“ลงทุนกองทุนอะไรดี” เป็นคำถามยอดฮิต คำถามหนึ่งที่ผมมักจะได้รับ รวมถึงเป็นประโยคหนึ่งที่นักลงทุนไทยนิยมพิมพ์ลงไปใน Search Engine เพื่อค้นหาทาง Internet ซึ่งวันนี้ผมจะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ครับ

ปีนี้กองทุนของที่ไหนผลตอบแทนดีที่สุด ?

เป็นคำถามที่ผมได้ยินบ่อยมาก แต่ผมคิดว่ามีข้อควรระวังครับ บ่อยครั้งที่เราลงทุนโดยดูผลตอบแทนในอดีตเป็นหลัก เช่น เวลาจะซื้อกองทุน LTF ตอนปลายปี ก็จะดูว่าในปีนั้นกองทุนของที่ไหนให้ผลตอบแทนดีที่สุด แล้วก็เลือกลงทุนกับกองทุนนั้น แต่บ่อยครั้งอีกเช่นกันครับว่าในปีถัดไปที่กองทุนที่เราซื้อไม่ได้ให้ผลตอบ แทนที่ดี หรืออาจจะอยู่ในอันดับล่าง ๆ เลยก็ได้ สาเหตุหนึ่งอาจจะมาจากผลตอบแทนในปีก่อนหน้าที่ดีกว่าปกติ และหุ้นที่กองทุนถืออยู่ราคาปรับเพิ่มไปค่อนข้างมาก และสูงเกินมูลค่าพื้นฐาน ในปีถัดไปผลตอบแทนเลยไม่ได้ออกมาดีนัก ผมแนะนำให้ดูผลตอบแทนในช่วงเวลาที่ยาว เช่น 3 – 5 ปีครับ เพราะการลงทุนในหุ้นควรจะเป็นการลงทุนระยะยาวอย่างน้อย 3 – 5 ปีอยู่แล้ว อีกทั้งหากเป็นการลงทุนในกองทุน LTF ก็เป็นการลงทุนระยะหลายปีเพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี แล้วเราจะมาดูผลตอบแทนกันปีต่อปีเพื่อกำหนดการตัดสินใจทำไมล่ะครับ ผมเสนอให้เปลี่ยนคำถามที่คุณควรสนใจเป็น “ผลตอบแทน 3 – 5 ปี กองทุนไหนดีที่สุด” เพื่อใช้ในการเลือกกองทุนครับ

ช่วงนี้ลงทุนกองทุนประเภทไหนดี ?

เป็นอีกคำถามยอดฮิตเช่นกัน ซึ่งจากการสังเกตพฤติกรรมของนักลงทุนที่ผ่านมา ผมมักจะเห็นการซื้อเข้ามาอย่างคับคั่งหลังจากที่ผลตอบแทนของกองทุนแต่ละประเภทปรับเพิ่มขึ้นมามาก ๆ ยกตัวอย่างเช่น มักจะเห็นคนแห่ซื้อกองทุนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ เมื่อราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นไปมาก ๆ และก็มักจะเห็นคนแห่ซื้อกองทุนตราสารหนี้ประเภทอายุยาว ๆ เมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนปรับเพิ่มขึ้นไปมาก ๆ และบ่อยครั้งเหลือเกินที่ผลที่ออกมาก็คือการ “ติดดอย” ไปตาม ๆ กัน เพราะเป็นการเข้าซื้อที่จังหวะ peak ของตลาด ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวที่เรามักจะชอบทำกันเป็นการ “มองไปข้างหลัง” ว่าที่ผ่านมาสินทรัพย์ประเภทใดให้ผลตอบแทนดี แต่เรามักจะลืมไปว่าเมื่อเราลงทุนนั้น ผลตอบแทนที่เราจะได้รับคือผลตอบแทนในอนาคต ดังนั้นเราจึงควรจะศึกษาอนาคตกันซักนิดครับ เช่น ดูภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตข้างหน้าว่าอยู่ในวัฏจักรใด ถ้าในอนาคตปีข้างหน้าเป็นเศรษฐกิจขาขึ้น ก็จะเหมาะกับหุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ แต่ไม่เหมาะกับตราสารหนี้อายุยาว ๆ กลับกันถ้าในอนาคตปีข้างหน้าเป็นเศรษฐกิจขาลง การลงทุนในตราสารหนี้ที่อายุยาว ๆ ก็เป็นการตัดสินใจที่ดีครับ (ท่านสามารถติดตามเรื่องการวิเคราะห์เศรษฐกิจเพื่อกำหนดกลยุทธการลงทุนที่ เคยตีพิมพ์ในคอลัมน์ คุยกับ “ผู้จัดการกองทุน” ได้ที่ http://feeds.feedburner.com/fundmanagertalk )

การจัดสัดส่วนการลงทุน (Asset Allocation)

สำหรับหลาย ๆ ท่านที่ไม่ได้มีเวลาในการติดตามภาวะเศรษฐกิจ ว่าในแต่ละช่วงเวลาควรปรับเงินลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ใด ผม แนะนำให้ท่านทำการจัดพอร์ตการลงทุนระยะยาวให้เหมาะกับความสามารถในการรับ ความเสี่ยงของท่าน (Asset Allocation) และปล่อยให้เงินลงทุนทำงานระยะยาว ซึ่งดีกว่าการปรับสัดส่วนไปมาตามกระแส หรือปรับสัดส่วนโดยการมองจากอดีตดังที่กล่าวมาข้างต้น สำหรับประเด็นเรื่องการ Asset Allocation จะเป็นประเด็นที่ผมนำเสนอในคราวถัดไปครับ

ผมได้ทำการ update ภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มการลงทุนแบบวันต่อวัน ผ่านทาง twitter ในชื่อ @FundTalk ถ้าสนใจลองติดตามดูนะครับ

เจษฎา สุขทิศ, CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ. อยุธยา จำกัด.

TSF2024