กุญแจความสำเร็จของการทำสิ่งใดก็ตามคือการมีตัวชี้วัดที่ถูกต้อง และตัวชี้วัดความสำเร็จของการลงทุนแน่นอนว่าคือ “ผลตอบแทน” โดย TWRR คือหนึ่งในวิธีการคำนวณผลตอบแทนที่แท้จริงของพอร์ตการลงทุนที่สะท้อนความสำเร็จ หรือล้มเหลวของการลงทุนได้อย่างแท้จริง บทความนี้สอนตั้งแต่พื้นฐานคือ ผลตอบแทนแต่ละส่วนของการลงทุนอันได้แก่ Realized / Unrealized Gain Loss ไปจนถึงรายละเอียดเชิงลึกของการคำนวณผลตอบแทนด้วยวิธี TWRR (Time Weighted Rate of Return) ไปดูรายละเอียดกันเลย (มีวิดีโอท้ายบทความ)
Unrealized Gain / Loss (กำไร / ขาดทุนที่ยังไม่รับรู้)
เวลาเราเปิดดูพอร์ตการลงทุนของเราไม่ว่าจะเป็นพอร์ตหุ้นใน Streaming หรือพอร์ตกองทุนรวม สิ่งที่แสดงคือรายงานสถานะลงทุน (Portfolio Outstanding) ซึ่งช่องขวาสุดของรายงานมักจะมีช่องที่ชื่อว่า “กำไร/ขาดทุน” ซึ่งสิ่งนี้ล่ะครับคือ Unrealized Gain / Loss หรือกำไร / ขาดทุนที่ยังไม่รับรู้
ตารางที่ 1: ตัวอย่างรายงานสถานะพอร์ตการลงทุน (Portfolio Outstanding)
จากตารางคือตัวอย่างรายงานแสดงสถานะพอร์ตการลงทุน ช่องขวาสุดก็คือ Unrealized Gain/Loss นั่นเอง ข้อสังเกตคือการคำนวณ % Unrealized Gain/Loss นั้นจะคำนวณจากมูลค่าเงินลงทุน แต่แท้จริงแล้ว มูลค่าเงินลงทุนของนักลงทุนนั้นไม่คงที่ เพราะตลอดระยะเวลาการลงทุนเรามีการเพิ่มและลดเงินลงทุนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการจะวัดผลตอบแทนจากมูลค่าเงินลงทุนในปัจจุบันดังที่แสดงในรูปนั้นไม่ใช่ตัววัดที่สะท้อนผลการดำเนินงานที่แท้จริง
Realized Gain / Loss (กำไร / ขาดทุนที่รับรู้ไปแล้ว)
ทุกครั้งที่เราทำการขายเงินลงทุน ผลกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้นเรียกว่า กำไร / ขาดทุนที่รับรู้ไปแล้ว บ่อยครั้งเรามักจะไม่ได้ทำสถิติข้อมูลเก็บเอาไว้ใน excel เช่นเดียวกับเงินปันผลหุ้น หรือ เงินขายคืนอัตโนมัติของกองทุนรวม (Auto-redemption) ก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของ กำไร / ขาดทุนที่รับรู้ไปแล้วเช่นกัน ดังนั้นการจะคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนที่ถูกต้องนั้นต้องนำผลตอบแทนส่วนนี้เข้าไปรวมคำนวณด้วย ซึ่งผลตอบแทนที่ยังไม่รับรู้เมื่อรวมกับผลตอบแทนที่รับรู้ไปแล้วก็คือ “ผลตอบแทนรวม (Total Return)” นั่นเอง
Time Weighted Rate of Return (TWRR)
TWRR คือการวัดผลตอบแทนรวมของการลงทุนในแต่ละช่วงเวลาซึ่งมีเงินต้นไม่เท่ากัน แล้วเอาผลตอบแทนมาต่อกัน มีสูตรคำนวณดังต่อไปนี้
TWRR = [(1 + R1)(t+R2)(1+R3)…(t+Rn)] – 1
โดย R = ผลตอบแทนรวมของการลงทุนแต่ละวันเมื่อเทียบกับเงินต้นในแต่ละวัน
รูปที่ 1 ตัวอย่างกราฟ TWRR | ที่มา FINNOMENA
วิธีการคำนวณด้วย TWRR จุดสำคัญคือเป็นการคำนวณผลตอบแทนรวมของการลงทุนเมื่อเทียบกับเงินต้นในแต่ละวัน ซึ่งจะทำให้เส้นผลตอบแทน TWRR (ดูตัวอย่างในรูป) สะท้อนผลตอบแทนที่แท้จริงจากการลงทุนที่รวมคำนวณทั้งกำไรขาดทุนที่รับรู้ไปแล้วในอดีต เงินปันผลที่เคยได้ในอดีต ไปจนถึงกำไรขาดทุนที่ยังไม่รับรู้ และคำนวณเป็นรายวันเมื่อเทียบกับเงินต้นของการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่สะท้อนความสำเร็จของการลงทุนได้ดีที่สุด และเป็นไปตามหลักสากล
การที่เรามีตัวชี้วัดที่ถูกต้อง และมีการวัดผลอย่างสม่ำเสมอจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรามีความสำเร็จในสิ่งที่เราทำ ล่าสุดทาง FINNOMENA ซึ่งเป็นบริษัทที่ผู้เขียนทำงานอยู่ได้เริ่มใช้งานการคำนวณ TWRR กับทุกพอร์ตของนักลงทุนเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งผู้เขียนมีความเชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของการลงทุนในระยะยาวครับ ทดลองสร้างแผนการลงทุนของท่านง่าย ๆ เพียงโหลดแอพ FINNOMENA ได้เลย สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีครับ
FundTalk รายงาน
ที่มาบทความ: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644633