เงิน ตราสารทุน หุ้นสหรัฐฯ

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุม FOMC หรือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งผลการประชุมก็อย่างที่พวกเราทุกคนทราบกันนะครับว่า ที่ประชุมมีมติขึ้น benchmark interest rate อีก 0.25% ขึ้นมาอยู่ที่ 0.75%-1.00% ด้วยมติด้วยคะแนนเสียง 8-1 เสียง

โดยที่ประชุมมีการเปิดเผย Dot Plot และแสดงให้เห็นว่า เฟดยังคงเชื่อว่า จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 2 ครั้งในปีนี้ รวมทั้งปี 2017 คือ ขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 3 ครั้ง และอีก 3 ครั้งในปี 2018 เท่ากับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ตั้งแต่การประชุมเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ก็มอง ผลการประชุม และการให้สัมภาษณ์ของนางเจเน็ต เยลเลนใน Press Conference ครั้งนี้ว่า เฟดมีทีท่าระมัดระวังมากขึ้น (Dovish Tone) โดยตอนหนึ่ง พูดถึงนโยบายการคลังว่า ไม่ได้เป็นปัจจัยในการพิจารณาในการประชุม จนกว่าจะมีนโยบายดังกล่าวออกมาจริงๆถึงจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

yionow6npgรูปที่ 1 : ประมาณการดอกเบี้ยนโยบายของเฟด (Dot Plot) ในวันที่ 14-15 มี.ค. 2560
แหล่งข้อมูล : Bloomberg (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มี.ค. 2017)

ความคิดของนักวิเคราะห์ และนักลงทุนส่วนใหญ่ ณ ตอนนี้ จึงมองย้อนกลับมาว่า ที่ผ่านมา ตลาดคาดหวังสูงเกินไปหรือเปล่าว่า เฟด จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่า 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งสิ่งที่มีอิทธิพลต่อมุมมองนี้ก็คือ การที่นายทรัมป์ อาจมีปัญหาติดขัด หรือมีอุปสรรค ในการปล่อยนโยบายที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจ ทั้งลดภาษี ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการผ่อนคลายกฎหมาย

จนถึงตอนนี้ ก็ผ่านครึ่งทางของ 100 วันแรก ของการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯของนายทรัมป์ อีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนว่า ตลาดมีความคาดหวังต่อนายทรัมป์ลดลงก็คือ จากข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกจาก Bloomberg ที่มีต่อ GDP Growth ในปี 2017 ของประเทศสหรัฐฯ จะพบว่า ตลาดปรับลดมุมมองต่อ GDP Growth ปี 2017 จากเดิม 2.30% เหลือ 2.20% หลังการประชุมเฟด

gdp-usรูปที่ 2 : ประมาณการ GDP 2017 ของสหรัฐฯ (QoQ%)
แหล่งข้อมูล : Bloomberg (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มี.ค. 2017)

ดังนั้น โอกาสการปรับฐานที่อาจจะเกิดขึ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จึงสูงตามไปด้วย และเมื่อวานนี้ ทั้งดัชนี Dow Jones และ S&P500 ก็เริ่มเข้าสู่รอบการปรับฐาน โดยเป็นการปิดตลาดติดลบมากกว่า 1% เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน

แต่การปรับฐานรอบนี้ อาจไม่ได้ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนตามไปด้วยในระยะยาว ซึ่งสาเหตุก็เป็นเพราะ การที่ค่าเงิน USD กลับมาอ่อนค่า พร้อมกับการปรับตัวลดลงของ Bond Yield ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีกระเงินไหลเข้าตลาดหุ้นเกิดใหม่ทันที

จากข้อมูลล่าสุด เราเริ่มเห็นกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นเกิดใหม่ โดยข้อมูลล่าสุดจาก Bloomberg ก็พบ Inflow ไหลเข้าลงทุนใน MSCI Emerging Market Index ETF สัปดาห์ที่ผ่านมาสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2016 ที่ผ่านมาทีเดียว

em-flowรูปที่ 3 : กระแสเงินทุนไหลเข้ากองทุน MSCI Emerging Markets Index ETF รายสัปดาห์
แหล่งข้อมูล : Bloomberg (ตั้งแต่ พ.ค. 2016 – มี.ค. 2017)

พอเข้าไปดู Fund Flow ในรายละเอียดก็พบว่า ประเทศอย่างอินเดีย นับตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มีเงินลงทุนไหลเข้ามากที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. ปี 2015 ทีเดียว เพราะมีปัจจัยอีกเรื่องคือ การเลือกตั้งท้องถิ่นในประเทศที่พรรคจากรัฐบาลได้คะแนนเสียงชนะคู่แข่งขาดลอย

india-flowรูปที่ 4 : กระแสเงินทุนไหลเข้ากองทุน iShares MSCI India ETF รายสัปดาห์
แหล่งข้อมูล : Bloomberg (ตั้งแต่ ม.ค. 2016 – มี.ค. 2017)

อีกประเทศที่มี Fund Flow ไหลเข้าอย่างมีนัยสำคัญก็คือ ตลาดหุ้นมาเลเซีย โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นสัปดาห์ที่มีเงินลงทุนไหลเข้าเยอะที่สุดในรอบ 5 ปีทีเดียว

malaysia-flowรูปที่ 5 : กระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นมาเลเซีย
แหล่งข้อมูล : Bloomberg (ตั้งแต่ ม.ค. – มี.ค. 2017)

จากหลักฐานเรื่อง Fund Flow ไหลเข้านี้ ก็ถือว่าสอดคล้องกับมุมมองของ INFINITI ที่มีมุมมองตั้งแต่ต้นปีว่า มีโอกาสที่เราจะได้เห็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ (EM) กลับมาเอาชนะตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว (DM) รวมถึง เราน่าจะเห็นกระแสเงินไหลออกจากตราสารหนี้ เพราะถึงอย่างไร เฟดก็จะทยอยขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลให้ Bond Yield ค่อยๆปรับตัวสูงขึ้นในระยะยาว และราคาตราสารหนี้ก็จะผันผวนในช่วงเวลาแบบนี้

infinti-outlook

สรุปโดยรวมคือ เหมือน Fund Flow จะชะลอการไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯซักระยะ เพื่อรอดูท่าทีและนโยบายของรัฐบาลนายทรัมป์ และจนกว่าที่เฟดจะเริ่มส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง (น่าจะเป็นครึ่งปีหลัง) ก็เท่ากับตอนนี้ มีโอกาสให้ตลาดหุ้นในแถบตลาดเกิดใหม่มีโอกาสได้วิ่งบ้าง ส่วนจะมาก หรือ น้อยอย่างไร หรือไม่เป็นอย่างที่ผมวิเคราะห์ในวันนี้ ก็คงต้องมาดูที่ปัจจัยอีก 2 ปัจจัยที่มีน้ำหนักไม่แพ้กัน นั่นก็คือ การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลก และการเลือกตั้งครั้งสำคัญในฝรั่งเศส ว่าจะทำให้เกิด FREXIT ได้เหมือนกับ BREXIT ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้วรึเปล่า

แหล่งที่มาข้อมูล : Bloomberg

คำเตือน
• การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
• ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันผลการดำเนินในอนาคต
• การนำเสนอข้อมูลข้างต้น มิใช่การให้คำแนะนำการลงทุน
• การลงทุนใดๆ ต้องเกิดจากการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจลงทุน บนความเสี่ยงที่รับได้ของนักลงทุนเอง
• ทางผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิ์ ไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสียในทุกกรณีที่อาจเกิดขึ้นจากการให้ข้อมูลข้างต้น