ตลาดหุ้นไทยยังไม่ไปไหนสักทีหลังจากที่ทำจุดสูงสุดตลอดกาลใหม่ไปเมื่อต้นปี 2561 ที่ระดับ 1,848 จุด และก็เป็นเวลาเกือบสามปีแล้วที่ SET ดูจะมีทิศทางย่อลงเรื่อย ๆ ทำเอานักลงทุนไทยจำนวนมากอยู่ในภาวะ “ติดหุ้น” ขณะที่ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีกลับทำจุดสูงสุดใหม่ให้เห็นเรื่อย ๆ เกิดมาเป็นคำถามที่มีบ่อยครั้งว่าเราควรจะยอมตัดขาดทุนหุ้นไทยบางส่วนหรือทั้งหมด เพื่อแบ่งเงินไปลงทุนในต่างประเทศหรือไม่ ? ส่วนตัวผมคิดว่าควรต้องยอม อย่างน้อยก็บางส่วน ดัวยเหตุผลตามนี้ครับ
รูป ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทย ณ กันยายน 2563 | ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
ปลอดโควิด แต่เศรษฐกิจพัง
ล่าสุดในเดือนกันยายน 2563 แบงค์ชาติได้ออกมาลดประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทยเหลือเพียง 3.6% ในปีหน้า 2564 จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัว 5% ขณะที่เศรษฐกิจโลกนั้นทาง World Bank คาดว่าจะฟื้นตัวได้ประมาณ 5 – 6%
ขณะที่หลายประเทศอย่างสหรัฐฯ หรือในยุโรป เลือกที่จะไม่ปิดประเทศทำให้อัตราการระบาดของโควิดนั้นลุกลามอย่างมาก แต่เศรษฐกิจกลับเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว และดูเหมือนผู้คนจะเริ่มชินชากับเจ้าโรคระบาดตัวนี้มากขึ้น อย่างในยุโรปนั้น การที่นักฟุตบอลติดเชื้อโควิด เริ่มจะดูเป็นเรื่องปกติขึ้นไปทุกที
กลับมาที่บ้านเรานั้นก็ต้องขอชื่นชมว่าควบคุมการระบาดของโรคได้เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ในขณะเดียวกันกลับกลายเป็นว่าคนไทยตอนนี้รับไม่ได้แล้วที่จะให้มีการเปิดประเทศ เพราะรับไม่ได้ที่จะให้มีการติดเชื้อในบ้านเรา แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือการหายไปของนักท่องเที่ยวสามสิบล้านคน การค้าขาย การทำธุรกิจหยุดชะงัก เพราะคนไม่อยากเข้ามากักตัว 14 วัน
สภาวะแบบนี้ในบ้านเราคงจะเกิดขึ้นไปอีกนาน เพราะการระบาดของโรคก็ยังไม่หมดไป วัคซีนก็ยังไม่สำเร็จ หรือต่อให้สำเร็จก็คงใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะผลิต และแจกจ่ายได้ทั่วโลก ดังนั้นจึงค่อนข้างชัดเจนว่าปีหน้า 2564 จะเป็นปีที่ประเทศไทยฟื้นตัวได้ยากกว่าหลาย ๆ ประเทศ เข้าสู่ภาวะ “ปลอดโควิด แต่เศรษฐกิจพัง”
เมื่อไหร่ SET จะกลับไป 1800
ถ้า SET จะกลับไป 1,800 ได้อย่างน้อยต้องมีสัญญาณว่า EPS ของ SET มีแนวโน้มกลับไปเติบโตต่อเนื่องได้อีกครั้ง
ในช่วงต้นปี 2561 ช่วงที่ SET ทำจุดสูงสุดเดิมไว้นั้น ระดับ EPS 4 ไตรมาสย้อนหลังของ SET อยู่ที่ประมาณ 100 และนักวิเคราะห์คาดว่าสิ้นปี 2561 นั้น EPS ของทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณ 110 ซึ่งตลาดในเวลานั้นให้ระดับ Forward P/E ที่ประมาณ 17 เท่าจึงทำให้ตลาดทำจุดสูงสุดคือ 110 x 17 ซึ่งทะลุระดับ 1,800 จุดได้สำเร็จ
ปรากฏว่า EPS ตลาดหุ้นไทยออกมาจริงที่ 96 ในปี 2561 และ 87 ในปี 2562 และน่าต่ำกว่า 60 ในปี 2563 นี้ ซึ่งเท่ากับว่า ณ วันนี้ที่ระดับดัชนีหุ้นไทยที่ 1,200 จุดต้น ๆ นั้นตลาดเทรดที่ระดับ Forward P/E สูงกว่า 20 เท่า แพงกว่าสมัยที่ดัชนีทะลุ 1,800 เสียอีก
สิ่งสำคัญคืออนาคตข้างหน้า เมื่อดูจาก Bloomberg Consensus ตอนนี้มองว่า EPS ของตลาดหุ้นไทยจะโต 35% ไปที่ 78 ในปี 2564 และจะโตอีก 23% ไปสู่ 95 ในปี 2565 เท่ากับว่าแม้จะอีกสองปีข้างหน้านักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ระดับ EPS ของตลาดหุ้นไทยต่ำกว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้ว (ปี 2561) อยู่เลย
นั่นคือสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้เขียนมองว่า เมื่อ EPS ไม่ไปไหน ตลาดหุ้นจะ New High ก็ยาก และที่สำคัญคือเมื่อดูจากการคาดการณ์เศรษฐกิจของแบงค์ชาติ ภาคการท่องเที่ยว การย้ายฐานการผลิตออกจากไทย และการปิดประเทศที่ดูจะไม่สิ้นสุดง่าย ๆ แล้ว การที่กำไรจะฟื้นได้ 35% และ 23% ที่ตลาดคาดการณ์ก็ยังดูท้าทายเหลือเกินที่จะเป็นไปได้
เราน่าจะเจออีก 1 – 2 ปีที่เหนื่อยต่อไปสำหรับตลาดหุ้น และเศรษฐกิจไทย สำหรับนักลงทุนที่กระจุกเงินลงทุนอยู่ที่หุ้นไทยอย่างเดียวก็ถึงเวลาที่จะหัดกระจายเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศบ้างได้แล้วครับ
FundTalk รายงาน