เห็นขึ้นชื่อบทความมาอย่างนี้ไม่ใช่การลงทุนโดยใช้ กระเบื้อง Mosaic (โมเสก) นะครับ คำว่า Mosaic ที่นำมาใช้ในที่นี้นั้นหมายถึง Mosaic Theory ซึ่งเป็นแนวทางที่ผมเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนหุ้นแบบ วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานได้มากทีเดียวครับ
Mosaic Theory (อ่านว่า โม-เซ-อิค) คือการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานบริษัท โดยเริ่มจากการ Brain Storm คือการรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นงบการเงิน, 56-1, Opportunity Day, Company Visit รวมไปถึงการใช้ Google และการอ่านเวบบอร์ดต่าง ๆ ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่เราสนใจ โดยนำข้อมูลทั้งหมดมารวบรวมและวิเคราะห์/สังเคราะห์หา “คุณค่า” ของบริษัท (จะว่าแนวทางนี้เป็นแนวทางแบบ Value Investor ชนิดหนึ่งผมก็ไม่ปฏิเสธครับ)
ข้อมูลที่เรารวบรวมมาได้นั้นหลัก ๆ มี 4 รูปแบบ คือ
1. Non-Material, Non-Public Information หมายถึงข้อมูลที่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญต่อบริษัท และยังไม่ใช่ข้อมูลสาธารณะ ข้อมูลลักษณะนี้แม้จะไม่ได้มีความสำคัญในตัวมันเอง แต่ในหลายกรณีสามารถนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอื่น ๆ หรือนำไปวิเคราะห์จนค้นพบความสำคัญที่แฝงอยู่ภายในได้
2. Non-Material, Pubilc Information หมายถึงข้อมูลที่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญต่อบริษัท และเป็นข้อมูลสาธารณะทั่วไป ซึ่งผมคิดว่าเราไม่ควรละเลยข้อมูลชนิดนี้เช่นกันเพราะแม้จะไม่ได้มีสาระสำคัญ แต่หากนำไปวิเคราะห์รวมกับข้อมูลชนิดอื่น ๆ อาจนำไปสู่ความเป็นไปได้ในการเติบโตของบริษัทอย่างที่เราคาดไม่ถึง
3. Material, Public Information ข้อนี้สำคัญที่สุดในแนวทางลงทุนหุ้นแบบ Mosaic นั่นคือการใช้ข้อมูลสาธารณะที่มีสาระสำคัญต่อบริษัท ข้อมูลลักษณะนี้มีอยู่มากมายในหลาย ๆ แหล่งข้อมูล แต่บ่อยครั้งที่เราละเลยความสำคัญของข้อมูลลักษณะนี้ ทั้งที่นำไปสู่การเติบโตของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นเอง ที่หลายครั้งไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลเหล่านี้ก็มี เห็นได้จากหลายครั้งที่มีข่าวดี หรือข่าวร้ายที่ “Material” ต่อผลกำไรของบริษัท แต่กว่าราคาหุ้นจะกลั่นกรองรับข่าวนั้นบางทีก็ใช้เวลานานก็มี
4. Material, Non-Public Information ข้อสุดท้ายนี้ต้องระมัดระวังครับเพราะข้อมูลที่มีสาระสำคัญ แต่ยังไม่รับทราบกันโดยสาธารณะ นั่นหมายถึง “ข้อมูลภายใน” หรือ “Inside Information” นั่นเอง ซึ่งกฎหมายได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ห้ามนำข้อมูล” ลักษณะนี้มาใช้ในการเลือกลงทุน หลายกรณีในต่างประเทศถึงกับติดคุกจากการผิดกฎหมายข้อนี้ก็เคยเกิดขึ้นมากมาย ตัวอย่างของข้อมูลชนิดนี้ เช่น การจ่ายเงินปันผลที่ยังไม่เปิดเผย, หรือข่าววงในเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ
แนวทางลงทุนหุ้นแบบ Mosaic คือ การนำเอาข้อมูลในข้อ 1. – 3. มากวิเคราะห์ร่วมกัน บางครั้งอาจใช้เทคนิคแบบ Mind Mapping และต้องใช้หลักตรรกะความคิดเข้าร่วมด้วย (รูปข้างบนเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการวาด Mind Mapping ครับ) ซึ่งตรงจุดนี้ประสบการณ์ของผู้วิเคราะห์จะมีบทบาทค่อนข้างมาก ส่วนตัวผมจะให้ความสำคัญกับปัจจัย Qualitative (การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ) มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ และแผนธุรกิจของทีมงาน ว่าจะนำพาบริษัทไปในทิศทางใด รวมไปถึงTrack Record ของทีมผู้บริหารว่าที่ผ่านมาสามารถทำได้อย่างที่พูดไว้หรือไม่มีหลายบริษัท ที่ผู้บริหารเก่ง เคยนำพาบริษัทมาไกลมาก แต่เริ่มหมด passion ในการลุยต่อก็มีซึ่งอาจเป็นด้วยอายุ หรือรู้สึกหมดความท้าทายไปแล้ว อันนี้ต้องระวังเพราะจะทำให้บริษัทเข้าสู่ Maturing Stage คือโตเรื่อย ๆ ในอัตราช้า ๆ
นอกจากนี้คือการทำ ความเข้าใจโครงสร้างของการประกอบธุรกิจแต่ละประเภท ว่ามีอัตรากำไรอย่างไร ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเยอะหรือไม่ ยิ่งใช้ทุนเยอะย่อมหมายถึง ROE ที่น้อยลง วิเคราะห์ธรรมชาติของธุรกิจว่ามีความเสี่ยงต่อการขาดทุนอย่างไร โดยเมื่อเราเข้าใจโครงสร้างของธุรกิจแล้วชอบ ค้นพบว่ามีทีมงานบริหารที่เก่ง และมีไฟที่จะนำพาองค์กรไปข้างหน้า สุดท้่ายก็เข้าไปดูปัจจัยเชิงปริมาณต่อ ซึ่งผมชอบบริษัทที่มีหนี้สินต่อทุนไม่มากนัก เผื่อว่าจะกู้มาขยายธุรกิจได้ในอนาคตโดยไม่ต้องเพิ่มทุน ถ้าได้เป็นบริษัท Net Cash Company ได้ยิ่งดี และต้องเป็นบริษัทที่เราวิเคราะห์แล้วเชื่อว่าจะมีการเติบโตของกำไรที่ดี อย่างต่อเนื่องใน 2-3 ปีข้างหน้า รวมถึงการเข้าใจ “จุดเป็น/จุดตาย” ของบริษัทว่าปัจจัยอะไรที่จะมีผลบวกและลบอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต การมีเจ้าภาพหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บางครั้งก็สำคัญเช่นกัน เพราะในบางกรณีมีแต่ผู้ถือหุ้นรายย่อย ๆ การสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นก็จะไม่เห็นมากนัก
เมื่อ เจอบริษัทที่ใช่จากการใช้ทั้ง Mosaic Theory ประกอบกับการวิเคราะห์เชิงปริมาณและคุณภาพแล้ว สุดท้ายก็มาดู Valuation ครับ ถ้า Discount ได้ยิ่งมากก็ยิ่งดีครับ เพราะนั่นหมายถึง Upside Potential ในการลงทุนของคุณ ถ้าหากถามว่ายังมีอยู่อีกเหรอ บริษัทดี ๆ ที่ยังมีส่วนลดจากตลาด ผมเชื่อว่าแม้จำนวนจะลดลงเรื่อย ๆ แต่ก็ยังมีอีกมากครับ
“ยิ่งทำการบ้านเยอะ ก็ยิ่งรู้มากกว่า และยิ่งได้เปรียบแน่นอนครับ…”
เจษฎา สุขทิศ, CFA