ถึงเวลาใช้ตำราการลงทุนเล่มใหม่หรือยัง?

ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ และการลงทุน 100 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจถดถอยมักจะมาคู่กับตลาดหุ้นที่ปรับลดลงรุนแรงกินระยะเวลาเฉลี่ยนับปี อย่าง 2 ครั้งล่าสุดก็คือวิกฤตดอทคอมในช่วงปี ค.ศ. 2000 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในช่วงปี 2008 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวิกฤต COVID-19 รอบนี้เหมือนกับเราจะได้เจอประวัติศาสตร์การเงินหน้าใหม่ ที่การปรับฐานกินเวลาเพียงประมาณ 1 เดือนที่ตลาดเข้าสู่ภาวะ Bear Market และหลังจากนั้นตลาดก็ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องทันที อันเป็นผลมาจากการอัดฉีดทางการเงินที่เร็วและแรงที่สุดที่เคยมีมาของ FED

โดย FED ได้ขยายขนาดงบดุลของตัวเองประมาณ 3 ล้านล้านเหรียญในรอบเดือนกว่า ๆ เมื่อเทียบกับขนาด GDP สหรัฐฯ ที่ประมาณ 20 ล้านล้านเหรียญแล้วก็คิดเป็นประมาณ 15% ของ GDP สหรัฐฯ พร้อมกับส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าพร้อมที่จะอัดฉีดเงินเพิ่มอย่างไม่มีลิมิต

ขณะที่กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ก็ไม่น้อยหน้ากันโดยออกมาให้สัมภาษณ์เลยว่าโครงการปล่อยกู้ในภาคเศรษฐกิจจริง 5 แสนล้านเหรียญนั้นยอมรับได้ถ้าเงินปล่อยกู้ดังกล่าวจะกลายเป็นหนี้เสียทั้งจำนวน โดยบอกว่าถ้าเศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาได้แล้วเดี๋ยวการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นก็จะมาชดเชยส่วนตรงนี้ได้เอง

สิ่งที่เกิดขึ้นคือแบงค์ชาติและธนาคารกลางเห็นว่าถ้ายอมให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง (Depression) นั้นเป็นการสูญเสียที่มาก และไม่คุ้มเมื่อเทียบกับการอัดฉีดเงินอย่างไม่ยั้งเพื่อดันไม่ให้เศรษฐกิจถดถอย ประกอบกับการมี QE ซึ่งเป็นนวัตกรรมด้านนโยบายการเงินที่นาย เบน เบอร์นันเก้ อดีตประธาน FED ในยุควิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ได้สร้างไว้

เมื่อวิกฤต COVID-19 เกิดขึ้นเราจึงได้เห็นภาพการทำ QE รวดเดียว 3 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งมีมูลค่าใกล้เคียงกับ QE ทั้ง 3 รอบที่ทำในช่วงปี 2008 – 2013 รวมกันซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดือนกว่า ๆ เท่านั้น โดยในวันแรกที่ FED ออกมาประกาศการทำนโยบายนั้น ตลาดให้ผลตอบรับในเชิงลบ คือไม่เชื่อมั่นในความสามารถของ FED ว่าจะสามารถหยุดยั้งวิกฤตครั้งนี้ได้

แต่หลังจาก FED ดำเนินการปล่อยหมัดชุดออกมาอย่างต่อเนื่องและฉีดเงินเข้าสู่ระบบรวดเดียวนับล้าน ๆ เหรียญ ตลาดตราสารหนี้ที่ปั่นป่วนอย่างรุนแรง (จนกระทบมาที่กองทุนตราสารหนี้ไทยด้วย) ก็เริ่มสงบลง โดยดูได้จาก Spread ส่วนต่างผลตอบแทนของตราสารหนี้เอกชนกับรัฐบาลที่แคบลง หมายถึงนักลงทุนกลัวบริษัทต่าง ๆ จะเจ๊งน้อยลง ท่ามกลางภาวะวิกฤต COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

นิตยสาร The Economist ถึงกับขึ้นหน้าปกในเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมาเลยว่า The Dangerous Gap “Wall Street Vs Main Street” หมายถึงการที่เศรษฐกิจถดถอยลงอย่างหนัก แต่ดัชนีหุ้นกลับไม่ลงตาม ส่งผลให้ Valuation ของตลาดที่มักวัดกันในรูป P/E ปรับขึ้นไปสูงมาก ๆ

ถ้าเราอยู่ที่ตำราการลงทุนเล่มเก่า สิ่งที่เราควรทำคือ “ถือเงินสด” ให้มากไว้ และรอให้ตลาดปรับลงมาอย่างรุนแรงเพื่อเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน ซึ่งล่าสุดวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนระดับโลกดูเหมือนจะเลือกแบบนั้น ดูได้จากการตัดสินใจขายหุ้นธนาคารอย่าง Goldman Sachs และ JPMorgan รวมถึงการขายหุ้นสายการบินที่ถือไว้ทั้งหมดออกมา

ในระยะยาวผมเชื่อว่าหนี้กองยักษ์ที่ FED ก่อไว้น่าจะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่อีกครั้งในวันที่โลกไม่เชื่อมั่นในสกุลเงินดอลลาร์อีกต่อไป แต่ในระยะสั้นดูเหมือนสิ่งนั้นจะยังไม่มาถึง โลกวันนี้ยังอยู่บนพื้นฐานว่าใช้ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินสกุลหลัก และ FED มีความสามารถในการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบได้ต่อเนื่อง รวมไปถึงสามารถเข้าไปซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ เพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุลได้เรื่อย ๆ จึงเป็นไปได้เช่นกันว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจจะไม่มีการปรับฐานใหญ่อีกแล้ว ในวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นรอบนี้ ซึ่งดูเหมือนว่า ณ เวลานี้นักลงทุนในตลาดจะเริ่มเทไปที่ New Investment Playbook หรือตำราการลงทุนเล่มใหม่กันเยอะทีเดียว ซึ่งเราจะได้เห็นคำตอบของเรื่องนี้ไปด้วยกันครับ

FundTalk รายงาน