MSCI Index คืออะไร?
MSCI Index เป็นดัชนีอ้างอิงของบริษัท Morgan Stanley Capital International (MSCI) ซึ่งเป็นบริษัททำดัชนีราคาหุ้นชั้นนำของโลก การวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลการดำเนินงานของพอร์ตการลงทุน รวมไปถึงเครื่องมือเกี่ยวกับธรรมาภิบาล สำหรับนักลงทุนสถาบันและกองทุน Hedge fund ต่าง ๆ นั่นเอง
โดยสิ่งที่ทำให้ MSCI คุณหูคุ้นตานักลงทุนคงหนีไม่พ้นดัชนีราคาหุ้นต่าง ๆ ที่ทางหน่วยงานได้จัดทำขึ้นมามากมาย อีกทั้งยังมีชื่อชั้นที่พ่วงติดมาด้วยอย่าง Morgan Stanley หนึ่งในธนาคารอันดับต้น ๆ ของสหรัฐฯ ที่มีชื่อเสียง
จุดเด่นสำคัญหลัก ๆ ของดัชนี MSCI คือ ดัชนีหุ้นที่หลากหลายกระจายไปทั่วภูมิภาคและธีม มีสินทรัพย์ต่าง ๆ หลากหลาย ใช้สำหรับค้นหาโอกาสในการลงทุนและนำนเสนอได้อย่างดีเยี่ยม โดยมีตั้งแต่ดัชนีพื้นฐานอย่าง MSCI World Index (ดัชนีหุ้นโลก) ซึ่งมีให้เห็นกันโดยทั่วไปในหมู่การลงทุน หรือจะเป็นดัชนีแหวกแนวอย่าง MSCI World Women Leadership’s Index ซึ่งเป็นดัชนีที่นำหุ้นขนาดกลางและขนาดใหญ่จาก 23 ประเทศพัฒนาแล้ว ที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศในหมู่ผู้นำองค์กรและบอร์ดบริหาร
ซึ่งความครบ ครอบคลุม รวมถึงไอเดียที่มีความสดใหม่ของดัชนีหุ้นจาก MSCI เป็นสิ่งที่ทำให้เหล่านักลงทุน นักวิเคราะห์ รวมถึงผู้จัดการกองทุน เลือกใช้ข้อมูลจากหน่วยงานดังกล่าวนั่นเอง
MSCI สามารถนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไรได้บ้าง
- สามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์เทียบเคียงหรือ Benchmark สำหรับวัดผลการดำเนินงานของกองทุน หรือการลงทุนของตนเองได้ ตัวอย่างเช่น เราบอกตัวเองว่าเราเป็นนักลงทุนหุ้นเติบโต สิ่งหนึ่งที่ใช้วัดผลงานตัวเราเองว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็อาจนำผลตอบแทนพอร์ตตนเองมาเทียบกับดัชนี MSCI ที่ย้อนหลังกี่ปีก็ว่ากันไป
- นำมาใช้หาไอเดียการลงทุนในธีม ประเทศต่าง ๆ และหุ้นที่มีขนาดหลากหลาย สำหรับนักลงทุนที่ใช้ปัจจัยทางด้านราคามาเกี่ยวข้อง เช่น ใช้ดูโมเมนตัมราคาของธีมการลงทุนต่าง ๆ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ
- ใช้ดูสัดส่วนการลงทุนตามภูมิภาคหรือเซ็กเตอร์หุ้นต่าง ๆ เช่น หากคนพูดถึงดัชนีหุ้นโลก เราอาจจะเสิร์ชหา MSCI World Index ว่า มีหุ้นอะไรประกอบอยู่บ้าง และอาจนำไปต่อยอดการลงทุนของตนเอง หรือใช้เทียบกับกองทุนที่เราจะลงทุน
- ใช้สำหรับดูปัจจัยต่าง ๆ ของเซ็กเตอร์ที่เราสนใจจะลงทุนเฉพาะกลุ่ม ตัวอย่างเช่น
ภาพแสดงปัจจัยทางด้านการลงทุนต่าง ๆ ของเซ็กเตอร์เทคโนโลยี ที่มา: MSCI World Information Technology Index Fact Sheet วันที่: 30 กรกฎาคม 2021
ภาพแสดงปัจจัยทางด้านการลงทุนต่าง ๆ ของเซ็กเตอร์เฮลท์แคร์ ที่มา: MSCI World Healthcare Index Fact Sheet วันที่: 30 กรกฎาคม 2021
จากภาพจะเห็นได้ว่าทาง MSCI ได้มีการจัดทำปัจจัยเชิงพื้นฐานในด้านต่าง ๆ ของดัชนีเทียบกับดัชนีหุ้นโลก จากภาพเราจะเห็นได้ว่า หุ้นเทคโนโลยีหากเทียบกับหุ้นโลก มีมูลค่าที่แพงกว่าหุ้นเฮลท์แคร์ ในขณะที่โมเมนตัมทางด้านราคาในทิศทางที่ดีกว่า มีความผันผวนสูงกว่า และมีการจ่ายปันผลที่น้อยกว่า ซึ่งเราสามารถนำมาใช้ดูลักษณะเฉพาะตัวของเซ็กเตอร์นั้น ๆ เพื่อไปประกอบการลงทุนได้
MSCI มีกี่ประเภท อะไรบ้าง?
ดัชนี MSCI มีการแบ่งเป็นหลายประเภทสินทรัพย์ ในประเภทของหุ้นเอง จะแบ่งตามประเทศ (เช่น ประเทศอเมริกา ประเทศจีน รวมถึงประเทศไทยด้วย ใช้ชื่อว่า MSCI Thailand Index) แบ่งตามภูมิภาค (เช่น โซนอเมริกา ยุโรป เอเชีย) แบ่งตามกลุ่มของประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Markets) และประเทศที่กำลังพัฒนา (Emerging Markets) โดยจะคัดหุ้นที่มีขนาดใหญ่และสภาพคล่องสูง มูลค่าประมาณ 85% ของมูลค่าของหุ้นทั้งหมดในประเทศ ออกมาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบดัชนีของประเทศนั้นๆ
นอกจากหุ้นแล้ว ก็ยังมีสินทรัพย์ประเภทอื่นที่ใช้วัด ได้แก่ ตราสารหนี้ ตลาดเงิน รวมถึงอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย
ภาพแสดงความครอบคลุมและหลากหลายของดัชนีหุ้น MSCI ที่มา: MSCI.com
และหากใครสงสัยว่าดัชนีหุ้นของ MSCI ครอบคลุมขนาดไหน? ก็สำรวจได้ผ่านรูปผ่านด้านบนได้เลย! ของเค้าครบจริง ๆ
เกณฑ์ในการเข้า MSCI
หลัก ๆ แล้ว MSCI จะมีเกณฑ์การคัดกรองผ่านตั้งแต่ภาพใหญ่ไปจนถึงภาพย่อยแบ่งออกเป็น 3 ข้อหลัก ๆ ดังนี้
การเติบโตทางเศรษฐกิจ
เริ่มตั้งแต่การเติบโตเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ ว่ามีความยั่งยืนหรือไม่ โดยการคัดกรองในส่วนนี้ จะใช้กับประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น เนื่องจากตลาดเกิดใหม่และตลาดหุ้นชายขอบ มีการเติบโตหลากหลายรูปแบบและแตกต่างกันออกไป
ขนาดและสภาพคล่อง
หลักทรัพย์ที่จะถูกนำมาจัดสรรในดัชนีจะต้องผ่านเงื่อนไขขั้นต่ำของ MSCI ทั้งในแง่ของขนาดบริษัท ขนาดหลักทรัพย์ และสภาพคล่องของหลักทรัพย์ เพื่อทำให้แน่ใจได้ว่า หุ้นที่ถูกคัดเลือกเข้ามายังดัชนี คู่ควรและเหมาะสมกับการลงทุนจริง ๆ (ซื้อง่าย ขายคล่อง ดำเนินธุรกิจเป็นรูปเป็นร่างจนมีมูลค่าสูงประมาณหนึ่ง)
เงื่อนไขในการเข้าถึงตลาด
สิ่ง ๆ นี้เป็นปัจจัยที่สะท้อนถึงความสามารถในการเข้าลงทุนของนักลงทุนสถาบัน ที่ต้องอาศัยความคล่องตัวในการเข้าลงทุน เพราะ มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาล โดยเงื่อนไขในการเข้าถึงตลาดก็เช่น ความเปิดการในการให้ต่างชาติเป็นเจ้าของ ความยืดหยุ่นของเงินทุนที่ไหลเข้าและออก ประสิทธิภาพของการดำเนินงาน ความหลากหลายของเครื่องมือการลงทุน และ ความเสถียรของสถาบัน
เมื่อเห็นดังนี้แล้วเราอาจจะสรุปได้ว่า หุ้นที่ถูกคัดเลือกเข้ามาในดัชนีของ MSCI มีการพินิจพิจารณามาอย่างดี และสามารถเข้าลงทุนได้ทั้งรายใหญ่และรายย่อย นั่นเอง
หลังจากเราดูกฎเกณฑ์หลัก ๆ กันไปแล้ว มาดูเกณฑ์ในการเข้า MSCI ของประเทศไทยกันดีกว่าค่ะ สิ่งที่หุ้นตัวนั้นต้องมี คือ
1) มีสภาพคล่องในการซื้อขายสูง สิ่งที่ใช้วัดสภาพคล่อง คือ ฟรีโฟลต (Free Float) ค่ะ กำหนดขั้นต่ำที่ 15%
2) มีมูลค่าตลาดที่คูณกับฟรีโฟลตแล้ว สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด โดยที่ไทยถูกกำหนดมูลค่าตลาดขั้นต่ำอยู่ที่ 250 ล้านเหรียญ
แล้ว “ฟรีโฟลต” (Free Float) คืออะไรกันนะ?
ฟรีโฟลต คือ สัดส่วนของหุ้นที่นักลงทุนทั่วไปสามารถซื้อขายได้ โดยไม่รวมผู้ถือหุ้นที่มีส่วนร่วมในการบริหาร ดังนั้นถ้าหุ้นตัวไหนยิ่งมีค่าฟรีโฟลตมาก แสดงถึงหุ้นมีสภาพคล่องสูง และทำให้มูลค่าตลาดสูงขึ้นตามไปด้วย
ยกตัวอย่างการคำนวณ
หุ้น F มีมูลค่าตลาด 1,000 ล้านเหรียญ
มีค่า Free Float เท่ากับ 25%
ดังนั้นเมื่อนำหุ้น F มาคิดเป็นมูลค่าตลาดจะได้ 250 ล้านเหรียญ
ซึ่งเข้าเกณฑ์ของ MSCI หลังจากนั้นจะถูกนำมาจัดลำดับตามขนาดและสภาพคล่องในแต่ละอุตสาหกรรม
ใน MSCI Thailand Index มีหุ้นตัวไหนอยู่บ้าง?
ปัจจุบันใน MSCI Thailand Index มีหุ้นอยู่ 34 ตัว โดยหุ้น 5 อันดับแรกของดัชนี คือ หุ้น PTT, CPALL, AOT, SCB และ KBANK คิดเป็น 41.77% ของดัชนีทั้งหมด โดย 2 หุ้นใหม่ที่เข้าเกณฑ์ในรอบพฤศจิกายน 2561 นี้ คือ GULF มีฟรีโฟลตอยู่ที่ 27.42% (ข้อมูล ณ 13 มี.ค. 61) และมีมูลค่าตลาด 159,464.18 ล้านบาท และ MTC มีฟรีโฟลตอยู่ที่ 31.62% (ข้อมูล ณ 6 มี.ค. 61) และมูลค่าตลาด 103,880 ล้านบาท
ทำไมนักลงทุนต่างชาติถึงนิยมใช้ MSCI เป็นเกณฑ์?
เพราะนักลงทุนต่างชาติไม่ได้รู้จักหุ้นในไทยทุกตัว ดังนั้นด้วยเกณฑ์ของ MSCI ที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ ทำให้นักลงทุนต่างชาติ มักจะเลือกลงทุนกับหุ้นไทย ในรายชื่อที่ถูกคำนวณในดัชนี MSCI และดัชนี MSCI ก็มักจะเป็น Benchmark สำหรับในหลายๆ กองทุนรวมด้วย
หวังว่าบทความนี้จะทำให้คุณผู้อ่านรู้จัก MSCI ได้ดีขึ้น และถ้าหากคุณผู้อ่านอยากดูข้อมูลหุ้นไทยตัวอื่นๆ เพิ่มเติม สามารถเข้ามาดูในที่ https://www.finnomena.com/stock หรือ แอดไลน์แอด @FINNOMENA แค่พิมพ์ชื่อหุ้นในช่อง Chat ก็จะเห็นข้อมูลของหุ้นตัวนั้น พร้อมงบการเงินย้อนหลัง 10 ปีได้ง่ายๆ เลยค่ะ
เรื่องน่ารู้: รู้หรือไม่ MSCI เป็นหุ้นรายตัวด้วยนะ และผลตอบแทนยังไม่ธรรมดาอีกด้วย หากใครสนใจก็ลองไปศึกษากันได้
ภาพแสดงผลตอบแทนบริษัท MSCI วันที่: 12 สิงหาคม 2021
ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
ใครจะไปคิดว่า “Invest in What You Know” เป็นหลักการที่ไม่มีวันตายจริง ๆ จริงจริงแล้วหุ้นหลายเด้งที่เรากำลังตามหาซ่อนอยู่ใน Fund Fact Sheet กองทุนมาตลอดโดยที่เราไม่รู้ตัว
เห็นอย่างนี้แล้วก็อย่าลืมสังเกตสิ่งรอบตัวกันนะ ของใช้จากป้าข้างบ้านบางทีมันอาจยิ่งใหญ่มากกว่าที่คุณคิดก็ได้
ที่มา
https://www.msci.com/
https://www.msci.com/documents/10199/c41a73d1-9037-4dbd-a175-703d3bb77ae6
https://www.msci.com/documents/10199/69aaf9fd-d91d-4505-a877-4b1ad70ee855#:~:text=The%20MSCI%20World%20Information%20Technology,Classification%20Standard%20(GICS%C2%AE).
https://www.sec.or.th/
อ่านคำศัพท์อื่นๆ ทางการเงินได้ที่ : https://www.finnomena.com/vocab/