แจ้งเตือน

ตอน กองทุน Principal APDI

กองทุน Top Pick

สำหรับการลงทุนปี 2020

Created by:

JESSADA SOOKDHIS (FundTalk)

#สรุปสั้นๆ ทำไม Principal APDI จึงน่าลงทุน

หากสนใจลงทุนในกองทุน PRINCIPAL APDI สามารถสร้างแผนเพื่อเปิดบัญชีลงทุนได้ที่
https://www.finnomena.com/nter-space-create/

**ปิดรับคำตอบสำหรับร่วมสนุกในกิจกรรมแจกหนังสือ “สุดยอดนักบริหารเงินมืออาชีพ (Career in Finance)” **
ใครพลาดครั้งนี้ รอติดตามกิจกรรมต่อๆ ไปกันได้นะครับ

Introduction

ปีหน้าการลงทุนอะไรที่น่าจะให้ผลตอบแทนดีคือคำถามยอดฮิตในใจนักลงทุนทุกคน สำหรับผม Principal APDI เป็นคำตอบนั้น 

หลัก ๆ เพราะเป็นจังหวะตลาดที่เหมาะสมสำหรับหุ้น Asia Pacific ex Japan และสไตล์การลงทุนของทีมผู้จัดการกองทุนที่ของจริงสุด ๆ ทั้ง Alpha, Unconstrained และ Barbell 

นำมาซึ่งผลตอบแทนระดับ 10 ดาวตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาคือได้ Morningstar 5 ดาวทั้งกองทุนแม่ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ และกองทุนที่จดทะเบียนในประเทศไทย แถมยังคุมความเสี่ยงได้ดีคือขาดทุนน้อยกว่ากองอื่นเวลาตลาดผันผวนด้วย 

วันนี้ผมจะพาไปเจาะลึกกองทุนนี้กับ Fund Manager Talk ตอน กองทุน Principal APDI กองทุน Top Pick ในใจ FundTalk สำหรับการลงทุนปี 2020 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ FINNOMENA Review ที่จะมารีวิวการลงทุนที่น่าสนใจในเชิงลึกให้เป็นความรู้สำหรับนักลงทุนบ้านเราเรื่อย ๆ ครับ

Fund Manager Talk ตอน กองทุน Principal APDI กองทุน Top Pick สำหรับการลงทุนปี 2020
รูปที่ 1: กราฟเทคนิครายสัปดาห์ของดัชนี้หุ้น MSCI Asia Pacific ex Japan มีสัญญาบวกของการ Break Flag Pattern ข้อมูล ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่มา: Bloomberg

การเกิดใหม่ของคอลัมน์ “คุยกับผู้จัดการกองทุน (Fund Manager Talk)”

ก่อนอื่นอยากเล่าให้ฟังครับ ผมเริ่มเขียนบทความด้านการลงทุนครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน (สมัยนั้นยังไม่มี Blog กับ Facebook เลย) และคอลัมน์ที่ผมตั้งชื่อก็คือ “คุยกับผู้จัดการกองทุน”

จากนั้นก็เริ่มมาเขียน Blog ชื่อ fundmanagertalk.com เขียนไปเขียนมาก็ชวนคนอื่นมาเขียนด้วยหลายคน หนึ่งในนั้นก็คือ Mr.Messenger หรือคุณแบงค์นั่นเอง สมัยนั้นแกประจำอยู่ห้องสินธรในพันทิพย์

จนวันที่ก่อตั้ง FINNOMENA ทั้งผมและคุณแบงค์เนื่องจากเป็นคนชอบเขียน ก็เลยรู้จักกับนักเขียนด้วยกันหลายคนก็เลยชวนกันมาเขียนที่ FINNOMENA

ระยะหลังนี้ก็เลยมาเขียนบทความหลัก ๆ ลงที่ FINNOMENA ส่วนบล็อคเดิมก็ไม่ค่อยได้อับเดตบ่อยนัก วันนี้เลยขอแจ้งเกิดคอลัมน์ “คุยกับผู้จัดการกองทุน (Fund Manager Talk)” ใหม่อีกครั้ง

โดยจะเป็นการรีวิวการลงทุนแบบเชิงลึก ถ้ารีวิวกองทุน ก็จะขอไปสัมภาษณ์กับผู้จัดการกองทุนที่ดูแลกองนั้นโดยตรง ถ้าเป็นการรีวิวหุ้นก็จะขอไปสัมภาษณ์ผู้บริหารแบบเจาะลึก โดยคอลัมน์นี้จะเขียนแบบที่อยากเขียน คือลงลึกไปไม่มีที่สิ้นสุด

Fund Manager Talk เหมาะสำหรับฮาร์ดคอร์ที่ชอบอ่านข้อมูลแบบลึก ๆ และการร้อยเรียงจะมีความเป็น Visit Note เหมือนเวลาผู้จัดการกองทุนไป Company Visit บริษัท แล้วทำการเขียนสรุปออกมาแชร์ความรู้กับทีมงาน แต่สำหรับนักลงทุนมือใหม่ผมว่าก็น่าลองนะครับ รับรองมีประโยชน์แน่นอน

นอกจากนั้นจะใส่การวิเคราะห์ของผู้เขียนลงไปด้วย โดยผมจะแยกในบทความให้เห็นชัดระหว่างความเห็นของผู้สัมภาษณ์ และผู้ถูกสัมภาษณ์

พร้อมแล้วไปเริ่มกันเลย กับ FMT EP#1 Principal APDI – กองทุน Top Pick สำหรับการลงทุนปี 2020

Fund Manager Talk ตอน กองทุน Principal APDI กองทุน Top Pick สำหรับการลงทุนปี 2020
รูปที่ 2: ผลตอบแทนกองทุนแม่ Principal APDI ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2562 ที่มา: Principal Asset Management

ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

Principal APDI คือกองทุน 10 ดาว มาพร้อมผลตอบแทนย้อนหลังที่ไม่ธรรมดา

Principal APDI มี Universe การลงทุนคือหุ้น และ REITs ในภูมิภาค Asia Pacific ex Japan โดยลงทุนในกองทุนแม่ชื่อ CIMB-Principal Asia Pacific Dynamic Income

หลาย ๆ กองทุนหุ้นเอเชียบ้านเราจะมี Universe เป็น Asia ex Japan อันประกอบไปด้วย 11 ประเทศ คือ จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย อินเดีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน สิงคโปร์ ไทย และไต้หวัน แต่กองนี้เป็น Asia Pacific ex Japan จึงเพิ่มประเทศ Australia และ New Zealand เข้าไปใน Universe การลงทุนด้วย ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Market) ที่ตลาดผันผวนน้อย และมีอัตราปันผลที่สูง

เป้าหมาย Absolute return 8% ต่อปี คือผู้จัดการกองทุนไม่ได้เน้นบริหารสู้กับดัชนีหุ้นเป็นหลักเหมือนกองทุนอื่นๆ แต่มีเป้าหมายหลักคือการสร้างผลตอบแทนย้อนหลังสะสมให้ได้เฉลี่ย 8% ต่อปี

ดังนั้นถ้าผู้จัดการกองทุนมองตลาดขาลงก็จะโยกเงินไปที่สินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำลงมาหน่อย (Defensive Play) เช่น หุ้นออสเตรเลีย หรือ REITs ได้เต็มรูปแบบ รวมถึงการถือเงินสดให้มากขึ้น

ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าทำได้จริงโดยผลตอบแทนรวมของกองทุนนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนแม่ในปี 2554 (2011) อยู่ที่ 168% ขณะที่ Absolute Return Benchmark อยู่ที่ 92%  (ข้อมูล ณ 31 ตุลาคม 2562)

แปลง่าย ๆ คือถ้าลงทุนกองทุนนี้ 100,000 บาทนับแต่วันตั้งกองทุน เงินลงทุนจะโตเป็นเป็น 268,000 บาท ในเวลา 8 ปี เกือบ 3 เด้ง! และถ้าสังเกตดูดีๆ ก็จะพบว่ากองทุนสามารถเอาชนะดัชนีชี้วัดได้ทุกช่วงเวลา

*** แนะนำลงทุน 3-5 ปีขึ้นไป

ผู้ลงทุนต้องเข้าใจก่อนว่า กองทุนไม่ได้การันตี 8% ทุกปี แต่ต้องลงทุนนานๆ เพื่อให้ผลตอบแทนสะสมไปเรื่อยๆ จึงเหมาะกับผู้ที่สนใจจะลงทุนแบบระยะยาว

มีมุมเท่ของกองทุนนี้จากการได้ไปสัมภาษณ์กับพี่วิน CIO บลจ.พรินซิเพิล คือกองทุนนี้นั้นกองแม่ก็ได้ Morningstar ดาว 5 ดวง เมื่อเทียบกับกองทุนหุ้นเอเชียในมาเลเซีย ขณะที่ในประเทศไทยก็ได้ 5 ดาวเมื่อเทียบกับกองในไทย เลยขอยกให้ Principal APDI เป็นกองทุนหุ้น 10 ดาวไปเลย

กองทุนแม่มีขนาดประมาณพันล้านเหรียญ ถือว่าขนาดกำลังดี ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป

กองทุนไทยใช้ดัชนีอ้างอิงเป็นดัชนีหุ้น MSCI Asia Pac ex Japan ไม่ได้เป็น 8% absolute return เหมือนกองแม่ ตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต. บ้านเราซึ่งกำหนดว่าถ้าเป็นกองทุนรวมหุ้นก็ต้องใช้ดัชนีชี้วัดเป็นดัชนีหุ้น

Fund Manager Talk ตอน กองทุน Principal APDI กองทุน Top Pick สำหรับการลงทุนปี 2020
รูปที่ 3: ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีย้อนหลังของกองทุน Principal APDI ไทย ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2562 ที่มา: Principal Asset Management

ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

ที่ผ่านมาผลงานทั้งระยะสั้นและระยะยาวกองทุนสามารถชนะได้ทั้ง 8% Absolute return benchmark และดัชนีหุ้น Asia Pac ex Japan ซึ่งจัดว่ามีฝีมือมากที่ชนะได้ทั้ง 2 benchmark ปกติแค่ benchmark เดียวสำหรับชีวิตผู้จัดการกองทุนก็ยากมากแล้วเพราะยังมีค่าธรรมเนียมกองทุนที่ต้องทำผลตอบแทนให้ cover ด้วย

การจะบริหารกองทุนที่มี Benchmark แบบ Absolute return ได้นั้นต้องมี universe ที่กว้างพอ ดังนั้นถ้า Universe การลงทุนแคบเกินไปเช่น SET Index อย่างเดียวนั้นผู้จัดการกองทุนจะไม่สามารถบริหารกองทุนสไตล์ Bottom-up ที่มี benchmark แบบ Absolute return ได้

พูดถึงผลตอบแทนไปแล้ว ลองมาดูมุมอื่นๆ อย่างความเสี่ยงบ้าง จาก 3D Diagram ของ FINNOMENA จะเห็นได้ว่ามีขนาดใหญ่ สิ่งนี้บ่งบอกถึงสถิติที่ดีทุกด้าน ทั้ง ผลการดำเนินงานย้อนหลัง (past performance), ผลตอบแทนปรับด้วยความเสี่ยง (risk-adjusted return) และ จุดขาดทุนสูงสุด (max drawdown) ซึ่งแปลได้ความว่ากองทุนนี้นอกจากจะมีผลงานที่ดีแล้ว ยังขาดทุนน้อยกว่ากองทุนหุ้นเอเชียอื่นในยามตลาดขาลง ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก บอกเลยว่าสามเหลี่ยมที่ไปสุดทุกด้านแบบนี้ไม่ได้พบเจอกันบ่อยๆ ส่วนใหญ่ก็จะมีไปสุดได้แค่ 2 ใน 3 เท่านั้น

Fund Manager Talk ตอน กองทุน Principal APDI กองทุน Top Pick สำหรับการลงทุนปี 2020
รูปที่ 4: 3D Diagram ของ Principal APDI ข้อมูล ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่มา: FINNOMENA

อย่างไรก็ดี เนื่องจากกองทุนนี้ลงทุนเฉพาะเจาะจงในภูมิภาคเดียว จึงมีความเสี่ยงเฉพาะภูมิภาคที่นักลงทุนต้องจับตามอง ผู้ลงทุนจึงควรศึกษารายละเอียดและจังหวะช่วงเวลาการลงทุนให้ดี

สไตล์การลงทุนที่เป็นเอกลักษณ์ของ APDI

เริ่มที่คำว่า 1. DYNAMIC

DYNAMIC คือ สามารถปรับเปลี่ยนการลงทุนไปยังประเทศที่สนใจได้ตลอดเวลา และสามารถซื้อขายและทำกำไรได้ตลอดเวลา เมื่อผู้จัดการกองทุนรู้สึกพอใจในผลตอบแทนที่ตัวเองได้รับ ซึ่งตอบโจทย์จุดมุ่งหมายเพื่อ Absolute Return พอดี

เน้น 2. ALPHA

การจะทำผลตอบแทน Absolute Return ให้สำเร็จผู้จัดการกองทุนต้องมีเป้าหมายที่จะลงทุนให้ชนะ Benchmark ไปด้วยในตัวหรือการสร้าง Alpha ให้ได้มากที่สุด ซึ่ง Alpha ก็คือผลตอบแทนส่วนที่เกินมาจากดัชนีมาตรฐานนั่นเอง

โดยปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญจากการที่ Principal มีทีมงาน on-the-ground โดยพยายามเน้นให้เป็นผู้จัดการกองทุน และนักวิเคราะห์ที่เป็นคนท้องถิ่นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก เพื่อนำข้อมูลมาร่วมวิเคราะห์กันในระดับภูมิภาค

ไร้ขีดจำกัด 3. UNCONSTRAINED

เวลาเลือกหุ้นแต่ละตัวไม่ได้สนใจดัชนี “ปลดล็อคตัวเองจาก Index” แต่เวลาจะลงทุนทุกครั้งหวังว่าหุ้นแต่ละตัวต้องมีผลตอบแทนจากการลงทุน 15% ขึ้นไป

เช่น ใน benchmark มี ALIBABA อยู่เยอะมากแต่ถ้าผู้จัดการกองทุนไม่ชอบ ALIBABA ก็สามารถ Zero Weight หุ้น ALIBABA ได้เลย ซึ่งโดยปกติกองทุนที่บริหารแบบเพื่อให้ชนะดัชนีอ้างอิง หรือที่เรียกว่า Relative Return Fund จะไม่ค่อยทำแบบนี้เพราะกลัวผลตอบแทนจะหลุดจาก Benchmark มากเกินไป

และสุดท้ายที่ผู้เขียนชอบมาก ๆ คือ 4. BARBELL

BARBELL คือการจับคู่หุ้นปันผล + หุ้นเติบโต เอามาคู่กันให้สมดุลความเสี่ยง และสร้างผลตอบแทนที่ดีในเวลาเดียวกัน

Fund Manager Talk ตอน กองทุน Principal APDI กองทุน Top Pick สำหรับการลงทุนปี 2020

ตัวอย่างการทำ Barbell ที่น่าสนใจ HDFC Bank จากอินเดีย ทำบาร์เบลคู่กับ Westpac Bank จากออสเตรเลีย

ประเทศอินเดียนั้นถือได้ว่ามีอัตราการเติบโตของ GDP สูง เฉลี่ย 7-8% ต่อปี สิ่งที่ตามมาคือประชาชนที่เริ่มเข้าถึงธนาคารได้มากขึ้น มีศักยภาพในการกู้เงินมากขึ้น HDFC เป็นธนาคารภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย Loan growth เกือบ 20% ต่อปี มีลูกค้า 50 ล้านคน และกำลังขยายสาขาประมาณปีละ 600 สาขา

Westpac เป็นธนาคารออสเตรเลีย เป็นธนาคารเก่าแก่อายุเกือบ 200 ปี แม้ธุรกิจจะอิ่มตัวตามอัตราการเติบโตของ GDP ที่เฉลี่ย 2% ต่อปี แต่ธุรกิจมี Dividend yield กว่า 6% (มากกว่าอัตราปันผลของ REITs ในประเทศออสเตรเลียเสียอีก)

การทำ Barbell จึงทำให้พอร์ตได้รับผลตอบแทน 2 ทาง คือผลตอบแทนในรูปของ Capital gain จากหุ้นเติบโต และผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลจากหุ้นปันผล ซึ่งกลยุทธ์ลักษณะนี้ช่วยเรื่องการบริหารความเสี่ยงไปในตัว

พอร์ตปัจจุบันมี Dividend Yield 3% ซึ่งจัดว่าไม่น้อยเลย

FMV - วิธีการเลือกหุ้นสไตล์ Bottom-up ในแบบฉบับของ Principal

FMV ย่อมาจาก Fundamental, Valuation, Momentum

2 ตัวแรกคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ส่วน Momentum คือการดูปัจจัยเรื่อง fund flow ปัจจัยเชิงคุณภาพ และความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นแต่ละตัว

อีกหลักสำคัญของ Principal คือเวลาซื้อหุ้นให้ดู Downside เสมอ ถ้ามันลง แล้วมันลงได้มากแค่ไหน อย่าหลงรักหุ้น เพราะหุ้นไม่เคยปราณีใคร จะเชื่อมั่นแค่ไหนก็อย่าทุ่มสุดตัว อย่าลงน้ำหนักมากเกินไป

Fund Manager Talk ตอน กองทุน Principal APDI กองทุน Top Pick สำหรับการลงทุนปี 2020
รูปที่ 5: รายชื่อหุ้น Top Holdings ในพอร์ตกองแม่ Principal APDI ข้อมูล ณ วันที่: 31 ตุลาคม 2562 ที่มา: Principal Asset Management

นโยบายกองทุนคือลงทุนหุ้นได้ไม่เกิน 10% ต่อตัว แต่ปัจจุบันตัว Top holdings ปัจจุบันลงทุนสูงสุดคือประมาณ 5% และมีการลงทุนในหุ้นประมาณ 50 ตัวเพื่อให้ไม่กระจุกตัวมากเกินไป กันความเสี่ยงเวลาเกิด downside จากหุ้นแต่ละตัว

หากสนใจลงทุนใน Principal APDI พร้อมกองทุนเอเชียกองอื่นๆ สามารถสร้างแผนเพื่อเปิดบัญชีลงทุนได้ที่
https://www.finnomena.com/bic-asia-ex-jap/

ธีมการลงทุนของหุ้นรายตัวในพอร์ต

จากการสัมภาษณ์พี่วิน พบว่าทีมผู้จัดการลงทุนชอบ Mega Trend ด้านเทคโนโลยี โดยพระเอกคือ Tencent เจ้าของ WeChat และ QQ ซึ่งมีจำนวน Active user เกือบ 2 พันล้านคน 

มีการลงทุนใน SAMSUNG ซึ่งวันนี้ไม่ได้เป็นเพียงมือถือแต่ยังถือครอง Market Share การผลิต Memory เกินกว่า 50% ในตลาดโลก ซึ่งทุกวันนี้ Memory เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยใน Internet of Things (IoT) และ Cloud computing

Fund Manager Talk ตอน กองทุน Principal APDI กองทุน Top Pick สำหรับการลงทุนปี 2020
รูปที่ 6: Ecosystem ของ Tencent ที่มี Active user เกือบ 2 พันล้านคน ที่มา: Seeking Alpha

กองทุนมีการถือครอง Ascendas REITs เป็น Logistics REITs ที่จดทะเบียนในประเทศสิงค์โปร์เน้น Logistics Warehouse ซึ่งเติบโตตามเทรนด์ของ eCommerce และ Data Center ที่เติบโตตามเทรนด์ของ Cloud Computing

นอกจากนี้กองทุนยังให้น้ำหนักกับหุ้นกลุ่มประกันภัยได้แก่ AIA และ PingAn ซึ่งมีรายได้จาก Mega Trend การเติบโตของอุตสาหกรรมประกันภัย และประกันชีวิตในทวีปเอเชียโดยเฉพาะผู้ทำประกันภัยชาวจีน

นอกจากนี้ก็ยังมีหุ้นที่ลงทุนด้วย Barbell Strategy อย่าง HDFC Bank ของอินเดีย + Westpac Bank ของออสเตรเลียตามที่อธิบายไว้ก่อนหน้า

เรียกได้ว่าเป็นการเลือกหุ้นสไตล์ Bottom-up แบบมีธีมที่อิงตาม Mega Trend ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียที่น่าสนใจมาก ๆ

ทีม Fund Manager ระดับเซียนจากหลากหลายประเทศ

Christopher Leow เป็น CEO & CIO ที่ Principal สิงคโปร์ เป็นผู้จัดการกองทุนหลักของกองทุนนี้ โดย Chris นั้นเป็นผู้จัดการกองทุนที่มีความลึกซึ้งและเชี่ยวชาญเรื่องการเลือกหุ้นสไตล์ Bottom-up ที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปี

นอกจากนี้กองทุน Principal APDI ยังบริหารโดย Senior Fund manager อีก 2 ท่านคือ Serene และ Jeffrey และมีทีมงานที่สิงค์โปร์อีก 24 ชีวิตแบ่งงานตามประเทศที่ลงทุน และกลุ่มอุตสาหกรรมตามความถนัด ความชำนาญของแต่ละคน ดังนั้น ใครที่เชี่ยวชาญ REITs ก็จะเข้าใจทั้ง REITs ไทยหรือสิงคโปร์ สามารถเห็นภาพรวมของสินทรัพย์ได้มากขึ้น

Fund Manager Talk ตอน กองทุน Principal APDI กองทุน Top Pick สำหรับการลงทุนปี 2020
รูปที่ 7: ทีมผู้จัดการกองทุน Principal APDI ข้อมูล ณ วันที่: 31 ตุลาคม 2562 ที่มา: Principal Asset Management

ทีมผู้จัดการกองทุน 4 ประเทศ นั่นคือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมกัน 60+ คน พอไป company visit ก็จะแชร์ FMV Model ให้ทั้งทีมดูโดยมีการให้คะแนนหุ้นบนมาตรวัด 1 – 5 ซึ่งเป็นมาตรวัดเดียวกันทั้งภูมิภาค ก็จะไม่เกิดการลำเอียง ซึ่งส่งผลดีคือทำให้ช่วยหาหุ้นที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียได้ 

ยกตัวอย่างเช่นหุ้นสนามบิน ทีมงานสามารถเปรียบเทียบหุ้นสนามบินทั่วภูมิภาคได้ว่าสนามบินที่ไทย เทียบกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงค์โปร์แล้วน่าสนใจหรือไม่อย่างไรในมุมของ Fundamental, Valuation และ Momentum ทำให้ทีมผู้จัดการกองทุนของแต่ละประเทศกลับมามองที่หุ้นของตัวเองแบบที่เปิดมุมมอง (perspective) ได้มากขึ้น

เกณฑ์ก็คือหากหุ้นได้คะแนนเกิน ⅗ ก็จะพิจารณาให้ลงทุน ถ้าได้ 3 หรือต่ำกว่า 3 หน่อยก็จะแนะนำให้ Hold แต่ถ้าต่ำกว่า 2 ก็แนะนำขาย ทุกคนในทีมจะเขียนรายงานในอีเมล และมีการทำ Conference Call ทุกๆ สัปดาห์

พอร์ตการลงทุนของกองทุนในปัจจุบัน: หุ้นคัดมือ คุณภาพคับแก้ว

Principal APDI ไม่ได้ weight หุ้นจีนเป็นหลักตามดัชนี MSCI Asia Pacific ex Japan เหมือนกองทุน Asia ex Japan ทั่ว ๆ ไป

Fund Manager Talk ตอน กองทุน Principal APDI กองทุน Top Pick สำหรับการลงทุนปี 2020
รูปที่ 8: สัดส่วนการลงทุนรายประเทศของ MSCI Asia Pacific ex Japan ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2561 ที่มา: MSCI

ปัจจุบันกองทุนให้น้ำหนักกระจายในหลายประเทศและมีสัดส่วนการลงทุนสูงสุดใน สิงคโปร์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย อินเดีย ไต้หวัน ซึ่งเป็นตัวที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่ากองนี้ไม่ได้อิงน้ำหนักตามดัชนี แต่เน้นที่เป้าหมายการสร้าง Absolute return 8% เป็นหลัก

Fund Manager Talk ตอน กองทุน Principal APDI กองทุน Top Pick สำหรับการลงทุนปี 2020
รูปที่ 9: พอร์ต Principal APDI รายประเทศ และราย Sector ข้อมูล ณ วันที่: 31 ตุลาคม 2562 ที่มา: Principal Asset Management

ปี 2019 ที่ผ่านมา APDI มีการลงทุนใน Singapore REITs เยอะ ซึ่งมาจากมุมมองว่า FED จะ cut ดอกเบี้ยตอนต้นปี เมื่อ FED ทำการลดดอกเบี้ยจริง ๆ จึงทำให้สินทรัพย์ชนิดนี้ทำผลตอบแทนได้ดี

และในช่วงไตรมาส 4 เมื่อกองทุน REITs ราคาปรับเพิ่มขึ้นมามากกองทุนก็ได้ขายทำกำไรไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถูกจังหวะมาก ๆ

ทำไม Principal APDI จึงน่าลงทุนสำหรับปี 2563

งานนี้พี่วินขอไล่ตาม FMV Model ที่เป็นเครื่องมือหลักของทีม Principal เลยครับ

FUNDAMENTAL

เศรษฐกิจโลกปี 2020 โต 3.4% US 2.1% EM 4.6% ทางทีม Principal มองว่าเศรษฐกิจปีหน้ามีแนวโน้ม Asynchronize คือเศรษฐกิจ EM เริ่มฟื้นแต่เศรษฐกิจ DM โตต่ำกว่า

Fund Manager Talk ตอน กองทุน Principal APDI กองทุน Top Pick สำหรับการลงทุนปี 2020
รูปที่ 10: มุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจจาก IMF ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2562 ที่มา: Principal Asset Management

พี่วินมองว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขึ้นมาหลายปีแล้ว แต่ในปีหน้าเศรษฐกิจเอเชียโตดีขึ้นขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ โตแย่ลง ทางทีมจึงมองว่ามีโอกาสที่จะเกิดการ rotation มาที่หุ้นภูมิภาคเอเชีย บวกกับอีกปัจจัยสนับสนุนคือนโยบายการเงินของเอเชียที่มีแนวโน้มผ่อนคลาย

การเติบโตของกำไรของ Asia Pac ex Japan ในปี 2020 อยู่ที่ 12% ซึ่งจัดว่าน่าสนใจ

MOMENTUM

ปัจจุบันผู้จัดการกองทุนทั่วโลกมีสถานะ Underweight หุ้นเอเชีย ถ้าพื้นฐานของเอเชียมีการฟื้นตัวจริงอย่างที่คาด น่าจะเกิดการ upgrade มุมมองการลงทุนของหุ้นในภูมิภาคนี้จะทำให้มีโอกาสที่จะมี fund flow เข้ามาอีกเยอะเนื่องจากสถานะปัจจุบันเป็น underweight อยู่

“ที่ผ่านมาผู้จัดการกองทุนเกาะรถไฟหุ้นอเมริกา และตอนนี้มีโอกาสที่ดีที่จะมีการ rotate เข้ามาลงทุนในหุ้นเอเชียมากขึ้น”

VALUATION

MSCI Asia ex Japan มี Forward P/E ปี 2020 อยู่ที่ 12.6 เท่า ขณะที่สหรัฐฯ อยู่ที่ 17.3 เท่า และไทย 15X

Fund Manager Talk ตอน กองทุน Principal APDI กองทุน Top Pick สำหรับการลงทุนปี 2020
รูปที่ 11: ภาพการวิเคราะห์ความถูกแพงโดยใช้ P/E + P/BV Composite Index ข้อมูล ณ วันที่: 30 กันยายน 2562 ที่มา: Principal Global Investors

ที่ Principal ยังมีทีม Asset Allcation ซึ่งมีการวิเคราะห์เชิงลึกโดยการทำ Composite P/E + P/B ย้อนหลัง 15 ปีเพื่อดูว่ามีโอกาสกี่ % ที่ราคาวันนี้มีโอกาสถูกกว่าราคาในวันนี้ นั่นหมายความว่าตัวเลขออกมา % ต่ำคือถูก และ % สูงคือแพงนั่นเอง ซึ่งปัจจุบัน Asia ex Japan = 44% จัดว่าถูกกว่าอเมริกาซึ่งอยู่ที่ 85% ส่วนไทยเห็นแล้วน่าตกใจเพราะสูงถึง 91% (แปลว่าปู่เซตแพงงง)

Fund Manager Talk ตอน กองทุน Principal APDI กองทุน Top Pick สำหรับการลงทุนปี 2020

บทแถมท้าย

ลงลึกเรื่องการบริหารความเสี่ยง FX ของกองทุน Principal APDI

กองทุนไทยลงทุนในกองแม่ USD Share Class ซึ่งใช้แนวทางบริหารค่าเงินแบบ Dynamic Hedge โดยผู้จัดการกองทุนทำการ hedge ไว้ 85-90% อยู่แล้ว เพื่อทำให้ผลตอบแทนมีความใกล้เคียงกองแม่มากที่สุด บวกกับปีนี้โชคดี เพราะทิศทางเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเอเชีย

…ถ้าปีนี้ไม่ปิดความเสี่ยงค่าเงินกองทุนจะได้รับผลกระทบประมาณกว่า 6%!

หากมองให้ลึกกว่านั้นการบริหารความเสี่ยงค่าเงินของกองนี้มีความลึกซึ้งไม่น้อยเลย เนื่องจากกองทุนแม่เป็นสกุล USD ส่วนกองทุนลงทุนในหุ้นเอเชียเท่ากับว่าเป็นการแลกเงินจาก THB -> USD -> Asian Currency

ถ้าเลือกปิดความเสี่ยง USD/THB

ขณะที่กองทุนไทยปิดความเสี่ยงได้เฉพาะ USD/THB ซึ่งถ้าปิดความเสี่ยงค่าเงิน USD/THB ก็เท่ากับว่าเปิดความเสี่ยง USD/Asian Currency

  • หากค่าเงิน USD แข็งเมื่อเทียบ Asian Currency = กองทุนที่ไทยจะมี FX Loss

  • หากค่าเงิน USD อ่อนเมื่อเทียบ Asian Currency = กองทุนไทยจะมี FX Gain

ส่วนถ้าค่าเงินบาทแข็งหรืออ่อนเมื่อเทียบ USD กองทุนจะไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากปิดความเสี่ยง USD/THB ไว้แล้ว นั่นเท่ากับกับว่า

ถ้าเลือกไม่ปิดความเสี่ยง USD/THB

ถ้า Fund Manager ที่เมืองไทยเลือกเปิดความเสี่ยงค่าเงิน = เปิดความเสี่ยง THB/Asian Currency ซึ่งโดยปกติเป็นสิ่งที่ควรทำเนื่องจากค่าเงินบาทโดยปกติจะแข็งอ่อนไปตามค่าเงินภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเค้าเรียกว่า Natural Hedge (จะมีช่วงปีสองปีนี้ที่บาทแข็งค่ามากผิดปกติ)

  • ถ้าค่าเงินบาทแข็งเมื่อเทียบ Asian Currency = กองทุนที่ไทยจะมี FX Loss

  • ถ้าค่าเงินบาทอ่อนเมื่อเทียบ Asian Currency = กองทุนที่ไทยมี FX Gain

  • ถ้าค่าเงินบาทแข็งหรืออ่อนเมื่อเทียบกับ USD -> ไม่เกี่ยวเพราะ USD สกุลเงินทางผ่านเท่านั้นแต่กองทุนไปลงทุนในหุ้นสกุลเงินเอเชีย

ในปีนี้ค่าเงินบาทเป็นสกุลเงินที่แข็งที่สุดสกุลหนึ่งของโลก การเลือกปิดเความเสี่ยง USD/THB จึงเป็นการตัดสินใจที่ดี และทำให้กองทุน Principal APDI ในไทยสามารถ perform ได้ดีเมื่อเทียบกับกองทุนแม่ที่เป็น USD

Fund Manager Talk ตอน กองทุน Principal APDI กองทุน Top Pick สำหรับการลงทุนปี 2020

FundTalk รายงาน

อยากลงทุนใน Principal APDI ต้องทำอย่างไร?

สามารถซื้อ PRINCIPAL APDI ผ่านแผนเหล่านี้ :

– ลงทุน PRINCIPAL APDI กองเดียวผ่าน Do It Yourself (DIY) https://www.finnomena.com/nter-space-create/

– ลงทุน PRINCIPAL APDI พร้อมกองทุนเอเชียกองอื่นๆ ผ่าน BIC Asia ex-Japan https://www.finnomena.com/bic-asia-ex-jap/

ดูข้อมูล PRINCIPAL APDI เพิ่มเติมได้ที่ FINNOMENA Fund

คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีต/ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน