imf_jpeg_2

บ่อยครั้งกว่าเราจะรู้ตัวว่าเราอยู่ในวิกฤต ก็เมื่อตลาดได้ปรับตัวลงไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับในการที่จะอ่านตลาด และปรับตัวได้ทันท่วงที หลาย ๆ ครั้งเราจะได้รับทราบเหตุผลภายหลังตลาดปรับลดลงรุนแรงว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร ตัวเลขเศรษฐกิจตัวไหนที่ออกมาแย่กว่าที่คาด การที่จะเราจะประสบความสำเร็จในการลงทุนได้นั้น สิ่งสำคัญคือการมองไปข้างหน้า กำหนดมุมมองต่อปัจจัยสำคัญที่เราคิดว่าจะเข้ามามีผลกระทบต่อตลาดในอนาคต แล้วทำการปรับการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

สำหรับปัจจัยที่ผมมองว่าจะมีผลต่อตลาดในระยะสั้นข้างหน้ายังคงจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจโลก นับตั้งแต่จีนทำการลดค่าเงินหยวน ตัวเลข PMI ที่ออกมาอ่อนแอ ในช่วงต้นเดือนตุลาคม ที่กำลังจะมาถึง ผมคาดว่าประมาณวันที่ 7 – 9 ต.ค. IMF จะถึงรอบของการปรับประมาณการเศรษฐกิจ ซึ่งในรอบที่แล้วเมื่อเดือน ก.ค. IMF มองว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2015 จะเติบโตได้ 3.3% ขณะที่เศรษฐกิจโลกในปี 2016 จะเติบโตได้สูงถึง 3.8%

ตลาดสนใจที่การปรับประมาณการ ไม่ใช่ตัวเลขการเติบโตอย่างเดียว

เวลาได้ยินคนวิเคราะห์ว่า สถานการณ์ตลาดไม่น่าเป็นห่วง เศรษฐกิจโลกปีหน้ายังโตได้ จีนยังโตได้ 6 – 7% สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ก็ยังมีการเติบโตเป็นบวก ดังนั้นตลาดหุ้นยังอยู่ในขาขึ้นต่อ ผมขอบอกเลยว่าผม “ไม่เห็นด้วย” กับวิธีคิดแบบนี้ครับ เพราะแท้จริงแล้วตลาดการเงินไม่ได้ดูที่ตัวเลขการเติบโตตรง ๆ แต่เพียงอย่างเดียว สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการปรับประมาณการ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าต้นเดือนตุลาคม IMF ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกให้มากกว่า 3.8% ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นโลกจะตอบรับในเชิงบวก

แต่มุมมองสำหรับครั้งนี้ก็คือผมมองว่า “IMF จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2016 ลงต่ำกว่า 3.8%” ซึ่งแน่นอนแม้ตัวเลขการเติบโตจะยังเป็นบวก แต่การปรับลดประมาณการจะส่งผลในเชิงลบต่อตลาดหุ้นโลก

ในแถลงการณ์ของ IMF เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้พูดถึงความกังวลต่อประเทศในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ผมมองว่า 3 เดือนผ่านไปสถานการณ์ดูแย่ลงครับ เริ่มตั้งแต่ประเทศจีนที่เศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณโตช้าลงอย่างเห็นได้ชัด หรือประเทศบราซิลที่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ScreenHunter_232 Sep. 24 00.03

 

เมื่อดูจากตารางการ Forecast ของ IMF ผมมองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะจีน บราซีล รวมไปถึงตะวันออกกลางที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ภูมิภาคเอเชียเหนืออย่างเกาหลี ไต้หวันซึ่งตัวเลขการส่งออกหดตัวอย่างรุนแรง และประเทศในกลุ่ม G3 อย่างยุโรป หรือญี่ปุ่นก็อาจถูกลดประมาณการได้เล็กน้อยครับ

ขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นการ “คาดการณ์” ของผม ซึ่งอาจจะถูกหรือผิด แต่ผมก็เลือกที่จะกำหนดมุมมองไปข้างหน้า และทำการปรับพอร์ตในวันนี้ให้ปลอดภัย ลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยความตั้งใจที่จะป้องกันความเสี่ยงในขาลงก่อนที่จะสายเกินไป จึงอยากนำมุมมองนี้มาแชร์ให้ท่านนักลงทุนท่านอื่นได้ใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ ถึงที่สุดแล้วการตัดสินใจอยู่ที่มือของท่านนะครับ อย่าลืมว่าเป็นเงินลงทุนที่เราหามาอย่างไม่ง่าย ดังนั้นควรศึกษาหาข้อมูลเต็มที่เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนของคุณครับ

เจษฎา สุขทิศ, CFA