มูลค่ายุติธรรม (Valuation)
หลาย ๆ ท่านอาจสงสัยว่าค่า P/E ของหุ้นแต่ละตัวควรอยู่ที่เท่าไร หุ้นบางตัวบางเวลาที่ดี ๆ อาจมีอัตรา P/E เพิ่มขึ้นไปได้ถึงกว่า 30 เท่า และหุ้นตัวเดียวกันบางเวลาที่อยู่ในช่วงวิกฤตก็สามารถมี P/E ปรับตัวลงต่ำกว่า 10 เท่าเช่นกัน สมมติว่ามีหุ้นบริษัทหนึ่งมีกำไรต่อหุ้น 1 บาท หากเราคิดที่ช่วง P/E 10 – 30 เท่าก็เท่ากับว่าราคาหุ้นที่เป็นไปได้นั้นอยู่ตั้งแต่ 10 – 30 บาท ซึ่งนับว่าเป็นช่วงที่กว้างมาก แล้วเราควรจะกำหนดเป้าหมายการลงทุนอย่างไรดี บ่อยครั้งที่ค่า P/E จะถูกนำไปใช้เปรียบเทียบกับหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือ P/E ของตลาดหุ้นไทยก็ถูกนำไปเปรียบเทียบกันภูมิภาค ถ้าค่า P/E ต่ำกว่าก็เรียกว่าถูกว่า ถ้า P/E สูงกว่าก็เรียกว่าแพงกว่า แล้ว P/E ของหุ้นที่เราศึกษาควรจะถูกกว่าหรือแพงกว่าหุ้นในกลุ่มเดียวกัน ผมแนะนำให้ใช้ “ปัจจัยพื้นฐาน” และ “ความคาดหวัง” เป็นตัวช่วยกำหนดครับ
ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental)
“ราคาหุ้น ระยะสั้นตามข่าว ระยะยาวตามกำไร” เป็นประโยคหนึ่งที่ผมชอบใช้ในการอธิบายการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น สิ่งหนึ่งที่จะกำหนดว่า P/E ของหุ้นจะถูกหรือจะแพงก็มาจากการเติบโตของกำไร ถ้าบริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรมาก โดยมากค่า P/E ก็จะมีแนวโน้มสูง กลับกันถ้าบริษัทมีแนวโน้มการเติบโตของกำไรต่ำค่า P/E ก้มักจะต่ำเช่นกัน
อย่างไรก็ตามตัวเลขการเติบโตของกำไรไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานหลักเพียงอย่างเดียว “คุณภาพของธุรกิจ” ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ P/E ถูกแพงได้เช่นกัน มีหลายบริษัทที่กำไรเป็นตัวเลขเติบโตไม่ได้สูงมากนักเช่น 10 – 15% แต่กลับมีอัตรา P/E สูงถึง 25 – 30 เท่า ส่วนนึงมาจากการที่นักลงทุนให้ค่ากับ “คุณค่าของธุรกิจ” บริษัทนั้นอาจอยู่ในธุรกิจที่มีแนวโน้มที่ดีในระยะยาว มีตราสินค้าที่แข็งแกร่ง หรืออาจเป็นผู้ชนะในอุตสาหกรรม ดังนั้นการที่ตัวเลขการเติบโตของกำไรบางปีจะต่ำไปบ้าง นักลงทุนก็ยังคงชื่นชอบที่จะถือหุ้นบริษัทคุณภาพดีเหล่านี้
ความคาดหวัง (Expectation)
การปรับเพิ่ม/ลดประมาณการการเติบโตของกำไรโดยนักวิเคราะห์เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อราคาหุ้นเช่นกัน แน่นอนว่าวันที่หลาย ๆ นักวิเคราะห์เข้ามาปรับลดประมาณการในวันเดียวกัน ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในเชิงลบ หากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง บริษัทที่บรรดานักวิเคราะห์แนะนำให้ซื้อทั้งตลาดก็อาจเป็นหุ้นที่มี “ความคาดหวังสูง” โดยนักลงทุน หากผลงานไม่ทำได้อย่างที่คาดก็อาจเกิดการปรับลดประมาณการ หรือเกิด “ความผิดหวัง” ได้เช่นกัน
ในทางกลับกันหากเราเจอบริษัทที่นักวิเคราะห์แนะนำ “ขาย” หรือ “ถือ” เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่เรามั่นใจว่า “ปัจจัยพื้นฐาน” ดีและมี “มูลค่ายุติธรรม” ที่ไม่แพง การลงทุนในบริษัทที่ “ความคาดหวังต่ำ” แต่ “พื้นฐานดี” ก็สามารถสร้างกำไรได้อย่างดี โดยเฉพาะในวันที่นักวิเคราะห์ปรับเพิ่มประมาณการกำไร หรือปรับคำแนะนำจาก “ขาย” เป็น “ซื้อ”
ทั้งหมดก็เป็นแนวทางง่าย ๆ ในการวิเคราะห์หุ้นโดยใช้ 3 ปัจจัยที่นำมาเสนอในวันนี้ครับ สุดท้ายก็ขอแนะนำให้ท่านนักลงทุนใช้ทั้ง 3 ปัจจัยร่วมกันในการวิเคราะห์ และประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ