Prepare for Hawkish เตรียมพร้อมรับนโยบายการเงินแบบตึงตัว

เดือนกันยายน 2017 ที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นสัญญาณที่ Hawkish มากขึ้นของ FED หลัง Janet Yellen แถลงถึงมุมมองที่จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแม้อัตราเงินเฟ้อยังไม่มีความแน่นอน ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวต่อเนื่อง จากมุมมอง รางวัลแห่งการรอคอยเมื่อ GAR ทำผลตอบแทนสูงสุดในรอบปี

รูปที่ 1 ธีมการลงทุนของปี 2017: ที่มา INFINITI Global Investors

เมื่อมาดูผลตอบแทนในแต่ละสินทรัพย์ตลาดหุ้น Emerging Market และ Asia ex Japan ยังคงทำผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดหุ้นพัฒนาแล้วตั้งแต่ต้นปี อย่างไรก็ตามในเดือนนี้ตลาดหุ้นกลุ่มดังกล่าวรวมถึงตลาดหุ้นจีน CSI300 มีการปรับฐานบ้างเล็กน้อย ส่วนกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันมีการฟื้นตัวขึ้นมาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ SET กลับมาเป็นตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาโดดเด่นในปีนี้มาอยู่ที่ 11.15% เทียบกับเดือนที่แล้ว 5.04% ทำผลตอบแทนขึ้นมาอย่างรวดเร็วภายในเวลา 1 เดือน

รูปที่ 2 ผลตอบแทนในสินทรัพย์ชนิดต่างๆ YTD ณ 25 ก.ย. 60: ที่มา Bloomberg

ประเด็นหลักสำคัญในเดือนนี้คือการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed เริ่มส่งสัญญาณการใช้นโยบายที่เข้มงวดทางการเงินมากขึ้น แม้ล่าสุดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1-1.25% และมีแผนเริ่มปรับลดขนาดงบดุลขนาดกว่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนต.ค.นี้ โดย FOMC คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปี 2017 นี้ 3 ครั้งในปี 2018 และอีก 2 ครั้ง ในปี 2019

ในขณะที่ Janet Yellen ได้ออกมาแถลงมุมมองเพิ่มเติมว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังมีความไม่แน่นอน โดยมองว่าจะเป็นการประมาทที่จะรอให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นแตะระดับ 2% ก่อนแล้วค่อยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย คำแถลงการณ์ดังกล่าวจึงเป็นคำแถลงการณ์ที่มีมุมมองค่อนข้าง Hawkish ต่อการดำเนินนโยบายทางการเงิน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปี เริ่มปรับตัวขึ้นและค่าเงินดอลลาร์เริ่มกลับมาแข็งค่ากดดันราคาทองคำและหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่และเอเชีย

กลับมาที่ฝั่งประเทศไทย ตัวเลขเศรษฐกิจไทยโดยส่วนใหญ่มีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น พร้อมกับครม.เห็นชอบผ่านร่างพ.ร.บ.โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อส่งเสริมการลงทุน และปัญหาทางการเมืองที่คลี่คลายลง ทำให้เรามองว่าหุ้นไทยยังน่าลงทุนต่อในระยะกลาง

รูปที่ 4 ตัวเลขเศรษฐกิจไทย: ที่มา BOT, FTI, Bloomberg, Nikkei และ HIS Markit

มาดูกันที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงฟื้นตัว พร้อมดัชนีหุ้นที่ทำ new high เนื่องจากทรัมป์ได้ประกาศแผนการปฏิรูปนโยบายการทางภาษี เช่น การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือ 20% จาก 35% อย่างไรก็ตาม เรายังคงหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นสหรัฐเนื่องจาก valuation ที่แพงเมื่อเทียบกับการเติบโตและมีความเสี่ยงจากปัจจัยการเมืองภายในทำเนียบขาว รวมถึงข้อพิพาทกับเกาหลีเหนือ

รูปที่ 5 ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ: ที่มา Bloomberg, BEA และ ISM

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจจีนโดยภาพรวมยังเติบโตได้ดีโดยเฉพาะตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 2 ที่เติบโตถึง 6.9% ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 6.8% ประกอบกับกำไรของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 2 ของหุ้นจีนยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เรายังคงน้ำหนักการลงทุนในหุ้นจีนต่อเนื่องจากโมเมนตัมการเติบโตที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน

รูปที่ 6 ตัวเลขเศรษฐกิจจีน: ที่มา Bloomberg, Caixin, และ IHS Markit

ประเด็นสำคัญของจีนในรอบเดือนที่ผ่านมาคือการถูกปรับลด Rating ความน่าเชื่อถือในระยะยาวโดย S&P Global Ratings ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของจีนลง 1 ขั้น จาก AA- สู่ระดับ A+ เท่ากับของ Moody’s และ Fitch ซึ่งมีการปรับลดไปก่อนหน้า โดยระบุถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อที่มากขึ้นของจีน อย่างไรก็ตาม เรายังมีมุมมองเชิงบวก เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกจากรัฐบาลจีนในการเพิ่มเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจผ่านการปฏิรูปด้านการเงิน นอกจากนี้ระดับ Corporate Debt to GDP ของจีนก็เริ่มมีการปรับลดลงในไตรมาส 2 ปี 2017 นี้อีกด้วย

ในขณะเดียวกันวันที่ 18 ตุลาคมนี้ทางการจีนจะมีการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นจัดขึ้นทุกๆ 5 ปี เพื่อเป็นการเปลี่ยนแปลงคณะผู้นำจีนที่สำคัญและกำหนดนโยบายสำคัญๆของประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า ในด้านเศรษฐกิจ ทางเรามองว่าการประชุมครั้งนี้น่าจะยังมุ่งเน้นไปที่การลดภาระหนี้ (Deleveraging) และการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจในจีน ซึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว โดยยังเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามนโยบายที่จะออกมาอย่างใกล้ชิด

รูปที่ 8 การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ของจีน: ที่มา Chinatoday

ฟากญี่ปุ่น เราเริ่มมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น โดยตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ในขณะที่หุ้นญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัว หลังนายกฯอาเบะประกาศยุบสภาเพื่อเตรียมการเลือกตั้งครั้งใหม่ อย่างไรก็ตามเรายังเลี่ยงการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นเนื่องจากมองว่าค่าเงินเยนอาจกลับมาแข็งค่าและกดดันหุ้นญี่ปุ่นได้อีก หากประเด็นเกาหลีเหนือกลับมาสร้างความกังวลอีกครั้ง

รูปที่ 9 ตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่น: ที่มา Bloomberg, Nikkei และ IHS Markit

มาดูกันที่ตัวเลขเศรษฐกิจของยุโรปยังคงอยู่ในช่วงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ

รูปที่ 10 ตัวเลขเศรษฐกิจยุโรป: ที่มา Bloomberg และ IHS Markit

ทั้งนี้เรามองว่าตลาดหุ้นยุโรปเริ่มมีความน่าสนใจเนื่องจากกำไรที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นและราคาที่ปรับลดลงมาตั้งแต่ช่วงกลางปี โดยปัจจุบันมีระดับ trailing PE ราว 21.3 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะ 5 ปีอยู่ที่ระดับ 22 เท่า นอกจากนี้ระดับการประมาณการการเติบโตของกำไรในปีนี้ยังอยู่ในระดับสูงราว 14.7% เป็นรองเพียงแค่หุ้นกลุ่ม Emerging Market และ Asia ex Japan ที่มีอยู่ในพอร์ตของเราแล้ว

ด้านการเมืองในยุโรป นางแองเกลา แมร์เคิล นายกฯเยอรมันจากพรรค CDU ชนะการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้จำนวนที่นั่งส.ส.ในสภา 246 ที่นั่งจาก 709 ที่นั่ง และสามารถรักษาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกสมัย ส่งผลให้ความเสี่ยงทางการเมืองในยุโรปเริ่มลดลง

ด้านโมเมนตัม ดัชนีหุ้นยุโรป STOXX 600 สามารถปรับตัวทะลุแนวต้านขาลงตั้งแต่เดือนเม.ย.ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน สะท้อนภาพขาขึ้นรอบใหม่ จากมุมมองทั้งหมด เราจึงแนะนำเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นยุโรปในเดือนนี้

รูปที่ 13 ดัชนี Stoxx 600: ที่มา Bloomberg, INFINITI

ทางฝั่งดัชนีหุ้นอินเดียปรับตัวหลุดแนวโน้มขาขึ้นในระยะสั้นเข้าสู่การปรับฐาน จาก valuation ที่ค่อนข้างสูง โดยเรายังคงแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นอินเดียรายประเทศเดี่ยว

รูปที่ 14 ดัชนี SENSEX: ที่มา Bloomberg, INFINITI

อย่างไรก็ตาม เรามองว่ายังคงมีความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง เช่น

  • ความเสี่ยงจากความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี เนื่องจากยังเดินหน้าทดสอบขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง
  • ความเสี่ยงจากการที่ธนาคารกลางต่างๆจะดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวเร็วเกินไป เช่น การขึ้นดอกเบี้ย การลดขนาดงบดุลของเฟด อาจดึงสภาพคล่องออกจากระบบอย่างฉับพลัน

รูปที่ 15 ความเสี่ยงต่างๆ ที่ต้องระมัดระวัง : ที่มา Bloomberg, US Government publishing officer

ด้านราคาทองคำอ่อนตัวปรับฐานลงมาต่ำกว่าบริเวณ $1,300 จากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่ากดดัน ทางเรายังคงคำแนะนำให้ลงทุนทองคำตามสัดส่วนของพอร์ตที่ 10% เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

รูปที่ 16 ภาพราคาทองคำ เทียบกับ USD Index ข้อมูล ณ 25 ก.ย. 60: ที่มา Bloomberg

สำหรับคำแนะนำพอร์ตการลงทุนแบบ Global Absolute Return Portfolio ของ INFINITI Global Investors ซึ่งเป็นคำแนะนำการลงทุนแบบ Absolute Return ซึ่งมีความยืดหยุ่นต่อการปรับเปลี่ยนพอร์ตตามมุมมองภาวะตลาด มีเป้าหมายผลตอบแทนการลงทุนต่อปีประมาณ 8 – 10% ซึ่งต่ำกว่าผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นเล็กน้อย และมีเป้าหมายความผันผวนของพอร์ตในระดับที่ต่ำกว่าตลาดหุ้นจากการกระจายการลงทุน โดยกลยุทธ์นี้จะพยายามลดความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญในยามที่พื้นฐานการลงทุนไม่ดี ทั้งนี้สำหรับเดือนตุลาคม 2017 เราแนะนำสัดส่วนการจัดพอร์ตดังนี้

รูปที่ 17 Global Absolute Return Portfolio Model เดือน ต.ค. 60: ที่มา INFINITI, FINNOMENA

ภายใต้สภาวะที่ Fed เริ่มส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์เริ่มแข็งค่าและค่าเงินบาทและยูโรเริ่มอ่อนค่า เราจึงเแนะนำขายทำกำไรหุ้นไทยกลุ่มปันผล 15% ที่อาจโดนค่าเงินบาทกดดัน ในขณะที่เราเห็นโอกาสในการลงทุนหุ้นกลุ่มยุโรป ที่มีการเติบโตและโมเมนตัมที่โดดเด่น ในขณะที่ valuation ยังไม่แพงเกินไป จึงได้แนะนำให้เพิ่มสัดส่วนในหุ้นกลุ่มยุโรป 10% และอีก 5% พักไว้ในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น โดยเราเชื่อว่าปี 2017 น่าจะยังเป็นปีที่ดีต่อพอร์ตการลงทุน Global Absolute Return

นอกเหนือจากพอร์ต Global Absolute Return ทาง INFINITI Global Investors ได้ออกพอร์ตการลงทุนประเภทใหม่ “FINNOMENA TOP5” ซึ่งเป็นพอร์ตที่เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงมาก มีความรู้ ความเข้าใจในตลาดทุน สามารถรับความผันผวนสูงได้ รับการปรับพอร์ตแบบฉับไวและการตัดขาดทุน (Cut Loss Policy) ได้ โดยต้องการผลตอบแทนสูงคล้ายการลงทุนในหุ้น เป็นการจัดพอร์ตแบบกระจายการลงทุนผ่านกองทุนหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลก เน้นคัดเลือกกองทุนรวมที่เหมาะสมกับสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา สูงสุดไม่เกิน 5 กอง ปรับพอร์ตตามภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด

รูปที่ 18 FINNOMENA TOP5 เดือน ต.ค. 60: ที่มาINFINITI, FINNOMENA

โดยเราแนะนำเน้นลงทุนในหุ้นไทยที่มีนโยบายการบริหารเชิงรุกที่โดดเด่นต่างสไตล์ 3 กองสัดส่วนอย่างละ 20% ตลาดเกิดใหม่ 20% และหุ้นยุโรป 20% ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองการลงทุนในภาพรวมและโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในเดือนตุลาคมนี้

FundTalk รายงาน


พิเศษ
หากท่านสนใจเปิดบัญชีลงทุนเพื่อรับคำแนะนำลงทุนจริง กรุณากรอกรายละเอียดสั้น ๆ ได้ ที่ www.finnomena.com/nter-exclusive-club เพื่อรับบริการพิเศษจากเรา (จำนวนจำกัด)

TSF2024