เป็นโอกาสที่ดีที่ตัวแทนจาก Startup ได้เข้าพบคุณ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ Aoodda รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์วันนี้ ซึ่งพี่ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ หัวหน้าทีมอเวนเจอร์เศรษฐกิจ ปชป. เป็นผู้จัดการประชุม เป็น 150 นาทีของการพูดคุยที่เปิดอกและเข้มข้นมากบนเจตนาเดียวกันคือผลักดันให้ผู้ประกอบการไทย และคนไทยสามารถแข่งขันและเติบโตได้
ความหวังอีกครั้งกับ พรบ.สตาร์ทอัพ
เป็นอีกครั้งที่พรบ.สตาร์ทอัพ ที่ยังไม่คลอดได้มีโอกาสผลักดันอีกครั้งนำทีมโดยพี่ก้อง พณชิต และพี่กระทิง ผู้นำจิตวิญญาณของสตาร์ทอัพบ้านเรา ซึ่งถ้าสำเร็จจะเกิดอานิสงส์เชิงบวกกับสตาร์ทอัพสัญชาติไทยทุกราย ทั้งเรื่อง Convertible note, ESOP, Preferred Share ศึกษารายละเอียดได้ที่ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/777402
เอกราชทางเทคโนโลยี
นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงประเด็นที่สำคัญระดับเศรษฐกิจของประเทศ คือการทุ่มตลาดของเหล่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากหลายประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการไทยถูก disrupt มากขึ้นทุกทีนับตั้งแต่บริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ e-commerce การจองตั๋วเครื่องบิน โรงแรม ไปจนถึงอู่แท็กซี่
คุยกันขนาดว่าในอนาคตคนไทย ผู้ประกอบการไทยจะเป็นยังไงเมื่อบริษัทเทคฯ เหล่านี้เข้ามายึดครองอุตสาหกรรมหลักของประเทศ คุณจุรินทร์บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ complicate มาก และไม่ได้ take action ง่าย ๆ ต้องมองบริบทให้รอบด้าน แต่เข้าใจความจริงตรงกันว่าอันนี้เป็นความท้าทายอย่างมากของประเทศไทย และผู้ประกอบการไทยทั้งรุ่นนี้ และคนรุ่นถัดไป
สนับสนุนมากขึ้น ทำแข่งน้อยลง
ส่วนตัวผมได้เสนอหลักการ “สนับสนุนภาคเอกชนให้มากขึ้น และทำแข่งกับเอกชนให้น้อยลง” ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพ และ SMEs เกิดขึ้นมากมายในบ้านเรา บางนโยบายของภาครัฐนั้นมีเจตนาดี ให้ผลดีกับคนจำนวนนับล้าน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการ “ทำแข่ง” กับสตาร์ทอัพไทย และบางครั้งถึงกับทำให้บริษัทสตาร์ทอัพไทยล้มหายตายจากไปเลยก็มี รวมถึงทำให้นักลงทุนต่างประเทศไม่กล้าเข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพไทย
อดีตนั้นมีไว้ดูเป็นบทเรียน วันนี้ก็ได้มีการแชร์หลาย ๆ เคสที่ภาครัฐฯ ออกนโยบาย แพลตฟอร์ม หรือแคมเปญที่ทำให้สตาร์ทอัพเอกชนถึงกับต้องปิดกิจการไปนับสิบบริษัท ส่วนอนาคตเชื่อว่าเรื่องนี้จะถูกนำมาคิดให้มากขึ้น (วันนี้ออกตัวแทนให้แล้ว เช่นเรื่องกระดานเทรดคริปโต อนาคตภาครัฐไม่ควรทำ เพราะไม่งั้นเอกชนก็จะลำบากหนักอีกแน่ สู้ต่อไปทาเคชิ)
คุณจุรินทร์บอกเรื่องนี้ก็ต้องมองให้รอบด้าน มันก็มีบางเรื่องที่ภาครัฐควรจะเป็นคนทำเช่นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ แต่สิ่งที่ได้คุยกันวันนี้น่าจะทำให้ภาครัฐ นำสตาร์ทอัพมาเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ต้องพิจารณาด้วยว่านโยบายที่ทำเป็นการฆ่าสตาร์ทอัพหรือไม่
การมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน และ Social Enterprise
วันนี้ผมได้ลองเสนอโครงการที่คิดร่วมกับน้อง ๆ ทีม FINNOMENA และได้ปรึกษากับทางทีม LINE ScaleUp ชื่อ “จากแปลงข้าว ถึงชาวกรุง” คือการที่ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เกษตรกร มาทำงานร่วมกันโดยให้องค์กรเพื่อสังคมที่ไม่แสวงหาผลกำไร (Non-profit Social Enterprise) ดี ๆ ซักแห่งนึงเป็นเจ้าภาพ
หลักการคือการทำข้าวถุง ลองดูซัก 1 ล้านถุง เท่ากับ 2 ล้านกิโลกรัม (สองพันตัน) การบรรจุหีบห่อนอกจากธงฟ้า แล้วก็หาเอกชนมาเป็นสปอนเซอร์ (สำคัญคือต้องทำให้แฟร์ ท่านจุรินทร์เตือนไว้) แรงงานลองชักชวนอาสาฯ และน้อง ๆ มหาวิทยาลัยมาช่วยกัน การขนส่งนอกจากไปรษณีย์ แล้วก็ใช้บริษัทเอกชนบ้าง เช่น SKOOTAR Lalamove Kerry LINE MAN ฯลฯ การโอนเงินซื้อก็ไม่ต้องจำกัดที่ e-wallet เฉพาะของรัฐ แต่ให้ผ่าน e-wallet อื่นก็ได้เช่น Deep Pocket, Dolphin, MPay, LINE Pay, True Money, BluePay ฯลฯ
ทั้งหมดทำให้เกิดการมีส่วนร่วม ทำให้คนไทยได้ช่วยเหลือกัน น่าจะเป็นแคมเปญที่ดีที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันและรู้สึกมี ownership ในการทำสิ่งที่ดีร่วมกัน ลดความขัดแย้งกันเป็นอานิสงส์ไปในตัว
นอกจากนี้ก็มีโครงการอื่น ๆ อีกหลายโครงการที่ได้นำเสนอกันในวันนี้ โดยสรุป นับเป็นการพูดคุยที่ตรง ๆ แมน ๆ เปิดอก ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้ และความจริง มีการรับฟังซึ่งกันและกัน และน่าจะมีประโยชน์เกิดขึ้นต่อจากนี้ไม่มากก็น้อย ขอบคุณพี่ปริญญ์ อีกครั้งที่ชวนมาร่วมประชุมครั้งนี้ครับ
FundTalk รายงาน