คอลัมน์พิเศษ “หยุด คิด เลือก ทำ” วันนี้นำเสนอในตอน “เมื่อความผันผวนบังเกิด” เป็นตอนแรก โดยผู้เขียนใช้ Model “หยุด คิด เลือก ทำ” นี้ในการกำหนดมุมมอง และกลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลก ซึ่งมี 4 ขั้นตอนง่าย ๆ คือ

I “หยุด” เพื่อดู Fact หรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินในช่วงเวลาที่ทำการวิเคราะห์
II “คิด” ใส่มุมมองต่อตลาดเข้าไป กำหนดเลือกใช้ Model ที่คิดว่าเหมาะกับสถานการณ์ตลาด ณ แต่ละช่วงเวลา
III “เลือก” ลองประเมินดูว่าเรามีทางเลือกอะไรบ้าง
IV “ทำ” สรุปสุดท้ายออกมาเป็นคำแนะนำการลงทุน

“หยุด” ดูความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในตลาดการเงิน

1. เริ่มเห็นความผันผวนในตลาดทุนโลกมากที่สุดในรอบหลายปี Dow Jones ลงเกือบ 10% ใน 4 วันทำการแต่หลังจากนั้นก็เริ่มทยอยฟื้นตัวมาบ้างในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ก.พ. 61 ที่ผ่านมา

2. มาดูที่ VIX กันบ้าง ช่วงเดือน ก.พ. นี้มี ณ เวลาหนึ่งปรับตัวขึ้นไปถึง 50 เลยทีเดียว สูงที่สุดในรอบ 3 ปีเลยทีเดียว แต่ล่าสุดเริ่มกลับมาที่ 16.5 แล้ว (ตัว VIX นี้คือดัชนีหลักที่ใช้สะท้อนความผันผวนของตลาดหุ้นโลก ซึ่งมี S&P 500 เป็นดัชนีหลักที่ Market Cap ใหญ่ที่สุด)


3. เงินเฟ้อเริ่มถามหา: ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ตลาดจับตามองเป็นอย่างมากในปีนี้ ล่าสุด ตัวเลข เดือน ม.ค. 18 เริ่มปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และราคาน้ำมัน


4. Yield พันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปีเช่นกัน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาล่าสุดอยู่ที่ 2.87% ขณะที่บันทึกการประชุมของ FED ล่าสุด มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งขึ้น และมองว่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ น่าจะไปถึงเป้าหมาย 2% ได้ในปีนี้


5. กำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 4/2018 ประกาศออกมาอยู่ในเกณฑ์ดี : เส้นสีเหลืองคือประมาณการกำไรขอนักวิเคราะห์ (Earning Forecast) ส่วนเส้นสีขาวคือกำไรที่ประกาศออกมาจริง (Actual Earning) จะเห็นว่าโดยรวมตลาดหลัก ๆ ทั่วโลก มีการปรับเพิ่มประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ สหรัฐฯ ยุโรป และฮ่องกง

“คิด” ใส่มุมมองเข้าไป และเลือกใช้ Model ที่เหมาะสม
สำหรับ Model ขอมองเป็น 3 มุม “FVT” คือ Fundamental (พื้นฐาน) Valuation (มูลค่ายุติธรรม) และ Technical (ปัจจัยเทคนิค) โดยแยกออกมาเป็นปัจจัยง่าย ๆ ดังนี้

(++) ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลกยังขยายตัวในเกณฑ์ดี เช่นเดียวกับ Leading Indicator สำคัญ ๆ เช่น PMI, ISM

(++) เช่นเดียวกับแนวโน้มผลประกอบการกำไร ประกาศงบปี 2017 ออกมา จัดว่าสวย !

(-) เงินเฟ้อ เริ่มน่าเป็นห่วงนิด ๆ โดยเฉพาะเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2561 ของสหรัฐฯ ที่จะประกาศออกมาในช่วงเดือน เมษายน นี้น่าจะถีบตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะฐานต่ำ (low base) อีกส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมัน และโภคภัณฑ์ที่ถีบตัวสูงขึ้น

(-) การประชุม FED วันที่ 21 มีนาคม จะมีการออก dot plotted หรือการคาดการณ์แนวโน้ม FED Fund Rate ของคณะกรรมการนโยบายการเงินออกมาด้วย ซึ่งสถานการณ์ ณ ปัจจุบันดูมีความเป็นไปได้ที่จะมีการ shift ขึ้น จากปัจจุบันมองว่าปี 2018 จะมีการขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งไปที่ 2.00 – 2.25% ในปีนี้ เรื่องนี้ต้องติดตามกันต่อไปว่า Jerome Powell แม่ทัพ FED คนใหม่จะมีท่าทีอย่างไร

Image result for dot plot fed(-) นับจากกลางปีนี้เป็นต้นไป จะเป็นครั้งแรกที่โดยรวมแล้ว FED / ECB / BOJ / BOE จะดูดสภาพคล่องออกจากระบบการเงินโลก คือตรงกันข้ามกับ QE นั่นเอง (อ่านมุมมองการลงทุนปี 2018 ของเราได้ ที่นี่)

(-) ความผันผวนของตลาดได้เริ่มบังเกิดขึ้นแล้ว ต้องเริ่มระวังไว้บ้าง

(-) Valuation ตลาดหุ้นโลกโดยรวมชั่วโมงนี้จัดว่า “ค่อนข้างแพง” และการที่ Yield พันธบัตรเพิ่มขึ้นก็เป็นตัวกดดัน Valuation เช่นกัน

(+) Technical โดยรวมนั่งไล่ดูกราฟยังจัดว่าเป็นแนวโน้มขาขึ้น โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่รอบนี้จัดว่า STRONG คือลงน้อยกว่าสหรัฐฯ พอสมควรทีเดียว

(+) ราคาโภคภัณฑ์โดยรวม โดยเฉพาะน้ำมัน และโลหะ ยังเป็นขาขึ้นชัดเจน ส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มวัฏจักรต่อไป

สรุป มีปัจจัยบวก และลบปะปนกัน และมีเรื่องที่ต้องติดตามใกล้ชิดในช่วงนี้คือ Leading Indicator, เงินเฟ้อ, และความผันผวนของตลาดเองว่าจะมีอย่างต่อเนื่องหรือไม่

 

“เลือก” บนสถานการณ์ตอนนี้เรามีทางเลือกอะไรบ้าง

1. เพิ่มหุ้นเข้าไปอีก : คือมองว่าเป็นจังหวะที่ตลาดปรับฐานลงมา และเป็นโอกาสเข้าซื้อ โดยถ้าจะเป็นชาวสวนแล้วก็เลือกตลาดที่มันลงมาเยอะ ๆ อย่าง S&P 500, NASDAQ

2. อยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไร : ถือข้ามความผันผวนรอบนี้ไปเลย มองว่าเป็นความผันผวนช่วงสั้นไป

3. ลดสินทรัพย์เสี่ยงลงมาบ้าง : คือเมื่อดูจากข้อเท็จจริง + มุมมองแล้ว เริ่มมีปัจจัยลบมาผสมผสานกับปัจจัยบวก ดังนั้นควรลดความเสี่ยงพอร์ตลงมาบ้าง

4. ล้างพอร์ตไปเลย : อาจจะกำไรมาเยอะแล้ว และมองว่า Valuation โดยรวมของตลาดก็แพงมาซักระยะแล้ว ดังนั้นถอยดีกว่า


“ทำ” สรุปแล้วแนะนำจัดพอร์ตในสถานการณ์ “ความผันผวนบังเกิด” นี้อย่างไร

ส่วนตัวผมเลือกทางเลือกที่ 3 ครับ คือลดความเสี่ยงลงมาบ้าง เพราะมีปัจจัยความไม่แน่นอน โดยเฉพาะเรื่อง FED และเงินเฟ้อ นอนรออยู่ใน 1 – 2 เดือนข้างหน้า

ในส่วนของหุ้นนั้นยัง ชอบ Emerging Market มากที่สุดเหมือนเดิม โดยเฉพาะ เกาหลีใต้ บราซิล จีน A Share ส่วนหุ้นเทคจีนแม้แพงไปหน่อยแต่มีไว้บ้างก็ดี ในส่วน Developed Market ก็ ยังชอบม้า Laggard อย่างยุโรป ต่อไป เชื่อว่าถ้าการเลือกตั้งอิตาลีผ่านพ้นไปด้วยดียุโรปน่าจะวิ่งได้แรงกว่า US & Jap ที่วิ่งล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

สำหรับสินทรัพย์พวก REIT / Property Fund / Infra Fund นั้นแนะนำ Underweight ถ้าจะมีติดพอร์ตไว้บ้างมีได้ แต่อย่ามีเยอะ เพราะในยามที่ดอกเบี้ยพันธบัตรขึ้นแบบนี้ ตราสารประเภท Yield Play พวกนี้จะจุก ๆ นิดนึง

เช่นเดียวกับตราสารหนี้ระยะยาวของไทย โดยเฉพาะของเทศคือพวก กองทุน Global Bond นั้นผมแนะนำ Underweight เช่นกัน เพราะปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อ และการประชุม FED ที่กล่าวมาข้างต้น รวมไปถึงมุมมองว่าเงินจะเริ่มย้ายจากตลาดตราสารหนี้ไปที่ตลาดหุ้นอย่างชัดเจนขึ้นในปีนี้ ถ้ามีในพอร์ตรวมมาก ๆ เช่นมากกว่า 25% ของ Total Wealth แนะนำให้ลดพอร์ตลงมาบ้าง แต่ถ้ามีไม่มากแนะนำให้ถือต่อไป เพราะนับว่าเป็นส่วนผสมสำคัญในการจัดพอร์ตเช่นกันครับ ในส่วนของตราสารหนี้ไทยแนะนำกองที่ Duration < 1 ปีไว้ก่อนครับ ณ จุดนี้

ทองคำ ยังแนะนำให้มีในพอร์ตต่อไป โดยทองคำค่อนข้างจะเป็นมิตรกับภาวะที่โลกมีเงินเฟ้อ มีไว้ hedge พอร์ตซัก 5 – 15% ผมว่าเป็นความคิดที่ไม่เลวเลยครับ

ขอให้ทุกท่านมี “สติ” ในการตัดสินใจ และประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ
FundTalk รายงาน

 

—————————-
Verified by
Jessada Sookdhis, CFA
Fundamental Investment Analyst on Capital Market # 019559


คำเตือน
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ผู้เขียนบทความนี้มิได้รับค่าตอบแทนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด
ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้