
สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ที่นักลงทุนทั่วโลกจับตามองอย่างใกล้ชิดอย่าง “เงินเฟ้อญี่ปุ่นพุ่งทะลุขีด” ที่กลายเป็นระเบิดเวลา และอาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก เราจะพาคุณไปเจาะลึกตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ วิเคราะห์สถานการณ์ และหาคำตอบว่าเรื่องนี้จะส่งผลต่อพอร์ตการลงทุนของคุณอย่างไรบ้าง
1. เงินเฟ้อญี่ปุ่นพุ่งทะลุขีด: ตัวเลขที่ต้องรู้
“ญี่ปุ่น” ประเทศที่เราคุ้นเคยกับนโยบายดอกเบี้ยต่ำมานานแสนนาน แต่ตอนนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว ล่าสุดในเดือนมกราคม 2025 ดัชนี CPI หรือดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่น พุ่งทะยานไปถึง 4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตัวเลขนี้สูงสุดในรอบ 2 ปี และสูงเกินเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ที่ตั้งไว้แค่ 2% ถึงสองเท่า
ถ้าดูตัวเลขลึก ๆ ไปกว่านั้น จะพบว่า Core CPI ที่ตัดอาหารสดออกไป อยู่ที่ 3.2% และ Core Core CPI ที่ตัดทั้งอาหารและพลังงานออกไป ยังสูงถึง 2.5% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมาเกือบ 3 เท่า
แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ตัวเลข GDP ล่าสุดในไตรมาส 4 ปี 2024 ของญี่ปุ่นโตถึง 0.7% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 0.3% ขณะที่ GDP ทั้งปีโตถึง 2.8% มากกว่า Reuter คาดการณ์ไว้ที่ 1%
2. Bond Yield และ Yen Carry Trade: ตัวจุดชนวนระเบิด
แล้วอะไรที่ทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกเริ่มตื่นตระหนก? คำตอบคือ “Bond Yield” อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี หรือ JGB 10-Year Yield พุ่งขึ้นไปเกือบแตะ 1.5% ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี จากเดิมที่เคยต่ำกว่า 0.5% มาเกือบตลอดทศวรรษ
ตัวเลขนี้บอกอะไรเรา? บอกว่านักลงทุนทั่วโลกกำลังคาดการณ์ว่า BOJ อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยจากระดับปัจจุบันที่ 0.25% ในการประชุมวันที่ 18-19 มีนาคม นี้ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งทะลุขีด จากที่เพิ่งปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.25% เป็น 0.50% ในช่วงมกราคมที่ผ่านมา
และนี่คือจุดที่เรื่องนี้มันเริ่มน่ากลัว เพราะเชื่อมโยงไปถึง Yen Carry Trade ซึ่งเป็นกลยุทธ์ยอดนิยมของนักลงทุนทั่วโลกมานาน
Yen Carry Trade คืออะไร? คือการกู้เงินเยนที่ดอกเบี้ยต่ำมาก ๆ เช่น 0.1% หรือต่ำกว่านั้น ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น หุ้นในตลาดสหรัฐฯ ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8-10% ต่อปี หรือพันธบัตรในยุโรปที่ให้ yield 2-3%
แต่ถ้า BOJ ขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นทันที ล่าสุดค่าเงินเยนแข็งค่ามาแล้วจาก 158 เยนต่อดอลลาร์ เมื่อปลายปี 2024 มาอยู่ที่ 149 เยนต่อดอลลาร์ในสัปดาห์นี้ และถ้าหลังจากนี้เงินเยนแข็งต่อไปมาก ๆ (รอบที่แล้วลงมาถึง 140) นักลงทุนที่ทำ Carry Trade จะเจอต้นทุนที่สูงขึ้นมหาศาล จนต้องรีบขายสินทรัพย์ที่ถืออยู่ เพื่อเอาเงินเยนมาคืนหนี้ และนี่คือจุดที่ระเบิดอาจทำงาน
3. ระเบิดลูกนี้จะกระทบตลาดหุ้นโลกยังไงบ้าง?
มาถึงคำถามสำคัญที่ว่า “ถ้าระเบิด Yen Carry Trade ลูกนี้ระเบิดจริง มันจะกระทบอะไรบ้าง?” จากข้อมูลล่าสุด Deutsche Bank & Amundi Research ตลาดประเมินว่านักลงทุนทั่วโลกยังมี position ใน Yen Carry Trade สูงถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่มหาศาล
ถ้าเกิดการ unwind หรือการเทขายเพื่อชำระหนี้ครั้งใหญ่ ตลาดหุ้นโลกจะเจอแรงขายมหาศาลทันที ดูได้จากในสิงหาคม 2024 ที่ผ่านมา ตอนนั้น BOJ ขึ้นดอกเบี้ยจาก -0.1% ไปเป็น 0.1% ค่าเงินเยนแข็งค่าเกือบ 10% ใน 2 สัปดาห์ และดัชนี Nikkei 225 ของญี่ปุ่นร่วงไป 12% ในวันเดียว ส่วน S&P 500 ในสหรัฐฯ ก็ดิ่งลงมา 6% จากจุดสูงสุด
ครั้งนี้ถ้าเงินเฟ้อ 4% และ Bond Yield 1.5% บีบให้ BOJ ขึ้นดอกเบี้ยอีก อาจเห็นภาพคล้ายกันหรือรุนแรงกว่านั้น เพราะ position ใน Carry Trade ยังสูงอยู่ และตลาดหุ้นโลกในตอนนี้ก็อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เช่น S&P 500 ที่แตะ 6,000 จุด และ Nasdaq ที่เพิ่งทะลุ 20,000 จุด ถ้ามีแรงขายเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว การปรับฐาน 10-15% อาจเกิดขึ้นได้
4. ความน่าจะเป็น ระเบิดจะแตกจริงไหม?
แล้วโอกาสที่ระเบิดลูกนี้จะแตกมีแค่ไหน? ผมมองว่า มีโอกาสสูงมาก ถึง 50-70% เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งเกินเป้า Bond Yield ที่สูงขึ้น และกระแสในตลาดที่เริ่มพูดถึง Yen Carry Trade กันหนาหูในสัปดาห์นี้ ล้วนแต่เป็นสัญญาณที่ชัดเจน
แต่ BOJ อาจลังเลได้เหมือนกัน เพราะ GDP โตแค่ 0.8% แปลว่าเศรษฐกิจยังเปราะบาง ถ้าขึ้นดอกเบี้ยแรงเกินไปอาจกระทบการฟื้นตัว แต่ถ้าปล่อยเงินเฟ้อไว้แบบนี้ ระเบิดลูกนี้ก็อาจระเบิดเองได้ ไม่ว่าทางไหน นี่คือเรื่องที่นักลงทุนต้องจับตาแบบไม่คลาดสายตา
คำแนะนำการลงทุน
แล้วนักลงทุนอย่างเราควรทำยังไงดีในสถานการณ์แบบนี้? ผมมีคำแนะนำ 4 ข้อมาฝากครับ
1. ติดตามการประชุม BOJ วันที่ 18-19 มีนาคมนี้ให้ดี
ถ้ามีสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยจาก 0.25% เป็น 0.5% หรือมากกว่านั้น ตลาดอาจผันผวนหนัก เตรียมแผนรับมือไว้เลยครับ
2. ระวังสินทรัพย์เสี่ยงที่อาจเจอแรงขายหนัก
- หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ เช่น Apple, Tesla, หรือดัชนี Nasdaq เพราะกลุ่มนี้แพงมากและอ่อนไหวต่อการเทขายจาก Carry Trade
- หุ้นญี่ปุ่น ในดัชนี Nikkei 225 ที่อาจเจอแรงกดดันจากค่าเงินเยนที่แข็งค่า
- หุ้นตลาดเกิดใหม่ เช่น ในอินเดียหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เงินทุนอาจไหลออก
3. เพิ่มน้ำหนักสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยง
- ทองคำ ตอนนี้ราคาอยู่ที่ประมาณ 2,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เป็นตัวเลือกที่ดีถ้าตลาดผันผวน
- พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่ให้ yield ราว 4.2% ช่วยล็อกผลตอบแทนและลดความเสี่ยง
- เงินสด หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อรอจังหวะเข้าซื้อถ้าตลาดปรับฐาน
4. กระจายความเสี่ยงในพอร์ต
ลดน้ำหนักหุ้นลงจาก 70% เหลือ 50-60% แล้วเพิ่มสินทรัพย์ปลอดภัยให้มากขึ้น เพื่อป้องกันพอร์ตจากแรงกระแทกที่อาจมาแบบไม่ทันตั้งตัว
สรุป
เงินเฟ้อญี่ปุ่นที่พุ่งทะลุ 4%, Bond Yield 10 ปี ที่แตะ 1.5%, และ Yen Carry Trade ที่อาจ unwind ครั้งใหญ่ กำลังเป็นระเบิดเวลาที่อาจเขย่าตลาดหุ้นโลกได้ทุกเมื่อ เหมือนที่เราเห็นในสิงหาคม 2024 แต่ไม่ต้องตื่นตระหนกไป สิ่งสำคัญคือเราต้องเตรียมตัวให้ดี ติดตามสถานการณ์ให้ทัน และปรับพอร์ตให้พร้อมรับทุกโอกาสและความท้าทาย
FundTalk – The Contrarian