-กองทุน BTP มีขนาดกองทุนใหญ่อันดับที่ 6 ในประเภทกองทุนหุ้นไทย โดยล่าสุดมีขนาดกองทุนกว่า 13,000 ล้านบาทแล้ว โดยกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือกองทุน KFSDIV มีขนาดกองทุนอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท (ณ 23 พ.ย. 61)
-กองทุน BTP จัดตั้งมายาวนานมาก ตั้งแต่ 7 ต.ค. 2537 เลยทีเดียว ผ่านมา 24 ปีกว่าแล้ว ถือว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ
-แต่ๆๆ กองทุน BTP ไม่ใช่กองทุนแรกของบัวหลวง เป็นลำดับที่ 5 ของกองทุนบัวหลวงทั้งหมด โดยกองทุนกองแรกของบัวหลวง คือ กองทุน BKA จัดตั้งขึ้นมาวันที่ 11 มี.ค. 2536
-จริงๆ แล้วกองทุน BTP มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท แต่ได้มีการเพิ่มเงินทุนโครงการ ครบ 5,000 ล้านบาท เมื่อปี 2557 และเขยิบมาเป็น 10,000 ล้านบาท เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา
-มีนโยบายลงทุนในหุ้นใหญ่ 10 ตัว แต่ไม่ได้ลงทุนในหุ้น 10 ตัวที่มี Market Cap ใหญ่ที่สุดในตลาดนะ มีแค่ 2 ใน 10 ตัวเท่านั้น คือ CPALL กับ BDMS (ณ 6 ต.ค. 61)
-กองทุน BTP ไม่ได้ลงทุนในหุ้น 10 ตัวเสมอไป เงื่อนไขกองทุน คือ จะลงทุนในหุ้นมากที่สุดไม่เกิน 12 ตัว โดยจะลงทุนเป็นเวลาไม่เกิน 45 วันทำการ นับจากวันที่มีการลงทุนมากกว่าหุ้น 10 ตัว
-ผลตอบแทน 10 ปีย้อนหลัง มีเพียง 2 ปีเท่านั้นที่กองทุนติดลบ แต่ก็ยังลบน้อยกว่า SET นะ คือ ปี 2551 (BTP -37.20% SET TR -47.56%) และ ปี 2556 (BTP -0.37% SET TR -6.70%)
-นักรบย่อมมีบาดแผล ถึงแม้กองทุน BTP จะทำผลตอบแทนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาตลอด แต่เชื่อหรือไม่ว่า ตั้งแต่จัดตั้งกองทุน เคยขาดทุนสูงสุด (Maximum Drawdown) ที่ -79.52% เชียวนะ เกิดขึ้นในปี 2543
-ในขณะที่ปี 2008 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั้งโลก คงหนีไม่พ้นที่จะไม่ติดลบ ขาดทุนสูงสุด (Maximum Drawdown) อยู่ที่ -50.81% ในขณะที่ SET TR -56.14%
-ถ้าถือกองทุนนี้ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว เชื่อหรือไม่ ว่าได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 19.24% เชียวหนา
-ปัจจุบันกองทุน BTP มีอัตราส่วนหมุนเวียนการลงทุนของกองทุน (Portfolio Turnover Ratio: PTR) หรือการสับเปลี่ยนหุ้นในพอร์ต อยู่ที่ 0.94 (ณ ต.ค. 61) ซึ่งถือว่าไม่ได้มากเกินไปสำหรับกองทุนประเภท Active เพราะถือหุ้นหลักๆ อยู่ 10 ตัว ก็มีต้องสับเปลี่ยนหุ้นบ้าง เพราะหากเลือกหุ้นผิดไป 1 ตัว จะส่งผลต่อพอร์ตเยอะเหมือนกัน
-มาพูดถึงสถิติสูงสุด-ต่ำสุดในการหมุนเวียนการลงทุนของกองทุนกันบ้าง เคยสับเปลี่ยนสูงสุดที่ 1.46 เลยทีเดียว (รายงานประจำปี ต.ค. 59) และเคยสับเปลี่ยนต่ำสุดที่ 0.25 (รายงานครึ่งปี เม.ย. 58) ถือว่าเป็นช่วงที่เน้น Buy & Hold ไม่ซื้อเพิ่ม ไม่ขายออก
-นักลงทุนแทบจะทั้งหมด คงจะรู้จักกองทุน BTP แต่รู้หรือไม่ว่ากองทุนนี้บริหารกันเป็นทีม โดยมีผู้จัดการกองทุน 5 คน ผู้จัดการกองทุนที่อยู่มานานที่สุดคือคุณสุดารัตน์ ทิพยเทอดธนา บริหารกองทุนมาตั้งแต่ 2 พ.ค. 49
-เชื่อหรือไม่ กองทุน BTP เคยถือหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์มาก่อน ซึ่งคือหุ้น SLC (ปัจจุบัน คือ NEWS) และหุ้น GL (ในตำนาน) แต่ไม่ต้องตกใจไป เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2547 ถ้ายังถือถึงตอนนี้ล่ะก็…. (ภาพตัด)
ที่มา
https://www.bualuang.co.th
https://www.sec.or.th
Jessada Sookdhis
Investment Analyst (IA)
ตรวจทานบทความ
คำเตือน
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้เขียนบทความนี้มิได้รับค่าตอบแทนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด | ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้