จังหวะการลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับนักลงทุนสายเลือกหุ้นรายตัว คือการเข้าซื้อหุ้นดีที่เราหมายปอง ในยามที่ราคาตกลงมามาก ๆ สิ่งสำคัญคือเราควรทำการบ้านหา “หุ้นดี” เอาไว้ก่อนว่าคือตัวไหน จากนั้นก็รอจนถึงวันที่ตลาดแดงฉาน ราคาหุ้นปรับลดลงอย่างรุนแรง และทยอยเข้าลงทุนอย่างเยือกเย็น วันนี้ผมขอแนะนำ 5 ปัจจัยในการเลือกเก็บหุ้นดียามตลาดขาลงกันครับ
1. มั่นใจการเติบโตของกำไร
เป็นหุ้นที่เรามั่นใจว่ากำไรโตแน่ ๆ ใน 1 – 3 ปีข้างหน้า – ถ้าคุณไม่ใช่นักลงทุนสไตล์ขุดหุ้นเชิงลึก ๆ จริง ๆ ใช้ common sense ในการหาหุ้นเติบโตก็ยังพอได้ครับ ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สนามบิน ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารที่คนนิยม ล้วนแต่มีโอกาสสูงที่กำไรจะเติบโตขึ้นจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น และสาขาที่เพิ่มขึ้นใน 1 – 3 ปีข้างหน้า ต่างจากหุ้นบางกลุ่มโดยเฉพาะที่เรียกกันว่าหุ้นวัฏจักร เช่น หุ้นพลังงานที่กำไรไปอิงกับราคาน้ำมัน หุ้นปิโตรเคมี ที่กำไรไปอิงกับ spread ของราคาปิโตรเคมีแต่ละประเภท หรือหุ้นอสังหาฯ ที่กำไรขึ้นอยู่กับยอดขายบ้านและคอนโตเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
2. พื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลง
เมื่อได้หุ้นเติบโตที่ใช่แล้ว พอราคามันลงมามาก ๆ สิ่งสำคัญคือกลับไปดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น พื้นฐานของหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ มีการเปลี่ยนผู้บริหารตัวหลัก ๆ รึเปล่า เกิดเหตุร้ายอะไรกับบริษัทรึเปล่า ง่ายที่สุดคือกด google ค้นหาดูว่าในรอบเดือนรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีอะไรพิเศษเกิดขึ้นกับบริษัทบ้าง ไปหาอ่านบทวิเคราะห์ล่าสุดของโบรกเกอร์ดูด้วย ถ้าดูทั้งหมดแล้วพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแสดงว่าเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนจริง ๆ แต่ถ้าหุ้นมันลงมาเพราะมันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของพื้นฐานในเชิงลบ อันนี้ต้องระวังครับ
3. P/E Ratio ลงมาเกิน 2 SD
มาดูที่ความถูกแพงของหุ้นกันอย่างง่าย ๆ ครับ ตัวอย่างเช่นหุ้น CPN ถ้าใช้โปรแกรม Bisnews ให้เลือกฟังก์ชั่น Regression Channel จากนั้นลากเส้น Regression Line ซึ่งหมายถึงค่าเฉลี่ย P/E ของหุ้น ซึ่งในที่นี้คือ P/E เมื่อเทียบกับกำไรย้อนหลัง 4 ไตรมาส ถ้าหุ้นมีระดับ P/E ต่ำกว่า 2 SD ถือว่าน่าสนใจครับ แสดงว่าวันนี้หุ้นเทรดในระดับ P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตเกิน 2 เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
4. ราคาลงมาเกิน 2 SD
แล้วหุ้นลงเท่าไหร่ถึงเรียกว่าลงมามากพอที่จะเก็บ นอกจากการดู Valuation แล้วในเชิงเทคนิคผมมักใช้ Regression Band ง่าย ๆ คล้าย ๆ กับการดู P/E Band ตามข้อที่แล้วครับ คือเราสร้าง Regression Channel กรอบการ trade ในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา จากนั้นลากกรอบ 2SD ออกมาดู ถ้าราคาหุ้นลงมาเกิน 2 SD หมายถึงหุ้นลงมาเยอะพอสมควรได้ที่แล้วครับ
5. ปัจจัยมหภาค
สุดท้ายก่อนจะเริ่มทยอยสะสมหุ้น ดูภาพ Macro ซักนิดครับ ช่วงนี้มีอะไรผิดปกติรึเปล่า เช่น การขึ้นดอกเบี้ยจะขึ้นแรงหรือไม่ มีปัจจัยการเมือง มีการเลือกตั้งประเทศไหนสำคัญ ๆ หรือไม่ ถ้าปัจจัย Macro ดูมีเรื่องน่ากังวลเยอะ เราควร “ทยอยซื้อ” โดยแบ่งหลายไม้หน่อยครับ แสดงว่าหุ้นดีที่ลงมาน่าจะมาจากเรื่องพวกนี้ล่ะครับ ส่วนถ้าดูปัจจัย Macro แล้วเห็นว่าทางสะดวก ไม่ได้มีประเด็นน่ากังวลมาก ๆ งานนี้แนะนำ “จัดเต็ม” ได้เลยครับ สำหรับท่านนักลงทุนที่ไม่ค่อยมีเวลาศึกษาปัจจัย Macro ผมแนะนำให้ลองติดตาม FINNOMENA LIVE ดูนะครับ สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงเอง ทุกวันพฤหัส 1 ทุ่ม ให้เวลากับมันหน่อยครับ
ทั้งหมดคือ 5 ปัจจัยในการเลือกเก็บหุ้นดียามตลาดขาลง ที่นำมาฝากในวันนี้ สุดท้ายถ้าตลาดมันลงต่อก็ไม่ต้องไปทุกข์ใจครับ จากที่ดูตลาดมาเกือบ 20 ปี ในทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ ขอให้เรารู้จักแท้จริงว่าหุ้นในพอร์ตเราเป็นหุ้นดีจริง ถือหุ้นต่อไป และตั้งหน้าตั้งตาทำงานหาเงินมาเติมพอร์ตดีกว่าครับ
FundTalk รายงาน
หากใครคันไม้คันมือแล้ว สามารถไปเฟ้นหาหุ้นดีได้ที่ FINNOMENA Stock มีทั้งกราฟ มีทั้งงบ 10 ปี 40 ไตรมาสเลยครับ