ประวัติศาสตร์หน้าใหม่เมื่อ FED เปลี่ยนบทบาทจากกรรมการมาเป็นผู้เล่น

เรากำลังอยู่ในประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของเศรษฐกิจ และตลาดทุนโลก ทั้งการเกิดขึ้นของโรคระบาดที่ร้ายแรงต่อทั้งผู้คนและเศรษฐกิจอย่างไม่เคยมีมาก่อนอันทำให้ดัชนีตลาดหุ้นหลักอย่าง S&P500 ปรับตัวลดลงกว่า 35% อย่างรวดเร็วมากด้วยเวลาเพียงหนึ่งเดือน ขณะที่ FED ก็ประกาศแสนยานุภาพ สร้างปรากฏการณ์ Infinite QE คือการอัดฉีดครั้งมโหฬารทำให้ดัชนีปรับตัวขึ้นมาครึ่งทางของที่ลงไปด้วยเวลาเพียงไม่ถึงสามสัปดาห์ ถ้าทางเทคนิคก่อให้เกิดภาวะ Bear Market ที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะถ้านับจากจุดต่ำสุดแล้วดัชนี S&P500 ได้สร้างภาวะ Bull Market คือปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 20% เป็นที่เรียบร้อย

ปัจจัยพื้นฐานได้รับผลกระทบรุนแรง

ล่าสุดบทวิเคราะห์ของทาง JPMorgan ระบุว่าวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ส่งผลกระทบให้ GDP โลกหดตัวถึงกว่า 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้าคิดจาก GDP ของทั้งโลกที่ประมาณ 85 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วก็นับเป็นการหดตัวกว่า 5% เลยทีเดียว

ขณะที่ World Trade Organization ได้แจ้งว่าปริมาณการค้าระหว่างประเทศในปี 2563 นี้จะหดตัวกว่า 30% ซึ่งปัจจุบันปริมาณการค้าโลกอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านล้านดอลลาร์ เท่ากับว่าการค้าโลกจะหดตัวได้ถึง 6 ล้านล้านเหรียญในปีนี้

ทางด้าน International Air Transport Association ได้ออกมาบอกว่าผู้ที่ทำงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน 25 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชียถึงกว่า 10 ล้านคนกำลังจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งหากมองดูตามความเป็นจริง แม้วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้จะผ่านพ้นไป ก็คงใช้เวลาอีกระยะใหญ่ที่จะทำให้ปริมาณการเดินทางระหว่างประเทศกลับมาใกล้เคียงกับระดับปกติอย่างที่ผ่านมา

ล่าสุดนักวิเคราะห์มองว่า GDP ไตรมาส 1 ของเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกอย่างจีนจะหดตัวลง 11% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และหดตัว 6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบหลายปี และมีขนาดของการหดตัวที่เยอะมาก ๆ

เมื่อ FED เปลี่ยนจากกรรมการมาเป็นผู้เล่น

ภายหลังตลาดหุ้นปรับตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรง ขณะที่ตลาดตราสารหนี้เกิดความปั่นป่วนโดยเฉพาะการเทขายตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งระดับ Investment Grade และ Non-investment Grade (Junk) จนทำให้ Junk Bond Spread ปรับตัวขึ้นไปถึงระดับประมาณ 10% ซึ่งเป็นระดับที่สะท้อนว่ากำลังจะมีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นจำนวนมาก

FED ใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ในการเพิ่มขนาดงบดุลถึง 2 ล้านล้านเหรียญ โดยการฉีดสภาพคล่องหลัก ๆ ผ่านตลาดพันธบัตรและตราสารหนี้โดยเข้าซื้อตราสารหนี้แทบทุกประเภท จนทำให้ภาวะการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงินคลี่คลาย ระดับ Junk Bond Spread ปรับตัวลดลงจาก 10% เหลือ 5% และดัชนีหุ้น S&P500 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 20% จากระดับต่ำสุด

ทั้งนี้ล่าสุดเริ่มมีการพูดกันว่า FED อาจมีการขอสภา Congress เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับธนาคารกลางสามารถอัดฉีดเงินเข้าไปในตลาดหุ้นด้วยเหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นเคยทำ ซึ่งตรงนี้เองถ้าเกิดขึ้นจึงจะทำให้ FED สามารถเปลี่ยนตัวเองมาเป็นผู้เล่นและสามารถกำหนดความเป็นไปของตลาดหุ้นได้อย่างแท้จริง ซึ่งผู้เขียนมองว่าโอกาสเกิดขึ้นเป็นไปได้ยาก เพราะการเข้าอัดฉีดในตลาดตราสารหนี้เป็นการพยุงไม่ให้เศรษฐกิจทรุดจากการที่ตลาดเครดิตไม่สามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งระดมทุนให้กับผู้ประกอบการ และผู้บริโภค แต่การเข้าอัดฉีดตลาดหุ้นนั้นเป็นการเอาเงินภาษีของประชาชนไปช่วยบริษัทจดทะเบียน และนักลงทุนที่เป็นผู้มีรายได้สูง ซึ่งน่าจะได้รับเสียงคัดค้านไม่น้อย

เมื่อมองกลับมาที่พื้นฐานของบริษัทจดทะเบียน คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะถูกกระทบอย่างรุนแรงในวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งกำไรที่ลดลงตามหลักย่อมส่งผลกระทบให้ดัชนีราคาหุ้นปรับตัวลดลงตาม แม้สภาพคล่องจะถูกอัดฉีดเข้ามาเป็นจำนวนมากสู่ระบบสถาบันการเงิน ก็ยังเป็นการยากที่เงินเหล่านั้นจะไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นอย่างมากมายในวันที่ปัจจัยพื้นฐานคือกำไรของบริษัทจดทะเบียนได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตามการที่สภาพคล่องมีสูงมากก็จะเป็นตัวช่วยชะลอไม่ให้ตลาดหุ้นลงลึกเกินไป เพราะระดับดอกเบี้ยที่ต่ำใกล้ศูนย์จะทำให้ Yield ของตลาดหุ้นยังดูน่าสนใจ ดังนั้นถ้า FED ไม่ถึงขั้นยิงบาซูก้า QE เข้ามาในตลาดหุ้นโดยตรง เราน่าจะได้เห็นการปรับฐานของตลาดหุ้นต่อไปอันเป็นผลมาจากกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ลดลง แต่การปรับฐานครั้งนี้อาจไม่ลึกมาก และไม่กินระยะเวลานานเหมือนวิกฤตครั้งที่ผ่าน ๆ มาจากการทำ Infinity QE ของ FED และเราจะเห็นการลงทุนประเภท Yield Play และ Defensive เช่นกลุ่ม REITs หรือ Infrastructure Fund ฟื้นตัวเป็นกลุ่มแรก ๆ หลังจากวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ผ่านพ้นไปครับ

FundTalk

TSF2024