ในหลายบทความที่ผ่านมา ผมได้เล่าถึงการทำ Asset Allocation ซึ่งหมายถึงการจัดพอร์ตการลงทุนให้มีการกระจายไปในหลายประเภทของสินทรัพย์โดยจัดพอร์ตโดยรวมให้มีระดับความเสี่ยง และอัตราผลตอบแทนคาดหวังที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละคน [อ่านเพิ่มเพิมได้ที่ http://fundmanagertalk.com/category/investment/asset-allocation/ ]
สำหรับวันนี้ผมขอนำเสนอกลยุทธ์การทำ “Sector Rotation” ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนการถือครองสินทรัพย์หลัก [Core Asset]ให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงของวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งผมได้ศึกษาแนวทางนี้มาจากกลยุทธ์การลงทุนของ PIMCO ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพของทีมงานบริหารและกลยุทธ์การลงทุน จนได้รับความไว้ใจจากนักลงทุนทั่วโลก โดย PIMCO นั้นเป็นผู้บริหารกองทุนรวมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ชื่อว่า “PIMCO Total Return Bond Fund” มีขนาดใหญ่ถึงกว่า 7 ล้านล้านบาท ซึ่งผมจะนำมาเล่าในโอกาสถัดไปครับ
สำหรับการวิเคราะห์การทำ Sector Rotation ในวันนี้ สินทรัพย์หลักที่จะนำมาวิเคราะห์แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้
1. Treasuries หมายถึง พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
2. Investment Grade Corporates หมายถึง ตราสารหนี้ภาคเอกชนระดับ BBB- ขึ้นไป
3. Emerging Market Debt หมายถึง ตราสารหนี้ที่ออกโดยประเทศกลุ่ม Emerging Market เช่น บราซิล, จีน
4. High Yield Bonds หมายถึงตราสารหนี้เอกชนระดับต่ำกว่า BBB- [Junk Bond]
5. Convertible Bonds หมายถึง หุ้นกู้แปลงสภาพ [ตราสารหนี้ที่มีสิทธิ์แปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ]
6. Equities หมายถึง ตราสารทุน
จากการวิเคราะห์พบว่า วัฏจักรเศรษฐกิจแบ่งเป็น 5 ช่วงเวลาได้แก่
1. Early Expansion หมายถึ งช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มขยายตัว
2. Mid Expansion หมายถึง ช่วงกลางของภาวะเศรษฐกิจขยายตัว
3. Late Expansion หมายถึง ช่วงปลายของภาวะเศรษฐกิจขยายตัว
4. Early Recession หมายถึง ช่วงเริ่มต้นของภาวเศรษฐกิจชะลอตัว
5. Late Recession หมายถึง ช่วงปลายของภาวเศรษฐกิจชะลอตัว
จากการวิเคราะห์พบว่าสินทรัพย์คุณภาพสูงอย่างพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้คุณภาพสูง มักจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วงต้นของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงอย่าง High Yield Bonds, หรือตราสารทุนมักจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วงปลายของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เมื่อเราวิเคราะห์ถึงผลตอบแทนของแต่ละกลุ่มหลักทรัพย์ในช่วง 20 ปีย้อนหลังพบว่า หากเราสามารถคาดการณ์ถึงแนวโน้มของวัฎจักรเศรษฐกิจได้ถูกต้องว่าจะเข้าสู่ช่วงถดถอยในปี 2008 การทำ Sector Rotation โดยการปรับพอร์ตจากการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง High Yield Bonds ไปลงทุนสินทรัพย์คุณภาพเช่น Treasuries หรือ Investment Grade Corporates สามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้ถึงประมาณ 20% เช่นเดียวกันหากเราสามารถวิเคราะห์ได้ถึงการสิ้นสุดช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงปี 2003 และปรับพอร์ตจากการถือ Treasuries ไปถือครอง Emerging Market Debt จะสามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้ถึง 25%
การวิเคราะห์ข้างต้นสามารถสรุปได้ว่าการทำ Sector Rotation จะสามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับพอร์ตการลงทุน ดังนั้นนักลงทุนจึงควรให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค และวัฏจักรเศรษฐกิจ เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนของคุณครับ