ลงทุนอย่างไรเมื่อหุ้น ทอง พันธบัตร ขึ้นพร้อมกัน?

ข้อมูลล่าสุดที่ผมค้นจาก Bloomberg พบว่า ตัวเลขการถือครองทองคำผ่านการลงทุน ETFs ปรับขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งที่ปริมาณการถือครองทองคำสูงถึง 2,500 ตัน และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ เช่นเดียวกับราคาทองคำที่ค่อย ๆ ปรับขึ้นมาจนใกล้เคียง 1,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง

ลงทุนอย่างไรเมื่อหุ้น ทอง พันธบัตร ขึ้นพร้อมกัน?

รูปที่ 1 ปริมาณถึงครองทองคำผ่านกองทุน ETF ทั่วโลก

เช่นเดียวกับราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา โดยล่าสุด Yield พันธบัตรรัฐบาล 10 ปีสหรัฐฯ ยังคงยืนอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 1.60%

ขยายความอีกครั้งว่าสำหรับตลาดตราสารหนี้นั้น เมื่อมีแรงซื้อมากกว่าแรงขายจะส่งผลให้ Yield หรือผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับตลอดช่วงระยะเวลาลงทุนลดลง ซึ่งหมายถึงราคาตราสารหนี้ที่แพงขึ้นนั่นเอง (ตลาดขาขึ้น = Yield ขาลง)

ขณะเดียวกันราคาหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ก็อยู่ในทิศทางขาขึ้นเช่นเดียวกัน โดยล่าสุดดัชนี S&P 500 และ NASDAQ ยังคงทำจุดสูงสุดใหม่อยู่บ่อยครั้งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

แปลว่าอะไร ? เมื่อหุ้น ทอง พันธบัตร ราคาปรับขึ้นพร้อม ๆ กัน

โดยปกติเมื่อหุ้น หรือกลุ่ม Risky Asset ราคาปรับเพิ่มขึ้น มักจะเกิดขึ้นพร้อมกับทองคำ และพันธบัตร ซึ่งเป็น Low Risk Asset ราคาปรับลดลง นั่นคือเมื่อตลาดหุ้นขาขึ้นนั้น เม็ดเงินลงทุนมักจะไหลจากทองคำ และพันธบัตรไปหาตลาดหุ้น

กลับกัน ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนเติบโตไม่ดี เม็ดเงินลงทุนมักไหลออกจากตลาดหุ้น วิ่งไปหาทองคำ และพันธบัตร เนื่องจากกลัวความเสี่ยง

แต่วันนี้เรากลับเจอภาวะที่สินทรัพย์ลงทุน ทั้งเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำเหล่านี้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นไปด้วยกัน

ลงทุนอย่างไรเมื่อหุ้น ทอง พันธบัตร ขึ้นพร้อมกัน?

สิ่งที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2019 ที่ผ่านมาคือธนาคารกลางสหรัฐฯ กลับมาฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจอีกแล้ว ซึ่งทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนใน Risk Free Asset อย่างพันธบัตรรัฐบาลอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น อยู่ในระดับต่ำมาก ส่งผลให้เม็ดเงินในระบบสถาบันการเงินไหลไปหาการลงทุนที่มีผลตอบแทนมากกว่า ซึ่งส่วนหนึ่งก็ไหลไปที่การปล่อยกู้กับภาคเศรษฐกิจจริงมากขึ้น และแน่นอนอีกส่วนหนึ่งก็ไหลไปที่สินทรัพย์การลงทุนต่าง ๆ

โดยล่าสุดข้อมูลจาก Bloomberg พบว่าสินทรัพย์รวมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่นชั่วโมงนี้รวมกันสูงกว่า 14.5 ล้านล้านเหรียญเข้าไปแล้ว และเมื่อดูจากสัญญาณของธนาคารกลางทั้งสามประเทศล่าสุดก็ดูพร้อมที่จะเป่าลูกโป่ง ฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นต่อไปในปีนี้

ลงทุนอย่างไรเมื่อหุ้น ทอง พันธบัตร ขึ้นพร้อมกัน?

เมื่อกลับมาที่ภาคเศรษฐกิจจริง ดูเหมือนความพยายามฉีดเงินอย่างต่อเนื่องของเหล่าธนาคารกลางนั้นเริ่มส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวมอีกครั้ง โดย Citi Global Economic Surprise Index เริ่มพลิกกลับมาเป็นบวก หมายถึงตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มประกาศออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์

เช่นเดียวกับผลประกอบการของบริษัทจะทะเบียนของปี 2019 ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ทีได้ทยอยประกาศงบการเงินรวมของทั้งปีออกมาเกือบครบแล้ว โดยรวมมีผลประกอบการที่ดีกว่าที่ตลาดคาดไปพอสมควรทีเดียว

จัดพอร์ตลงทุนแบบ Don’t Fight The FED

คำว่า Don’t Fight the FED เป็นวลีคลาสสิคอันหนึ่งสำหรับนักลงทุนสถาบันว่าอย่าลงทุนสวนทางกับทิศทางของธนาคารกลาง เพราะหน้าตักของธนาคารกลางนั้นมีขนาดใหญ่กว่ามาก เช่นถ้าธนาคารกลางกำลังส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย นักลงทุนก็ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนพันธบัตรระยะยาว

ผู้เขียนมีมุมมองต่อการจัดพอร์ต ณ เวลานี้ว่า เมื่อเหล่าแบงค์ชาติกำลังฉีดเงินเข้าระบบต่อเนื่อง ดังนั้นสิ่งที่มีค่าน้อยที่สุด และไม่ควรมีในพอร์ตมากนักก็คือเจ้า “เงินสดนั่นเอง” เพราะดอกเบี้ยนั้นต่ำ และจะคงต่ำต่อไปอีกนาน คำถามต่อไปคือถ้าไม่ลงเงินสดแล้วไปลงอะไรดี

พันธบัตร และหุ้นกู้ผมมองว่า ณ ระดับ Yield ตอนนี้ต่ำจนไม่น่าสนใจ แนะนำเป็น Underweight โดยพันธบัตร 10 ปีของไทยให้ผลตอบแทน (Yield) อยู่ที่ 1% ต้น ๆ เท่านั้น ขณะที่ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 1.6% ดังนั้นผลตอบแทนการลงทุนในตราสารหนี้สำหรับระยะเวลาการลงทุน 1 ปีต่อจากนี้ไม่น่าจะสูงนัก เว้นแต่กรณีที่โลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งของสหรัฐฯ และไทยสามารถปรับตัวลงได้อีก

มาที่กองทุนอสังหาฯ (REITs) ผมมองว่า ณ ตอนนี้ Yield ของกองอสังหาฯ ที่ประมาณ 5% จัดว่าน่าสนใจทีเดียวโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1% อย่างไรก็ตามผมคิดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนอสังหาฯ ไทยจากตรงนี้คงไม่ได้สูงมากเหมือน 1-2 ปีที่ผ่านมา จึงแนะนำเป็น Neutral Weight คือมีในพอร์ต 10-20% ก็พอแล้ว

ขณะที่หุ้นผมเป็น Overweight โดยเฉพาะหุ้น Asia ex Japan รองลงมาเป็นญี่ปุ่น และยุโรป ขณะที่หุ้นอเมริกายังชอบแต่ติดตรงระดับ Valuation ที่แพงไปนิด ส่วนหุ้นไทยไม่ชอบจากพื้นฐานเศรษฐกิจ และการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ดูไม่ดีเลย

สุดท้ายคือทองคำซึ่งจากข้อมูลล่าสุดผมแนะนำให้กลับไป Overweight กันอีกครั้ง ส่วนหนึ่งมาจาก Demand ทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกส่วนหนึ่งคือการที่เรา Overweight หุ้นในปลายวัฏจักรขาขึ้นแบบนี้ เราควรมีการลงทุนในทองคำมากระดับหนึ่งเพื่อใช้ในการ hedge หรือลดความเสี่ยงหากตลาดหุ้น หรือเศรษฐกิจผันผวนเอาไว้ด้วย

FundTalk รายงาน

TSF2024