณะที่ประกันชีวิตแบบดั้งเดิม ทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้ว นั่นก็เป็นเพราะบริษัทประกันรับความเสี่ยงไว้เอง เราจึงไม่สามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนของเบี้ยเพื่อความคุ้มครองหรือเพื่อการลงทุนได้ไงล่ะ
ส่วนแบบไหนจะดีกว่ากัน อันนี้ก็ต้องติดตามกันในคราวหน้าเนอะ วันนี้เริ่มยาวไปละ แต่อย่าลืมว่าหลักสำคัญของการซื้อประกันคือตัวเราเองนี่แหละเหมาะกับแบบไหน เพื่อจะได้ประกันรูปแบบที่ตรงกับเป้าหมายและความต้องการของเราที่สุดนะ
ข้อมูลอ้างอิง
http://www.oic.or.th/th/node/7482
ติดตามเรื่องราวประกันแบบสบายๆ ได้ที่
https://www.facebook.com/insuremonster/